เรียนรู้การเงิน

ไปเรียนต่างประเทศใช้เงินเท่าไหร่? รู้แล้วเตรียมตัวทัน เรียนสนุกแบบไม่มีสะดุด

อัปเดตวันที่ 31 ก.ค. 2567

รู้ลึก เตรียมความพร้อม ไปเรียนต่างประเทศใช้เงินเท่าไหร่? ที่นี่มีคำตอบ

ใจพร้อมบิน หนังสือพร้อมเรียน ว่าแต่เรียนต่อต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายมีอะไรบ้างนะ? เราเชื่อว่าหลายคนที่มีแผนจะเรียนต่อต่างประเทศเพื่อเสริมทักษะในด้านต่าง ๆ หรือเรียนต่อปริญญาโทก็ตาม ต่างเริ่มตั้งคำถามกับด่านแรกก่อนบินลัดฟ้าทำตามฝันว่า ไปเรียนต่างประเทศใช้เงินเท่าไหร่? มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แล้วต้องวางแผนอย่างไรไม่ให้การเรียนสะดุดระหว่างทาง

เพื่อให้ทุกคนวางแผนทางการเงินก่อนไปเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรุงไทยจะมาแนะนำข้อควรรู้เรื่องค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้ได้ทราบ และนำไปวางแผน ปรับใช้ได้ทันก่อนบินตามความฝัน เตรียมจดเช็กลิสต์เรียนต่อต่างประเทศค่าใช้จ่ายมีอะไรบ้างไปพร้อมกันได้เลย


1.เรียนต่อต่างประเทศค่าใช้จ่ายที่สำคัญคือ “ค่าเทอม”

ข้อแรก ค่าเทอม นับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกเรียนต่อต่างประเทศเลยก็ว่าได้ เพราะในแต่ละประเทศ รวมไปถึงในแต่ละสถาบันของประเทศนั้น ๆ ต่างมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น

  • ค่าเทอมเรียนต่อ มัธยม ในประเทศอเมริกา ประมาณ 700,000 – 1,250,000 บาท / ปี
  • ค่าเทอมเรียนต่อ ป.ตรี ในประเทศอเมริกา ประมาณ 1,100,000 – 2,200,000 บาท / ปี 
  • ค่าเทอมเรียนต่อ ป.โท ในประเทศอเมริกา ประมาณ 650,000 – 2,500,000 บาท / ปี 
  • ค่าเทอมเรียนต่อ ป.โท ในประเทศอเมริกาอังกฤษ ประมาณ 500,000 – 2,000,000 บาท / ปี 
  • ค่าเทอมเรียนต่อป.โท ในประเทศอเมริกาออสเตรเลีย ประมาณ 900,000 – 1,800,000 บาท / ปี

ค่าเทอมข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างคร่าว ๆ เท่านั้น เพราะหลักสูตรในแต่ละสถาบันและในแต่ละคอร์สจะมีความแตกต่างกัน เช่น แพทยศาสตร์, สัตวแพทย์ศาสตร์, รวมถึง ทันตแพทย์ คอร์สเหล่านี้จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าคอร์สการเรียนอื่น ๆ

เพราะฉะนั้นควรศึกษาให้ดีว่า หากเลือกที่จะเรียนต่อต่างประเทศค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมสำหรับค่าเทอม ต้องเตรียมงบประมาณเท่าไร และสถาบันนั้น ๆ มีวิชาที่ตอบโจทย์ความต้องการของเราได้อย่างครอบคลุมหรือไม่ เพื่อให้เราได้เลือกเรียนได้อย่างคุ้มค่าทั้งเรื่องเวลา และเงินลงทุน


2.ค่าครองชีพ

ต่อด้วยอีกปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หากเลือกที่จะเรียนต่อต่างประเทศ หรือเรียนต่อป.โทต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็เป็นอีกความสำคัญที่เราต้องวางแผนให้รอบคอบ เพราะในแต่ละประเทศนั้นมีเรตค่าครองชีพที่ต่างกันจากบ้านเรา เพราะฉะนั้นควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะบินไปเรียน

โดยค่าใช้จ่ายในส่วนของ “ค่าครองชีพ” ถูกแบ่งย่อยออกเป็น 5 ส่วนที่เราต้องจัดเตรียมงบประมาณให้พร้อม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้


ค่าที่อยู่และที่พัก

ถ้าเราหาที่พักหรือหอพักในราคามิตรภาพได้มากเท่าไร ก็จะช่วยลดต้นทุนได้มากขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การเลือกหอพักจากที่ทางสถานทูตได้จัดสรรไว้ จะได้ราคาที่ดีกว่าการตามหาเอง ดังนั้นการศึกษาข้อมูลการเช่าพักในหลาย ๆ ที่และเลือกที่พักในราคาเหมาะสมกับการอยู่อาศัย จะช่วยให้คุณมีค่าใช้จ่ายที่เบาลงได้


ค่าอาหารการกิน

เรียนต่อต่างประเทศค่าใช้จ่ายด้านการกินก็เป็นอีกพาร์ทสำคัญ เพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้อง เพราะฉะนั้นอย่าลืมที่จะศึกษาราคาอาหารของพื้นที่ที่เราจะไปอาศัยอยู่และไปเรียน เพื่อที่จะได้เตรียมงบประมาณส่วนนี้ให้เหมาะสมโดยไม่ต้องดึงค่าใช้จ่ายส่วนอื่นมาใช้ก่อน


ค่าเดินทาง

ต่อด้วยอีกพาร์ทที่สำคัญ การเรียนต่อต่างประเทศค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางจะช่วยให้เราประหยัดได้มากขึ้น ตามจริงแล้วพาร์ทนี้เป็นการวางแผนต่อยอดจากการเลือกที่พักหรือหอพัก ยิ่งเราเลือกหอพักที่เหมาะสมทั้งในด้านราคา ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย รวมถึงระยะทางในการเดินทางระหว่างที่พักและสถาบันการศึกษา ทั้งหมดนี้จะช่วยลดต้นทุนในการเรียนต่อต่างประเทศได้อย่างดี ดังนั้น อย่าลืมที่จะวางแผนเผื่อการเดินทาง และอย่าลืมศึกษาถึงวิธีการเดินทางให้รอบคอบก่อนจะไปเรียนให้ดี


ค่าอุปกรณ์การเรียน

สำหรับพาร์ทนี้ อาจต้องเช็กจากตัวเราเองว่าอุปกรณ์การเรียนอันไหนคือสิ่งจำเป็นสำหรับเรา มีแล้วจะช่วยเสริมให้การเรียนของเรามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมไปถึงกำหนดการของทางมหาวิทยาลัยและสถาบันนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น อย่าลืมเช็กส่วนนี้สำหรับตัวเองให้ดี เพื่อที่จะเตรียมแผนงบประมาณสู่ฝันได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ค่ากิจกรรมต่าง ๆ หรือการใช้ชีวิตโดยทั่วไป

อีกหนึ่งพาร์ทที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากมาเรียนแล้วเราก็อาจจะต้องแบ่งสัดส่วนงบประมาณในการเข้าสังคม หรือให้รางวัลกับตัวเองบ้าง เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมของทางสถาบัน, ช็อปปิงข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นของใช้ส่วนตัว หรือ เสื้อผ้า ทั้งหมดนี้ก็ควรแบ่งสัดส่วนที่เหมาะสมให้เราได้ใช้ในวันพักผ่อนจากการเรียนบ้าง


เรียนต่อต่างประเทศค่าใช้จ่ายในแต่ละประเทศต่างกันไหม?

เมื่อเตรียมความพร้อมเบื้องต้นและเข้าใจแล้วว่าการเรียนต่อต่างประเทศค่าใช้จ่ายมีอะไรบ้าง ในลำดับถัดมาที่ควรให้ความสำคัญ คือเช็กถึงค่าใช้จ่ายเจาะลงไปในประเทศที่เราเลือกจะไปเรียนให้ดีว่าต้องใช้เงินเท่าไร เพราะการไปใช้ชีวิตในต่างแดนล้วนมีความเสี่ยง หากเราไม่ศึกษาให้ดีก่อน

เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มกำลัง กรุงไทยจะมาแนะนำถึงงบประมาณในการไปใช้ชีวิตในต่างแดน ของประเทศยอดฮิตที่นักล่าฝันนิยมไปเรียนต่อกันให้ได้ทราบเป็นแนวทาง จะมีประเทศไหนบ้าง? แล้วต้องเตรียมงบประมาณเท่าไรถึงจะเพียงพอต่อการใช้ชีวิต? มาดูไปพร้อมกันได้เลย



สรุปงบที่ต้องรู้! เรียนต่อต่างประเทศค่าใช้จ่ายต่างกันไหม?

 กดและเลื่อนเพื่อดูข้อมูลในตาราง

ประเทศ วีซ่า
(บาท)
Bank
Statement

(บาท)
ค่าเทอม (บาท) ค่าหอพัก / ปี
(บาท)
ค่าอาหาร / มื้อ
(บาท)
ป.ตรี ป.โท
สหราชอาณาจักร
24,205
788,290
535,800 - 1,786,000
423,000 - 1,410,500
507,600 - 789,600
300 - 1,300
สหรัฐอเมริกา 11,815 ขึ้นอยู่กับ I-20 1,110,000 - 2,220,000 629,000 - 1,665,000 131,290 - 262,585 180 - 500
ออสเตรเลีย 17,750 1,446,425 500,000 - 1,125,000 550,000 - 1,250,000 91,870 – 526,345 200 - 700
นิวซีแลนด์ 12,137 1,446,425 506,000 - 805,000 598,000 - 851,000 429,135 - 837,850 260 - 450
เกาหลี ฟรี 327,500 53,200 - 390,000 43,400 - 369,000 100,000  - 170,000 200 - 600
จีน 4,500 50,000 59,000 - 266,830 92,365 - 307,880 63,600  - 234,000 35 - 250

หมายเหตุ อ้างอิงเรตเงิน และรายละเอียดต่าง ๆ ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2567


สหราชอาณาจักร

  • ค่าวีซ่า : นักเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี ต้องทำวีซ่า Student Visitor (Tier 4) ราคา 515 USD (24,205 บาท)
  • Bank Statement : คํานวณจากค่าเทอมที่ค้างจ่าย และมีเงินครอบคลุมค่าใช้จ่าย อยู่ในบัญชี 9 เดือน ขั้นต่ำประมาณ 788,290 บาท ในกรณีที่ยอดเงินไม่ถึงขั้นต่ำที่กำหนด สามารถใช้บัญชีของ Sponsor (พ่อ แม่ หรือญาติ) แทนได้
  • ค่าเทอมต่อปี
    - ปริญญาตรี : 535,800 - 1,786,000 บาท
    - ปริญญาโท : 423,000 - 1,410,500 บาท
  • ค่าหอพัก : ขั้นต่ำประมาณ 507,600 - 789,600 บาท ต่อปี
  • ค่าข้าวต่อมื้อ : 300 - 1,300 บาท ต่อมื้อ

สหรัฐอเมริกา

  • ค่าวีซ่า : 11,815 บาท
  • Bank Statement : ขึ้นอยู่กับ I-20 form หรือหนังสือรับรองคุณสมบัติสำหรับนักเรียน ที่ออกโดยสถาบันการศึกษา ซึ่งคํานวณจากค่าเทอมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ขั้นต่ำประมาณ 1,312,920 - 2,625,840 บาท เก็บไว้ในบัญชีอย่างน้อย 1 - 3 เดือน
  • ค่าเทอมต่อปี
    - ปริญญาตรี : 1,110,000 - 2,220,000 บาท
    - ปริญญาโท : 629,000 - 1,665,000 บาท
  • ค่าหอพัก : ขั้นต่ำประมาณ 131,290 - 262,585 บาท ต่อปี
  • ค่าข้าวต่อมื้อ : 180 - 500 บาท ต่อมื้อ ซึ่งราคาค่าครองชีพก็อาจจะต่างกันไปแต่ละรัฐ

ออสเตรเลีย

  • ค่าวีซ่า : 17,750 บาท
  • Bank Statement : คํานวณจากค่าเล่าเรียน และค่าครองชีพ ครอบคลุมค่าใช้จ่าย 12 เดือน ขั้นต่ำ 1,446,425 บาท ใช้หลักฐานเป็นยอดเงินในบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
  • ค่าเทอมต่อปี
    - ปริญญาตรี : 500,000 - 1,125,000 บาท
    - ปริญญาโท :550,000 - 1,250,000 บาท
  • ค่าหอพัก : ขั้นต่ำประมาณ 91,870 – 526,345 บาท ต่อปี
  • ค่าข้าวต่อมื้อ : 200 - 700 บาท ต่อมื้อ

นิวซีแลนด์

  • ค่าวีซ่า : 12,137 บาท
  • Bank Statement : ค่าครองชีพครอบคลุมค่าใช้จ่าย 1 ปี ขั้นต่ำประมาณ 1,446,425 บาท ใช้หลักฐานเป็นยอดเงินในบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน '
  • ค่าเทอมต่อปี
    - ปริญญาตรี : 506,000 - 805,000 บาท
    - ปริญญาโท : 598,000 - 851,000 บาท
  • ค่าหอพัก : ขั้นต่ำประมาณ 429,135 - 837,850 บาท ต่อปี
  • ค่าข้าวต่อมื้อ : 260 - 450 บาท ต่อมื้อ

เกาหลี

  • ค่าวีซ่า : ขอวีซ่าประเภท D-2 สำหรับนักเรียนป.ตรี / โท / เอก ฟรี
  • Bank Statement : คํานวณจากค่าเทอมและรายจ่ายประมาณ 1 ปี ขั้นต่ำ 327,500 บาท ด้วยยอดเงินในบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน หากขอทุนจากรัฐบาลเกาหลีไม่จำเป็นต้องใช้
  • ค่าเทอมต่อปี
    - ปริญญาตรี : 53,200 - 390,000 บาท
    - ปริญญาโท : 43,400 - 369,000 บาท
  • ค่าหอพัก : ขั้นต่ำประมาณ 100,000 - 170,000 บาท ต่อปี
  • ค่าข้าวต่อมื้อ : 200 - 600 บาท ต่อมื้อ

จีน

  • ค่าวีซ่า : 4,500 บาท (โดยใช้ระยะเวลา 4 วันทำการ)
  • Bank Statement : ยอดเงินในบัญชีไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท โดยตรวจสอบย้อนหลัง 6 เดือน
  • ค่าเทอมต่อปี
    - ปริญญาตรี : 59,000 - 266,830 บาท
    - ปริญญาโท : 92,365 - 307,880 บาท
  • ค่าหอพัก : ขั้นต่ำประมาณ 63,600 - 234,000 บาท ต่อปี
  • ค่าข้าวต่อมื้อ : 35 - 250 บาท ต่อมื้อ


เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นคู่มือที่ช่วยให้ทุกคนได้เตรียมความพร้อมก่อนทะยานสู่ฝันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งเราพร้อมมากเท่าไร การเรียนในต่างแดนของเราก็จะยิ่งราบรื่นและสนุกมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าลืมวางแผนงบประมาณก่อนเรียนต่างประเทศให้ดี เพื่อความสำเร็จที่ตั้งใจไว้


สำหรับผู้ปกครองที่คอยเอาใจช่วยให้ลูก ๆ ได้ทำตามฝัน เราขอแนะนำหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คุณและครอบครัวในวันที่ต้องห่างไกลกันอย่าง Krungthai Travel Card บัตรเดียวครอบคลุมทุกเรื่องการเงินในต่างแดน ไม่ต้องเปิดบัญชีต่างประเทศเพื่อโอนเงินให้ลูกๆของคุณ ก็สามารถโอนเงินรวมถึงแลกเปลี่ยนเงินตราในบัตรได้แบบสะดวก ปลอดภัย เรทดี ไม่มีค่าธรรมเนียม 2.5% แบบบัตรเครดิต พกแค่บัตรเดียวก็ช่วยตอบโจทย์ทุกการใช้จ่ายที่ต่างประเทศได้เลย ดูรายละเอียดบัตรเพิ่มเติมได้ที่ https://krungthai.com/th/content/personal/cards/krungthai-travel-card

เตรียมความพร้อม ไปเรียนต่างประเทศใช้เงินเท่าไหร่? | ธนาคารกรุงไทย ไปเรียนต่อต่างประเทศใช้เงินเท่าไหร่ กรุงไทยมีตัวช่วยให้การเรียนต่อต่างประเทศเป็นเรื่องง่าย ใครที่กำลังวางแผนอยู่ต้องอ่านบทความนี้