เรียนรู้การเงิน

ตราสารหนี้ คืออะไร? ทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน

อัปเดตวันที่ 23 พ.ย. 2567

ตราสารหนี้ คืออะไร ทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน

การลงทุนมีความเสี่ยง คำเตือนคุ้นหูที่เรามักพบได้เมื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การลงทุน เพราะการลงทุนมีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบก็มีความเสี่ยงต่างกัน ยกตัวอย่างการเลือกลงทุนในกองทุนรวม ก็จะมีการระบุหมายเลขความเสี่ยงตามประเภทสินทรัพย์ของกองทุน ตั้งแต่กองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เน้นลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้นในประเทศ ขึ้นไปจนถึงกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก มีความผันผวนของราคา อย่างสินทรัพย์ทางเลือกจำพวกทองคำ หรือน้ำมัน


สำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำ ตราสารหนี้คือคำตอบที่น่าสนใจ เพราะตราสารหนี้มีความเสี่ยงไม่มากแต่มีโอกาสรับผลตอบแทนสม่ำเสมอ เหมาะกับการลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวน


ตราสารหนี้ คืออะไร?

ตราสารหนี้ หรือ Bond คือ สัญญาทางการเงินที่ให้ผู้ลงทุนมีสิทธิ์เป็นเจ้าหนี้ของผู้ออกตราสาร มีลักษณะคล้ายการกู้ยืมเงินโดยผู้ออกตราสาร (ผู้ขาย) จะต้องชำระเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนผลตอบแทนจะมากหรือน้อยมักขึ้นอยู่กับอายุของตราสารหนี้และความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารนั้น


ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับตราสารหนี้

สำหรับผู้ที่เริ่มลงทุนในตราสารหนี้ จำเป็นต้องรู้ว่าหน้าที่ของตราสารหนี้คืออะไร และตราสารหนี้มีประโยชน์อย่างไรต่อการลงทุน ซึ่งสามารถสรุปเกี่ยวกับตราสารหนี้เบื้องต้นได้ดังนี้


ตราสารหนี้คือแหล่งเงินทุน เพราะจัดเป็นเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่ใช้ในภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะออกตราสารหนี้เพื่อนำเงินมาใช้ในกิจการของรัฐบาล เช่น การสร้างสาธารณูปโภค ส่วนภาคเอกชนก็ใช้ตราสารหนี้เพื่อหาทุนในการขยายธุรกิจ ชำระหนี้ หรือการลงทุนเพิ่มเติม

  • ตราสารหนี้คือเครื่องมือบริหารความเสี่ยง เพราะตราสารหนี้มีความเสี่ยงต่ำกว่าสินทรัพย์เพื่อการลงทุนรูปแบบอื่น เช่น หุ้น หรือทองคำ
  • ตราสารหนี้คือตัวชี้วัดเศรษฐกิจ เพราะราคาของตราสารหนี้มีความสัมพันธ์กับภาวะเศรษฐกิจ เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวลง ราคาตราสารหนี้ก็จะสูงขึ้น หรือเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาของตราสารหนี้ก็จะต่ำลง เป็นทิศทางตรงกันข้ามเสมอ หรือแม้ในช่วงเศรษฐกิจดี ราคาตราสารหนี้ก็จะดีตาม เพราะนักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าผู้ออกตราสารหนี้จะมีรายได้เพื่อชำระหนี้ตามกำหนด

ตราสารหนี้ หรือ Bond คือ แหล่งเงินทุนรูปแบบหนึ่ง


ประเภทของผู้ออกตราสารหนี้

ผู้ออกตราสารหนี้มี 2 ประเภท คือ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือ Government Bond คือ สัญญาที่รัฐบาลเป็นผู้ออกเพื่อระดมทุนจากประชาชน มากระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ หรือชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด โดยหน่วยงานที่สามารถออกตราสารหนี้ได้คือ กระทรวงหรือหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวอย่างตราสารหนี้ภาครัฐ ได้แก่ ·

  • พันธบัตรรัฐบาล เป็นตราสารหนี้ระยะยาว มีอายุตั้งแต่ 365 วันขึ้นไป หรือ 1 ปี
  • พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ และกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน
  • พันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อเป็นทางเลือกในการออมและการลงทุนให้กับประชาชน
  • พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ
  • ตั๋วเงินคลัง เป็นตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี

ตราสารหนี้เอกชน หรือ Corporate Bond คือสัญญาที่บริษัทเอกชนออกมาเพื่อกู้ยืมเงินจากนักลงทุน เพื่อนำเงินไปใช้ในการลงทุนหรือการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น การขยายกิจการ หรือซื้อเครื่องจักร และต้องจ่ายดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นคืนตามกำหนดในสัญญา เช่น 3 ปี 5 ปี 7 ปี 10 ปี 20 ปี เป็นต้น ตัวอย่างตราสารหนี้เอกชน ได้แก่

  • ตั๋วแลกเงิน มีลักษณะเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี
  • หุ้นกู้ มีลักษณะเป็นตราสารหนี้ระยะยาว ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

ตราสารหนี้ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ต่างกันอย่างไร?

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตราสารหนี้แต่ละประเภทแตกต่างกันก็คือการแบ่งอายุของตราสารหนี้ ที่มีทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้เข้าใจการลงทุนในตราสารหนี้ จะต้องเข้าใจว่าอายุของตราสารหนี้ทำให้ตราสารหนี้ต่างกันอย่างไร

 กดและเลื่อนเพื่อดูข้อมูลในตาราง

ตราสารหนี้ ตราสารหนี้ระยะสั้น ตราสารหนี้ระยะกลาง ตราสารหนี้ระยะยาว
อายุ
ไม่เกิน 1 ปี
2-10 ปี
10-30 ปี
ผลตอบแทน ต่ำกว่าตราสารหนี้
ประเภทอื่น
สูงกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น สูงกว่าตราสารหนี้ประเภทอื่น
จุดเด่น
และข้อควรรู้
ความเสี่ยงต่ำที่สุด ช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน
ความเสี่ยงต่ำกว่าตราสารหนี้ระยะยาว
ช่วยสร้างวินัยทางการเงินจากการถือครองในระยะยาว
แต่ก็มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

การแบ่งอายุตาสารหนี้ มีแบบใดบ้าง


วิธีการลงทุนในตราสารหนี้

การลงทุนในตราสารหนี้แบ่งได้เป็น 3 วิธี ดังนี้

  1. การลงทุนทางตรงในตลาดแรก มักมีการเสนอขาย 2 รูปแบบ คือ เสนอขายให้แก่นักลงทุนในวงจำกัด ที่เรียกว่า Private Placement หรือ PP เช่น นักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่ ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด และเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง เรียกว่า Public Offering หรือ PO สามารถซื้อได้ที่สถาบันการเงินที่เป็นผู้จัดจำหน่าย หรือช่องทางออนไลน์และแอปพลิเคชันของสถาบันการเงินได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด
  2. การซื้อขายในตลาดรอง เรียกว่า Over the counter หรือ OTC โดยผู้ที่สนใจซื้อขายตราสารหนี้จะต้องติดต่อกับสถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์ที่มีธุรกรรมการค้าตราสารหนี้ ซึ่งข้อมูลการซื้อขายแบบ OTC สามารถดูได้จาก www.thaibma.or.th
  3. การลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ ภายใต้การดูแลของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โดยจะมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เช่น กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หรือกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ซึ่งสามารถลงทุนได้ผ่าน บลจ. และตัวแทนขายหน่วยลงทุน การลงทุนรูปแบบนี้เหมาะสำหรับนักลงทุนรายย่อยที่เริ่มต้นลงทุน

ข้อดีและข้อควรรู้ก่อนลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้

จากคำแนะนำในการลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ข้างต้น ลองมาดูกันสักนิดว่าการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้มีข้อดีอย่างไร

  1. ได้ลงทุนในตราสารหนี้หลายตัว โดยใช้เงินไม่มาก เพราะตราสารหนี้บางตัวต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง แต่ถ้าลงทุนผ่านกองทุนรวมเราสารถลงทุนด้วยเงินหลักร้อยหรือหลักพันได้ และยังกระจายความเสี่ยงลงทุนในตราสารหนี้หลายตัวในกองทุนเดียว
  2. ได้กระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงุทน เพราะกองทุนตราสารหนี้จะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ นักลงทุนจึงเลือกกระจายความเสี่ยงมาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้
  3. ความมั่นคงและผลตอบแทนที่ผันผวนต่ำ เพราะตราสารหนี้ที่ลงทุนจะกำหนดระยะเวลาลงทุนและผลตอบแทนอย่างชัดเจน จึงพอจะคาดเดาผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ก็มีข้อควรรู้ที่สำคัญคือ ความเสี่ยงต่าง ๆ ของตราสารหนี้ ได้แก่

  1. ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย เพราะเมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น ธนาคารกลางมักจะประกาศลดดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ราคาตราสารหนี้เพิ่มขึ้น แต่หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม ราคาตราสารหนี้ก็จะลดลง
  2. ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ หากผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืนได้ตามสัญญา

เลือกตราสารหนี้อย่างไรให้น่าลงทุน/ วิธีเลือกตราสารหนี้คุณภาพ น่าลงทุน

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุนตราสารหนี้ก็คือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้น ๆ ก่อนจะตัดสินใจลงทุนตราสารหนี้แนะนำให้พิจารณา “อันดับความน่าเชื่อถือ” ที่จัดอันดับโดยสถาบันที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย (กลต.) ซึ่งประเทศไทยมีสถาบันจัดอันดับที่ผ่านการรับรอง 2 แห่ง คือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด


อันดับต่อมาคือการพิจารณาอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) ว่าอัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับจากตราสารหนี้นั้นมีผลตอบแทนดีกว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด อย่างดอกเบี้ยเงินฝากหรือไม่ หากมีโอกาสรับผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาด และอันดับความน่าเชื่อถือสูง ถือว่าเป็นตราสารหนี้คุณภาพที่น่าลงทุน


การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้

อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ สามารถแบ่งตราสารหนี้ได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่ม Investment Grade (กลุ่มระดับลงทุน) ตราสารหนี้ในกลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ อยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ โดยระดับที่น่าเชื่อถือที่สุดคือ AAA ไล่ระดับไปถึง BBB- ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มชำระหนี้ได้ในระดับปานกลาง
  2. กลุ่ม Non-Investment Grade (กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน) เป็นกลุ่มที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะแม้ว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงแต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้เช่นกัน โดยระดับความเสี่ยงจะอยู่ที่ BB+ ลงมาถึงระดับ D
  3. กลุ่ม Unrated Bond (ไม่มีการจัดอันดับเครดิต) ตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีความเสี่ยงสูงที่สุด ขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดด้วย ตราสารหนี้กลุ่มนี้มักเสนอขายเฉพาะนักลงทุนสถาบัน หรือบุคคลที่มีสินทรัพย์มากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น

ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อตราสารหนี้

ปัจจัยที่ทำให้ตราสารหนี้มีความผันผวนก็คือการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อ อันเนื่องมาจากการตัวเลขบริโภค และการจ้างงาน รวมถึงความไม่แน่นอนของสภาวะสงครามที่ทำให้เศรษฐกิจระส่ำระสาย โดยเมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ธนาคารกลางทั่วโลกจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะทำให้ราคาตราสารหนี้ต่ำลง เพราะราคาของตราสารหนี้มีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันตัวเลขเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง จึงทำให้บางประเทศปรับอัตราดอกเบี้ยลงตามไปด้วย จึงเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนในตราสารหนี้ให้ได้โอกาสรับผลตอบแทนส่วนเพิ่ม


แม้จะมีความผันผวนและความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ตราสารหนี้ก็ยังถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงและน่าลงทุน ยิ่งเมื่อเรารู้วิธีลงทุนในตราสารหนี้อย่างถูกต้องแล้ว โอกาสรับผลตอบแทนที่ดีก็จะตามมา สำหรับใครที่อยากเริ่มลงทุนในตราสารหนี้ ธนาคารกรุงไทยพร้อมให้เลือกลงทุนได้ตามต้องการ ด้วยบริการ Krungthai Investment ที่รวบรวมหลากหลายบริการ มีให้ครบจบทุกการลงทุนได้แก่ Gold Wallet แพลตฟอร์ม ซื้อขายทองคำออนไลน์, DR และ DRx ลงทุนหุ้นนอกง่าย ๆ เป็นเงินบาท ผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย, Structured Note หุ้นกู้อนุพันธ์กรุงไทย พันธบัตรรัฐบาล และ หุ้นกู้เอกชน อีกทั้งยังสามารถ ลงทุน ซื้อ-ขายพันธบัตรรัฐบาลตลาดรอง ได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเองผ่านแอปฯ เป๋าตัง และบริการ Money Connect ผ่านแอป Krungthai NEXT สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://krungthai.com/th/content/personal/krungthai-investment

ตราสารหนี้ คืออะไร? ทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน | ธนาคารกรุงไทย ตราสารหนี้ หรือ Bond คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร พร้อมบอกทุกรายละเอียดของตราสารหนี้ ให้คุณได้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุนในตราสารหนี้

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง