เรียนรู้การเงิน

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ถอดรหัสยุทธศาสตร์ใหม่ ททท. พลิกโฉมเที่ยวไทยสู่ยุคใหม่ที่ยั่งยืน

อัปเดตวันที่ 16 ก.ค. 2568


ในยุคที่การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คุณฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานและสร้างความแตกต่างที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก


จับชีพจรการท่องเที่ยวไทย ไม่เพียงแค่งาม แต่ต้องแกร่งและยั่งยืน

คุณฐาปนีย์เน้นย้ำถึงความสำคัญของการฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดสำคัญอย่างจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากข่าวลบในโซเชียลมีเดีย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ส่วนตลาดจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังเติบโตได้ดี แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยังต้องเผชิญภัยเงียบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ททท. จึงต้องเร่งวางแผนรับมือด้วยการติดตั้งเครื่องกรองอากาศในที่พักและกระจายตัวนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ที่มีอากาศสะอาด ในส่วนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอนและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นปลายทางที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในสายตานักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกล เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ททท. จึงต้องปรับกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ยังมีความสามารถในการเดินทาง และออกแคมเปญที่ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ


ททท. ได้มุ่งเน้นสองแนวทางหลัก คือกระตุ้นการเดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติผ่านแคมเปญที่เจาะกลุ่มความสนใจพิเศษ เช่น กลุ่ม Pet Lover, LGBTQ+, นักกีฬา และ Digital Nomad พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง ผ่านแนวคิด Ignite Tourism Thailand และ 5 Must Do in Thailand และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมด้วยมาตรฐาน STGs STAR เพื่อส่งเสริมสินค้าท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและยั่งยืน ส่วนในระดับโลกเน้นโปรโมตแคมเปญ “Amazing Thailand: Your Stories Never End” ถ่ายทอดประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ไม่เคยเหมือนเดิม สร้างความทรงจำใหม่ให้นักท่องเที่ยว ทุกครั้งที่กลับมา ในปี 2568 ททท. เตรียมจัดกิจกรรม “Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year” ยกระดับการท่องเที่ยวครบมิติผ่านเส้นทาง Hidden Gem Cities และสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน โดยมุ่งเป้าหมาย 39 ล้านนักท่องเที่ยว และรายได้ 3 ล้านล้านบาท


คุณฐาปนีย์ยังได้เสนอกลยุทธ์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่ลดการใช้พลาสติก แต่ต้องครอบคลุมการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมการเดินทางที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันต้องเร่งปรับตัวด้านดิจิทัล ตอบสนองพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวก พร้อมให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ตอบโจทย์ เทรนด์โลกและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน ควบคู่กับการยกระดับทักษะบุคลากรในอุตสาหกรรมให้สามารถมอบประสบการณ์อันยอดเยี่ยมและเข้าใจนักท่องเที่ยวยุคใหม่ เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยไม่เพียงแค่ “งาม” แต่ยัง “แกร่ง” และ “ยั่งยืน” พร้อมรับมือทุกความเปลี่ยนแปลง บนเวทีโลก


เร่งเครื่องกลยุทธ์ PASS สูตรเร่งโตท่องเที่ยวไทย

ภายใต้แผนปี 2567–2570 ททท. เดินหน้ากลยุทธ์ PASS มุ่งสร้างดีมานด์ควบคู่การเสริมซัพพลาย เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืนและแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยปี 2567 ททท. จับมือสายการบินขยายเส้นทางบินตรงจากเมืองสำคัญทั่วโลก เช่น นิวเดลี โตเกียว ชิคาโก ส่งผลให้มีผู้โดยสารกว่า 337,000 คนเดินทางเข้าไทยผ่านกิจกรรมส่งเสริมการขายกับพันธมิตรทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ขณะเดียวกัน ยังขับเคลื่อน Soft Power ไทยผ่านเทศกาล Thai Festival ใน 14 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย รัสเซีย ฯลฯ มีผู้เข้าร่วมกว่า 110,000 คน


สำหรับ ปี 2568 ททท. มุ่งกระตุ้นตลาดหลัก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย ควบคู่กับกลุ่ม Sub-culture เช่น LGBTQ, Green, Fandom, Health & Wellness ผ่านกิจกรรม Roadshow, Joint Promotion และ Online Campaign พร้อมขยายเที่ยวบินและกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยผ่านแคมเปญ “5 Must Do in Thailand” ด้านซัพพลาย ททท. ยกระดับมาตรฐานความยั่งยืนผ่านโครงการ TAT STAR โดยปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการผ่านเกณฑ์ STG ถึง 907 ราย ครอบคลุมการลดก๊าซเรือนกระจก ความปลอดภัย และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ยังร่วมกับเอกชนจัดกิจกรรมระดับโลก เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ มาราธอนระดับสากล และ Countdown 2024 สร้างรายได้หมุนเวียนกว่า 357,000 ล้านบาท รวมถึงจะขยายผลแนวคิด Responsible Tourism สู่ทุกภาคส่วน โดยร่วมกับ Destination Management Company (DMC) เสนอรายการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม เพื่อกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพ พร้อมสนับสนุนกิจกรรมระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับแบรนด์ “ประเทศไทย” สู่เวทีโลกอย่างสง่างาม


หมัดเด็ดดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผลักดันท่องเที่ยวในประเทศอย่างยั่งยืน

ททท. ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 ที่ 3.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2.32 ล้านล้านบาท จากตลาดต่างประเทศ และ 1.17 ล้านล้านบาท จากตลาดในประเทศ กลยุทธ์หลักเน้นขยายตลาดต่างประเทศและกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยในตลาดต่างประเทศจะใช้กลยุทธ์ระยะใกล้และระยะไกล ในระยะใกล้ เช่น อินเดีย จะเน้นสร้างการรับรู้จังหวัดท่องเที่ยวใหม่ โดยใช้ Influencer Marketing ร่วมกับพันธมิตร เช่น OTA และสายการบิน ในขณะที่กลยุทธ์ระยะไกลจะเน้นเพิ่มวันพักเฉลี่ยจากตลาดสหราชอาณาจักร รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอเมริกา ด้วยแพ็กเกจ Stay Longer, Pay Less และ การโปรโมตท่องเที่ยวสุขภาพในซาอุดิอาระเบีย รวมถึงท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในสหราชอาณาจักร

สำหรับการกระตุ้นการเดินทางใน Low Season ททท. จะร่วมมือกับพันธมิตรส่งเสริมการเดินทางกลุ่ม Revisitor และ Incentive ในอินเดีย มาเลเซีย และไต้หวัน ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และกันยายน-ตุลาคม ส่วนตลาดในประเทศมุ่งกระตุ้นการเดินทางช่วงวันหยุด สุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ผ่านแคมเปญเมืองน่าเที่ยวที่เชื่อมโยงเมืองหลักกับเมืองรอง พร้อมส่งเสริมกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมและสุขภาพ รวมถึงกระตุ้นการเดินทางใน Low Season ด้วยแคมเปญ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” และกิจกรรมพิเศษในแต่ละภาค คาดว่ากลยุทธ์เหล่านี้จะช่วยให้ ททท. รักษาความเป็นผู้นำในตลาดการท่องเที่ยวและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน


เสริมพลัง SME สนับสนุนการตลาดและประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มศักยภาพ


ททท. ตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการ SME เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย โดยช่วยเหลือหลายด้าน เช่น สนับสนุนการตลาดและประชาสัมพันธ์ผ่านแคมเปญต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ SME เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ และขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ ททท. โซเชียลมีเดีย และ แอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ททท. ยังช่วยลดต้นทุนในการทำการตลาดให้กับ SME โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดทำแผนการตลาดออนไลน์และการบริหารจัดการบน Platform ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงส่งเสริมให้ SME เข้าร่วมงาน Trade Show และ Road Show ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสในการเจรจาธุรกิจและสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการจากทั่วโลก ในด้านการพัฒนาและฝึกอบรม ททท. ยังจัดให้มีการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ผ่าน TAT Academy เช่น หลักสูตรการตลาดท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวสู่ความเป็นเลิศ และสร้างทักษะดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อให้ SME สามารถปรับตัวและเติบโตได้ในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ ยังสนับสนุน Start-up โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยจัดโครงการประกวดผู้ประกอบการ Travel Tech Startup และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้เข้าร่วมงานระดับโลก เช่น ITB Berlin 2025 ซึ่งเป็นการ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในกลุ่ม Sport Tourism อย่าง Golfdigg และ Giant Stride ได้แสดงผลงานและขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดต่างประเทศ

ด้วยการสนับสนุนที่ครอบคลุมทั้งด้านการตลาด การฝึกอบรม และการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี ททท. จึงมั่นใจว่าผู้ประกอบการ SME จะสามารถเติบโตและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน


Key to Business Success

  • ปรับกลยุทธ์การตลาดให้ตอบโจทย์กลุ่มเฉพาะ ใช้แคมเปญเจาะลึกกลุ่มความสนใจเฉพาะ เช่น LGBTQ+, Digital Nomad หรือสายมู เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
  • เที่ยวไทยไม่เพียงแค่เดินทาง แต่ต้องสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำและมีความหมายต่อผู้มาเยือน เพื่อจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายมาแล้วต้องกลับมาอีก
  • เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมมาตรฐานการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เช่น โครงการ TAT STAR เพื่อยกระดับคุณภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม
  • ปรับตัวตามเทรนด์ดิจิทัล ตอบสนองต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายและเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบไร้รอยต่อ

ไม่พลาดความรู้ธุรกิจดีๆ Add LINE @KrungthaiSME คลิก


แนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับธุรกิจท่าน