ก่อน "กู้เงินแต่งงาน" ต้องวางแผนการเงินยังไงให้เหมาะสม
การแต่งงาน เป็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขและความประทับใจ แต่การจัดงานแต่งงาน แน่นอนว่าต้องใช้เงินจำนวนมาก แล้วถ้าอยากแต่งงานแต่ไม่มีเงิน ทำยังไงดี หนี้ที่เกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังแต่งงานต้อง จ่ายเดี่ยว หรือ จ่ายร่วม แล้วมีเทคนิควางแผนการเงินก่อนกู้เงินแต่งงาน อย่างไรบ้าง
วางแผนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ด้วยเงิน 3 ก้อน
การแต่งงานก็ล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องของความรัก มักจะมีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ วันนี้เราจะมาพูดถึงเคล็ดลับเงิน 3 ก้อน เตรียมพร้อมสำหรับการแต่งงาน ที่จะทำให้ชีวิตคู่ของคุณไปได้อย่างราบรื่น ทั้งเรื่องความรัก และการเงิน
ส่วนที่ 1 สินสอด
เงินสินสอด ถือเป็นด่านแรกที่ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องเตรียมไว้สำหรับมอบให้กับครอบครัวฝ่ายเจ้าสาว ซึ่งจะมากน้อย อยู่ที่ความ "พอใจ" ของทั้งสองฝ่าย เพราะจำนวนเงินสินสอด ไม่ได้มีคำตอบที่ตายตัว ดังนั้น ฝ่ายเจ้าบ่าวอาจจะสอบถามทางครอบครัวเจ้าสาวให้ชัดเจนไปเลย หรือวิธีที่อาจจะเสี่ยงไปสักหน่อยแต่คงต้องขอลอง นั่นก็คือ ฝ่ายเจ้าบ่าวบอกจำนวนเงินที่สู้ไหว วัดใจกันไปเลย
ส่วนที่ 2 ค่าจัดงานแต่ง
หลังจากตกลงเรื่องเงินสินสอดลงตัวแล้ว ทีนี้ก็มาถึง ค่าจัดงานแต่ง ในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับทั้งคู่แล้วว่ารูปแบบของการจัดงานเป็นอย่างไร สถานที่จัดงานจัดที่ไหน จำนวนแขกที่มาร่วมงานมากี่คน ค่าชุดเจ้าบ่าว เจ้าสาว ฯลฯ แน่นอนว่า แต่ละครอบครัวความต้องการไม่เหมือนกัน เพราะงานแต่งงานมันคือ ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่จะได้เก็บช่วงเวลาแห่งความทรงจำเพื่อเริ่มต้นสู่การใช้ชีวิตคู่ โดยการจัดงานแต่งจะแบ่งรูปแบบเป็น 3 ประเภท ดังนี้
2.1 การจัดงานแต่งงานขนาดเล็ก
จำนวนแขก: ไม่เกิน 50 คน ค่าใช้จ่าย: 10,000 - 50,000 บาท สำหรับคู่รักที่เน้นความเรียบง่าย อบอุ่น เป็นกันเอง เชิญแขกในงานไม่เกิน 50 คน รูปแบบงานสามารถจัดได้ทั้งในหอประชุมสถานที่ราชการ หอประชุมโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายจะอยู่ระหว่าง 5,000 - 20,000 บาท หรือถ้าต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องสถานที่จัดงาน อาจจะเป็นที่บ้านฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายก็ได้ ในส่วนของค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายหลัก ๆ จะอยู่ที่วัตถุดิบ ประมาณ 10,000 – 30,000 บาท โดยรวมแล้วค่าใช้จ่ายจะไม่สูงมาก
2.2 การจัดงานแต่งงานขนาดกลาง
จำนวนแขก: 50 - 200 คน ค่าใช้จ่าย: 50,000 - 200,000 บาท งานแต่งงานขนาดกลางที่มีแขกมาร่วมงานไม่เกิน 200 คน รูปแบบงานมักจัดในห้อง Ballroom ของทางโรงแรม ซึ่งจะมีแพ็คเกจก็จะมีให้เลือกเริ่มตั้งแต่หลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่สถานที่ เพราะราคาแพ็คเกจอาจจะครอบคลุมค่าตกแต่งสถานที่ ฉากถ่ายรูป ค่าดอกไม้ประดับ รวมไปถึงค่าอาหาร หรืออาจจะใช้หอประชุมของสถานที่ราชการ หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ราคาก็จะถูกลงมาอยู่ที่ 30,000 - 70,000 บาท ในส่วนของอาหาร มีให้เลือกหลายรูปแบบ อาทิ ใช้บริการร้านอาหารหรือบริษัทที่รับทำ Food Catering หรือเป็นแบบบุฟเฟต์ ซึ่งจะมีรูปแบบการคิดราคาทั้งแบบรายหัว (ประมาณ 500 - 1,000 บาท / คน) หรือแบบคิดตามจำนวนโต๊ะ ราคาโต๊ะละ 2,000 บาท ขึ้นไป เป็นต้น
2.3 การจัดงานแต่งงานขนาดใหญ่
จำนวนแขก: 200 คนขึ้นไป ค่าใช้จ่าย: 200,000 - 600,000 บาท สำหรับคู่รักที่มีแขกมาร่วมงาน 200 คนขึ้นไป สถานที่จัดงานก็จะมีทั้ง จัดในสตูดิโอ ที่โรงแรม หรือสถานที่ที่ใช้จัดงานต่าง ๆ เฉพาะค่าสถานที่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักแสน ไปจนถึงหลักล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนแขกที่มาร่วมงาน ส่วนอาหาร มีให้เลือกหลายรูปแบบ เช่น โต๊ะจีน ค่าใช้จ่ายต่อโต๊ะเริ่มต้นที่ 10,000 บาท หรือถ้าเลือกจัดงานในโรงแรม หรือสถานที่จัดงานที่มีบริการ Food Catering ก็อาจจะคิดค่าบริการรวมอยู่ในแพ็คเกจ กรณีถ้าเป็นแบบค็อกเทล ก็จะอยู่ที่ 1,000 - 2,500 บาท / คน โดยประมาณ
ส่วนที่ 3 เงินก้อนสำหรับใช้ชีวิตหลังแต่ง
จบพาร์ทงานแต่งที่มีแขกเหรื่อร่วมแสดงความยินดีไปแล้ว ก็มาถึงเวลาที่ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว เริ่มต้นชีวิตคู่แบบจริงจังแล้ว เงินก้อนสำหรับใช้ชีวิตหลังแต่ง จะช่วยให้คุณและคู่ของคุณสามารถรองรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงค่าใช้จ่ายเผื่อไว้สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน
เงินก้อนสำหรับใช้ชีวิตหลังแต่งนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ
- ค่าใช้จ่ายประจำเดือน อาทิ ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ
- ค่าใช้จ่ายเตรียมพร้อมสำหรับการมีลูก ควรเตรียมเงินไว้สำหรับ ค่าคลอดบุตร ค่าเลี้ยงดูบุตร รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา
- เป้าหมายในชีวิต เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ควรเตรียมเงินไว้สำหรับเป้าหมายนั้น ๆ วิธีเตรียมเงินก้อนสำหรับใช้ชีวิตหลังแต่งงาน อาจจะมาจาก เงินออมที่เก็บเป็นประจำในแต่ละเดือน หรืออาจจะลงทุนเงินออมเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น การเตรียมเงินก้อนสำหรับใช้ชีวิตหลังแต่ง จะช่วยให้คุณและคู่ของคุณเริ่มต้นชีวิตคู่ได้อย่างมั่นคงโดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาการเงิน
เก็บเงินแต่งงานยังไงให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้
การแต่งงานเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับทุกคู่รัก แต่ก็จัดงานล้วนแล้วแต่มี "ค่าใช้จ่าย" จะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการจัดงาน การเก็บเงินล่วงหน้าสำหรับใช้ในการจัดงานครั้งสำคัญ เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คู่นิยมทำเพื่อให้งานแต่งครั้งหนึ่งในชีวิตเต็มไปด้วยความประทับใจ แล้วจะทำอย่างไรถึงสามารถเก็บเงินแต่งงานให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ลองดูวิธีต่อไปนี้
1.บริหารจัดการค่าใช้จ่าย
เริ่มต้นจากการลิสต์ค่าใช้จ่ายของทั้งคู่ในแต่ละเดือน แล้วแยกประเภทค่าใช้จ่ายเป็นกลุ่ม ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว แล้วตั้งงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายแต่ละประเภท ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
2.วางแผนรายละเอียดงานแต่ง
เมื่อบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ วางแผนรายละเอียดงานแต่งงาน กำหนดงบประมาณสำหรับงานแต่งงาน แยกประเภทค่าใช้จ่าย เช่น ค่าสถานที่ ค่าอาหาร ค่าชุดแต่งงาน เปรียบเทียบราคาจากผู้ให้บริการต่าง ๆ
3.เปิดบัญชีร่วม เพื่อช่วยกันเก็บเงิน
ข้อดีของการเปิดบัญชีร่วมกับคู่รักของคุณคือ เป็นการช่วยกันเก็บเงินและจัดการค่าใช้จ่ายร่วมกัน โดยทั่งคู่ต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการเก็บเงินสำหรับงานแต่งงาน เช่น จำนวนเงินที่ต้องการเก็บและระยะเวลาที่ต้องการ จากนั้นก็ตกลงกันว่าแต่ละคนจะออมเงินในสัดส่วนที่เท่าไหร่และจะทำการฝากเงินเข้าไปในบัญชีร่วมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจุบัน เราสามารถใช้แอปพลิเคชันในการช่วยติดตามการออมเงิน เพื่อให้แน่ใจว่าการเก็บเงินเพื่อใช้ในการแต่งงานจะเป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้
4.ให้สินเชื่อ เป็นตัวช่วยเพิ่มเติมในการกู้เงินแต่งงาน
ถ้าเงินที่เราเก็บยังไม่เพียงพอตามเป้าหมาย อาจจะลองพิจารณาสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเสริมเงินที่ขาด การเลือกสินเชื่อที่เหมาะสม เช่น สินเชื่อแต่งงาน หรือ สินเชื่อส่วนบุคคล ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
โดยกรุงไทยเราก็มี สินเชื่อ Smart Money* สินเชื่อบุคคลดอกเบี้ยต่ำ วงเงินกู้สูงสุดถึง 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับคู่รักทั้งพนักงานประจำ ข้าราชการ หรือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป หรือ สินเชื่ออเนกประสงค์** ของกรุงไทยสำหรับพนักงานข้าราชการและบุคคลากรภาครัฐที่ให้วงเงินกู้สูงสุดถึง 2 ล้านบาท (กรณีไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน) ที่อาจจะยังขาดเงินสำหรับจัดงานแต่งงานอยู่อีกหน่อย ทางกรุงไทยก็มีสินเชื่อเหล่านี้ไว้ช่วยเติมเต็มความฝันเรื่องการแต่งงานของคุณให้เป็นจริงได้
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
*อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 20% – 24% ต่อปี | คิดจากเงินต้น 10,000 บาท ดอกเบี้ย 20% ต่อปี ค่างวดเดือนละ 300 บาท ดอกเบี้ยทั้งสัญญา 4,718.19 บาท ผ่อน 60 เดือน | เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด **อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 8.32% - 11.32% ต่อปี | อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง MRR = 7.57% ต่อปี (ณ วันที่ 20 พ.ย. 66) | อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ | เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
หลังจากงานแต่งงานที่เพิ่งผ่านพ้นไป หนี้ที่เกิดขึ้น จ่ายเดี่ยว หรือ จ่ายร่วม
จบงานแต่งงานอันแสนชื่นมื่น ก็เข้าสู่โลกของความเป็นจริงในการเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่ ซึ่งในทางกฎหมาย เมื่อคู่รักได้ทำการจดทะเบียนสมรสแล้ว ไม่ว่าจะเป็น รายได้, ทรัพย์สิน รวมไปถึงผลประโยชน์ที่แต่ละคนได้รับ แม้จะเป็นสินส่วนตัว จะถือเป็นสินสมรส ที่คู่สมรสมีสิทธิ์ด้วยครึ่งหนึ่ง ต่อให้จัดงานแต่งงานใหญ่โต แต่ไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสต่อหน้านายทะเบียน ก็จะถือว่ายังไม่ได้สมรสในทางกฎหมาย แล้วในส่วนของหนี้สินที่เกิดขึ้นทั้งก่อนแต่ง และ หลังแต่งงาน ใครต้องเป็นคนรับผิดชอบ จ่ายเดี่ยว หรือ จ่ายร่วม?
หนี้สินก่อนแต่งงาน
ในทางกฎหมาย หนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนแต่งงาน เป็นของบุคคลนั้น ๆ โดยคู่สมรสไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบภาระหนี้
หนี้สินหลังแต่งงาน
สำหรับหนี้สินหลังแต่งงาน จะแบ่งเป็นสองประเภทหลัก ก็คือ หนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว และ หนี้ที่ทำเพื่อครอบครัว
กรณีที่เป็นหนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยที่คู่สมรสไม่ได้ให้การยินยอม ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ที่ก่อหนี้ ยกตัวอย่างเช่น ฝ่ายชายไปกู้เงิน โดยที่ฝ่ายภรรยาไม่ได้ยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะร่วมชำระหนี้ด้วย ฝ่ายสามีต้องนำสินส่วนตัวไปชำระหนี้เสียก่อน กรณีที่สินส่วนตัวไม่เพียงพอถึงค่อยมาเป็นสินสมรส แต่จะไม่เกินครึ่งหนึ่งที่เป็นส่วนของฝ่ายชายเท่านั้น
กรณีที่เป็นหนี้ที่ทำเพื่อครอบครัว ถือเป็นการตัดสินใจร่วมกันของคู่สมรส ซึ่งจะต้องนำสินสมรสมาชำระหนี้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น
- หนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว คือหนี้ที่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่าย เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล
- หนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับสินสมรส ถือเป็นหนี้ร่วมที่ทั้งสองฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านหรือรถยนต์
- หนี้ของธุรกิจที่สามีภรรยาทำร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น หากคู่สมรสมีธุรกิจร่วมกัน หนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจนี้ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
- หนี้ส่วนตัวที่อีกฝ่ายให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าจะรับผิดชอบร่วมกัน หากฝ่ายหนึ่งก่อหนี้และอีกฝ่ายให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะรับผิดชอบร่วมกัน หนี้นี้จะเป็นหนี้ร่วม
เทคนิคจัดการหนี้ให้อยู่หมัด เริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความมั่นคง
แม้การแต่งงานจัดได้ชื่นมื่นแค่ไหน แต่แน่นอนว่าสิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้คือ ภาระหนี้สินที่อาจจะมาจากการ กู้เงินแต่งงาน ทั้งจาก สินเชื่อแต่งงาน หรือ สินเชื่อส่วนบุคคลอื่น ๆ เพื่อให้คุณและคนที่คุณรักเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความมั่นคง 8 เทคนิคต่อไปนี้จะช่วยให้คู่ของคุณสามารถจัดการหนี้ให้อยู่หมัด
1.รวบรวมข้อมูลและวางแผน
ขั้นตอนแรกคือ การรวบรวมข้อมูลหนี้สินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สัญญากู้ยืม สเตทเมนท์ ตารางการผ่อนชำระ เพื่อวางแผนการชำระคืน
2.ตั้งงบประมาณสำหรับการผ่อนชำระ
เมื่อทราบข้อมูลหนี้สินแล้ว ให้จัดสรรงบประมาณสำหรับการผ่อนชำระหนี้โดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกับรายรับและรายจ่ายประจำเดือนด้วย
3.จัดลำดับความเร่งด่วน
กรณีที่มีการกู้ยืมมากกว่าหนึ่งก้อน ควรจัดลำดับความเร่งด่วนในการชำระหนี้ โดยเริ่มจากหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อนเพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในระยะยาว ซึ่งจะช่วยทำให้หนี้หมดไว เหลือเงินมาผ่อนหนี้ก้อนอื่น ๆ ได้มากขึ้น
4.รวมหนี้เป็นก้อนเดียว
การรวมหนี้ทั้งหมดเป็นก้อนเดียว หรือ รีไฟแนนซ์ ช่วยให้คุณลดภาระดอกเบี้ยและทำให้การชำระหนี้เป็นเรื่องที่จัดการได้ง่ายขึ้น ยอดผ่อนชำระต่อเดือนลดลง
5.เจรจากับสถาบันการเงินที่ให้กู้
หากคุณมีปัญหาในการชำระหนี้ อย่าลังเลที่จะเจรจากับสถาบันการเงินที่ให้กู้ เพราะสถาบันการเงินมักมีทางเลือกในการปรับปรุงเงื่อนไขการชำระหนี้ เช่น การขยายระยะเวลาชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย หรือการปรับลดค่างวด การเจรจาเหล่านี้สามารถช่วยลดภาระการชำระหนี้ได้
6.หลีกเลี่ยงการก่อหนี้เพิ่ม
เพื่อให้คุณสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น ในระหว่างการจัดการหนี้ ควรหลีกเลี่ยงการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากจะทำให้ภาระหนี้ของคุณเพิ่มขึ้นและยากที่จะจัดการให้หมดไป
7.เริ่มเก็บเงินออมฉุกเฉิน
การมีเงินออมฉุกเฉินเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้โดยไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม
8.จ่ายหนี้เพิ่มเมื่อมีโอกาส
หากคุณได้รับเงินพิเศษ เช่นโบนัส รายได้เสริม หรือเงินคืนภาษี แนะนำให้แบ่งเงินนั้นมาชำระหนี้เพิ่ม เพราะจะช่วยให้คุณลดเงินต้น ระยะเวลาการผ่อนหนี้สั้นลง แถมจ่ายดอกเบี้ยลดลงอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคู่อาจจะมองว่า การสมรสคือภาระหรือเปล่า จริง ๆ แล้ว หากเรามีการวางแผนการเงินที่ดี และสานฝันของคุณให้เป็นจริงด้วยการขอสินเชื่อแต่งงาน เท่าที่จำเป็น และรู้จักวิธีรับมือและการบริหารหนี้สินแล้ว ก็จะช่วยให้การแต่งงานของคุณผ่านไปได้อย่างราบรื่น แถมชีวิตครอบครัวมีการเงินที่มั่นคงอีกด้วย หากเราพิจารณาแล้วว่ายังไม่สามารถรับมือกับค่าใช้จ่าย หรือ หนี้ ที่จะเกิดขึ้นตามมาแล้ว ให้วางแผนแต่งงานอีกทีเมื่อเราพร้อมทั้งคู่จะราบรื่นกว่าทั้งก่อนแต่งและหลังแต่งงาน หรือต้องการ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่ www.krungthai.com