วิธีตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล เช็กสิทธิจ่ายตรงข้าราชการง่ายๆ
ในปัจจุบันการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐาน สะดวกสบาย เป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่มีระบบสวัสดิการด้านสุขภาพที่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เราในฐานะประชาชนคนไทยยิ่งต้องเอาใจใส่ต่อสิทธิที่เราพึงมีในบทความนี้จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลต่างๆ โดยเน้นไปที่การเช็กสิทธิจ่ายตรงของข้าราชการ ซึ่งเป็นหนึ่งในสวัสดิการสำคัญสำหรับผู้ที่ทำงานในภาครัฐ จะเป็นอย่างไรนั้นไปติดตามได้จากบทความนี้กันเลย
คนไทยตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลอะไรบ้าง
สิทธิรักษาพยาบาล คือ สิทธิ์ขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนได้รับจากรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยคนไทยจะได้รับการสิทธิขั้นพื้นฐานในด้านการสาธารณสุขคุ้มครองและตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลจากรัฐบาล โดยในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 3 ระบบใหญ่ ได้แก่
ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ
โครงการนี้ให้ความคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาลแก่ข้าราชการและสมาชิกในครอบครัว ซึ่งรวมถึงพ่อแม่ตามกฎหมาย คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่เกิน 3 คนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า 20 ปี) ผู้มีสิทธิสามารถรับบริการทางการแพทย์ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐ โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้กำกับดูแลระเบียบปฏิบัติและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
ระบบประกันสังคม
ระบบนี้ให้ความคุ้มครองแก่พนักงานในภาคเอกชนที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างอย่างน้อย 1 คน กองทุนประกันสังคมได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ตนเลือกไว้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้นในบางกรณี
โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
โครงการนี้ครอบคลุมประชาชนไทยที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม หรือสวัสดิการอื่นๆ ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ผู้มีสิทธิสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การวินิจฉัย การรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ตามมาตรฐานที่กำหนดโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สิทธิเบิกจ่ายตรง คืออะไร (เช็กสิทธิจ่ายตรงข้าราชการ)
สิทธิเบิกจ่ายตรง เป็นอีกหนึ่งสวัสดิการสำหรับข้าราชการ นอกเหนือจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยเป็นทางเลือกในการเบิกค่ารักษาพยาบาลแบบไม่บังคับระบบนี้ช่วยให้ผู้มีสิทธิและครอบครัว ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาล่วงหน้า หรือ ขอเอกสารรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด
โดยมีกรมบัญชีกลางเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่สถานพยาบาลโดยตรง โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการจัดการข้อมูลผู้มีสิทธิ ครอบครัว การรักษาและการจ่ายเงิน ครอบคลุมทั้งบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ข้าราชการผู้ประสงค์ที่จะใช้บริการนี้จำเป็นต้องลงทะเบียนข้อมูลของตนเองและครอบครัวในฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐให้ครบถ้วนก่อนล่วงหน้าใช้สิทธิ 15-20 วัน เมื่อลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยก็จะสามารถใช้บริการได้ทั้งในกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเบิกจ่ายตรง
ผู้ป่วยนอกไม่ต้องทดรองจ่ายเงินไปก่อน
เมื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยซึ่งมีสิทธิเบิกจ่ายตรงไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้า ยกเว้นในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายส่วนเกินสิทธิที่กำหนด ซึ่งผู้มีสิทธิจะต้องรับผิดชอบในส่วนนั้นเอง
ผู้ป่วยในไม่ต้องมีหนังสือรับรองการมีสิทธิ (หนังสือส่งตัว) จากต้นสังกัดไปยื่นให้สถานพยาบาลก่อนเข้ารับการรักษา
กรณีผู้ป่วยใน ผู้มีสิทธิ ไม่จำเป็น ต้องขอหนังสือรับรองการมีสิทธิ หรือที่เรียกว่า "หนังสือส่งตัว" จากหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อนำไปยื่นให้กับสถานพยาบาลก่อนเข้ารับการรักษา เมื่อไม่ต้องขอหนังสือส่งตัวทำให้ผู้มีสิทธิประหยัดเวลาและลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉินที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน
สิทธิจ่ายตรงเบิกค่ายาได้ไหม
สิทธิจ่ายตรงสามารถเบิกค่ายาได้ โดยครอบคลุมค่ายาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่แพทย์สั่งจ่ายตามความจำเป็น โดยยาที่จะเบิกได้นั้นต้อง
1. มีคุณสมบัติในการรักษาโรค
2. ไม่ใช่เพื่อการเสริมสวย ไม่ป้องกัน
3. อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ กรณียานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ถ้าจำเป็นต้องใช้ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ให้ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นผู้วินิจฉัยและออกใบรับรองในการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ตามเงื่อนไขต่าง ๆ ได้โดยง่าย คือ ใส่ตัวอักษร A – F โดยตัวอักษรมีความหมาย ดังนี้
A : เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ หรืออาการแพ้ยา
B : รักษาโดยใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติตามมาตรฐานแล้วไม่บรรลุและมีหลักฐาน เชิงประจักษ์เชื่อได้ว่าใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติแล้วช่วยให้เป้าหมายการรักษาดีกว่ายาเดิม
C : ไม่มีกลุ่มยาในบัญชียาหลักแห่งชาติให้ใช้ แต่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ยาตาม ข้อบ่งใช้ของยาที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และแพทย์พิจารณาแล้วมี หลักฐานสนับสนุนว่าใช้ยานี้แล้วว่ามีประสิทธิผล ปลอดภัย
D : ผู้ป่วยมีภาวะหรือโรคที่ห้ามใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างสมบูรณ์ หรือมี ข้อห้ามในการใช้บัญชานี้แล้วว่ามีประสิทธิผล ปลอดภัย
E: ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติมีราคาแพงกว่า (หมายถึง ค่าใช้จ่ายต่อคอร์สของการรักษา)
F : ยาที่ผู้ป่วยร้องขอจากแพทย์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาในครั้งนั้น
ลักษณะ A – E นั้นสามารถเบิกค่ารักษาได้ ส่วนกรณีข้อ F ผู้ป่วยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเอง
ตัวอย่างกลุ่มยา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เบิกไม่ได้
- ยาทาบรรเทาอาการปวด หรืออักเสบต่าง ๆ
- แชมพูขจัดรังแค
- อาหารเสริม
- น้ำตาเทียม
- ยาป้องกันสิว ฝ้า
- ยาปลูกผม
- ยารักษาโรคผมร่วง
- ยาลดความอ้วน
- วัคซีนป้องกันโรค ยกเว้น ป้องกันพิษสุนัขบ้า ป้องกันบาดทะยัก ป้องกันพิษงู
- รายละเอียดการเบิกค่ายาโดยละเอียดสามารถศึกษาได้จาก คู่มือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
ใครได้สิทธิเบิกจ่ายตรงบ้าง
1. ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำจากเงินงบประมาณรายจ่าย งบบุคลากรของกระทรวง ทบวง กรม แต่ไม่รวมข้าราชการตำรวจชั้นพลตำรวจ ซึ่งอยู่ระหว่างรับการศึกษาอบรมในสถานศึกษาของสำนักงานตำรวจก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการประจำ 2. ลูกจ้างชาวต่างประเทศ ที่มีหนังสือสัญญาจ้างที่ได้รับค่าจ้างจากเงินงบประมาณรายจ่าย และสัญญาจ้างนั้น ที่ไม่ได้มีการระบุเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลไว้ 3. ผู้ได้รับบำนาญปกติหรือผู้ได้รับบำนาญพิเศษ เพราะเหตุทุพพลภาพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และทหารกองหนุน มีเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด
ขณะเดียวกันในส่วนของผู้มีสิทธิ์ที่เป็น บุคคลในครอบครัว จะประกอบด้วย บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ์ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์) หรือบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีสิทธิ์ แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม รวมถึงคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ์ และบิดาหรือมารดา
ทั้งนี้ ผู้ที่จะได้สิทธิเบิกจ่ายตรง จะต้องเป็นบุคคล ที่ไม่มีสิทธิ์ซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สิทธิรัฐวิสาหกิจ สิทธิองค์กรอิสระ เป็นต้น
ขยายความคำว่า บุคคลในครอบครัว
“บุคคลในครอบครัว” หมายความว่า
(1) บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เป็น คนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีสิทธิ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
(2) คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ
(3) บิดาหรือมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ
คำอธิบายเพิ่มเติมในส่วนของบุคคลในครอบครัว: บุคคลในครอบครัวของผู้มีสิทธิ ที่ผู้มีสิทธิสามารถนำค่ารักษาพยาบาลมาเบิกจ่ายเป็น ค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 ได้นั้นประกอบด้วยบิดา มารดา คู่สมรส และบุตร ซึ่งต้องเป็นบุคคลในครอบครัวที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย
สำหรับคำว่า “ชอบด้วยกฎหมาย” นั้น หมายถึงจะต้องเป็นบุคคลในครอบครัวที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีหลักฐานทางราชการรับรองความถูกต้อง
แผนภาพผู้มีสิทธิสวัสดิการจ่ายตรง : ที่มา คู่มือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
วิธีเช็กสิทธิจ่ายตรงข้าราชการ
การตรวจสอบเช็กสิทธิจ่ายตรงข้าราชการสามารถทำได้หลายช่องทาง ดังนี้
1. ระบบตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง (https://mbdb.cgd.go.th/wel/)
2. แอปพลิเคชัน CGDiHealthCare
3. ตู้ GOVERNMENT SMART KIOSK
ตัวอย่างตู้ Government Smart Kiosk : ที่มา TECHSAUCE
ขั้นตอนการใช้สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายตรงผู้ป่วยนอก ผ่านบัตรประชาชน
1. นำบัตรประชาชนตัวจริงมาแสดงกับเจ้าหน้าที่การเงิน ณ สถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่ร่วมโครงการ โดยผู้มีสิทธิ์/คู่สมรส/บิดา/มารดา/บุตรที่มีอายุ 7 – 20 ปีให้ใช้บัตรประชาชน ส่วนบุตรที่อายุต่ำกว่า 7 ปีให้ใช้เลขบัตรประชาชนของเด็ก และบัตรประชาชนผู้ดูแล ส่วนคู่สมรส/บิดา/มารดา/ ชาวต่างชาติใช้เลข 13 หลักที่ทางราชการออกให้ หากไม่มีให้ใช้เลขที่กรมบัญชีกลางกำหนด สำหรับผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ใช้บัตรประชาชนของผู้ป่วย และของผู้ดูแล
2. หลังจากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและทำธุรกรรมแล้ว จะได้รับใบแสดงรายการค่าใช้จ่าย (Sale Slip) เพียง 1 ใบ และไม่ต้องลงนามใน Sale Slip
ผู้มีสิทธิ์ในระบบจ่ายตรง ต้องนำบัตรประชาชนมาแสดงสิทธิ์ด้วยทุกครั้ง เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการที่โรงพยาบาล หากลืมบัตรประชาชนหรือเอกสารที่กรมบัญชีกลางกำหนด หรือบัตรประชาชนหาย จะต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาไปก่อน และนำใบเสร็จรับเงินไปเบิกกับส่วนราชการต้นสังกัดภายหลัง
ขั้นตอนการใช้สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายตรงผู้ป่วยนอก ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง
ขั้นตอนการใช้สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายตรงผู้ป่วยนอก ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง กดเข้าไปในเมนู “กระเป๋าสุขภาพ” แล้วดำเนินการดังนี้
1. เลือกเมนูชำระ/เบิกค่ารักษา
2. เลือกโรงพยาบาลและรายการที่ต้องการใช้ สิทธิเบิกจ่ายตรง
3. ตรวจสอบรายละเอียดและกดปุ่มยืนยันการใช้สิทธิ์
4. ระบบแสดงหน้าจอ ใช้สิทธิ์สำเร็จ
ตัวอย่างภาพหน้าจอกระเป๋าสุขภาพในแอปฯ เป๋าตัง : ที่มา krungthai
ขั้นตอนการชำระค่ารักษาส่วนเกิน
ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายส่วนเกินสิทธิ ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนการชำระเงินดังต่อไปนี้
1. หลังจากกดยืนยันการใช้สิทธิ์แล้ว ให้กด “ชำระค่าบริการ”
2. เลือกช่องทางการชำระเงินด้วย Krungthai NEXT หรือ QR Payment
3. กรณีชำระด้วย Krungthai NEXT ระบบจะเปิดแอปพลิเคชันขึ้นมาทันที จากนั้นให้ทำรายการชำระเงิน ส่วนกรณีชำระด้วย QR Payment ระบบจะแสดง QR Code ให้เลือก บันทึก และทำรายการสแกนจ่ายผ่าน Mobile Banking ได้ทุกธนาคาร
4. เมื่อชำระเงินเรียบร้อยแล้วจะแสดงสถานะ ชำระเงินสำเร็จ
ขั้นตอนการดูประวัติและใบเสร็จรับเงิน
1. เข้าไปที่เมนู “ประวัติการทำรายการ”
2. เลือก “สิทธิ์อื่น/มีค่าบริการ”
3. ระบบจะแสดงประวัติการชำระเงินทุกประเภท
- ใช้สิทธิ์เต็มจำนวน
- ใช้สิทธิ์ และชำระเงินส่วนเกินสำเร็จ
- ใช้สิทธิ์แล้ว แต่ยังค้างชำระส่วนเกินอยู่
สามารถ กด “เอกสารทางการเงิน” เพื่อดูใบเสร็จตัวจริง
สรุปเกี่ยวกับวิธีตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล
การตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เราทราบถึงสิทธิและขอบเขตการรักษาที่เรามี อย่างในในประเทศไทยเรามีระบบประกันสุขภาพหลัก 3 ประเภท ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สิทธิ์บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งแต่ละระบบมีวิธีการตรวจสอบเช็กสิทธิการรักษาที่แตกต่างกัน
ปัจจุบัน การตรวจสอบเช็กสิทธิการรักษาสามารถทำได้หลายช่องทาง ทั้งทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือบนแอปพลิเคชัน และการตรวจเช็กสิทธิการรักษาช่วยให้เราสามารถวางแผนการรักษาและทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่ตัวเองพึงได้รับ ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานะของแต่ละบุคคลด้วย
และเพื่อให้ทุกสามารถสามารถเข้าถึงบริการในการตรวจสอบเช็กสิทธิการรักษาได้ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เราขอแนะนำ บริการ “กระเป๋าสุขภาพ” หรือ “Health Wallet” ซึ่งเป็นหนึ่งในบริการที่อยู่ในแอปฯ เป๋าตังค์ที่จะช่วยให้ผู้มีสิทธิ สามารถการจัดการข้อมูลสุขภาพ รวมถึงตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาล และทำให้การชำระค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินนั้นทำได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ใครที่มีสิทธิสามารถศึกษาและใช้ประโยชน์จาก เหล่านี้เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้อ่านสามารถศึกษารายละเอียดของกระเป๋าสุขภาพได้ที่ Health Wallet