จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต จุดเริ่มต้นของหนี้บัตรเครดิต ที่คุณอาจคิดไม่ถึง
คนที่ใช้บัตรเครดิตทุกคนต่างรู้ดีว่าบัตรเครดิตช่วยให้เราใช้จ่ายได้อย่างคล่องตัว เป็นผู้ช่วยยามที่เงินขาดมือ มีโปรโมชันและสิทธิพิเศษมากมาย รวมทั้งสามารถผ่อนจ่ายแบบ 0% ได้ด้วย โดยเราสามารถจ่ายค่าบัตรเครดิตได้แบบเต็มจำนวนและขั้นต่ำ หลายคนเลือกจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเพราะขาดสภาพคล่อง บางคนรายได้ไม่เยอะ แต่มีรายจ่ายสูง ก็ใช้วิธีนี้เพื่อแก้ปัญหา ทั้งนี้การจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำเป็นเรื่องที่กูรูด้านการเงินไม่แนะนำอย่างยิ่ง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อหนี้ก้อนโต และการจ่ายดอกเบี้ยที่สูงโดยไม่จำเป็น ใครที่กำลังจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตอยู่ คุณควรทำความเข้าใจการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตให้ถูกต้องเสียก่อน
รู้จักการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต
การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต คือการชำระหนี้บัตรเครดิตตามยอดขั้นต่ำที่ธนาคารเจ้าของบัตรกำหนด โดยยอดชําระขั้นต่ำคือ 5 – 10% ของยอดค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บในรอบบิลนั้น ๆ ข้อดีคือหากผู้ใช้บัตรเครดิตขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่สามารถจ่ายยอดเต็มได้ ก็สามารถจ่ายขั้นต่ำได้ การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตแม้จะดูสะดวกสบาย แต่ข้อเสียคืออัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง ยิ่งมีส่วนต่างการจ่ายขั้นต่ำเท่าไหร่ ภาระหนี้ในเดือนถัดไปก็ยิ่งมากขึ้น
นอกจากนี้ หลายคนอาจเลือกวิธีผ่อนชำระค่างวดบัตรเครดิต เพื่อแบ่งยอดหนี้ให้เล็กลงและทยอยจ่ายเท่ากันทุกเดือน การผ่อนชำระกับจ่ายขั้นต่ำลักษณะนี้มีดอกเบี้ยไม่แตกต่างกัน ข้อสำคัญอยู่ที่เราจะสามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดโดยเร็วที่สุดเมื่อไหร่
การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต ฉุดเราสู่วงจรหนี้สินได้อย่างไร
แม้จะดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ดี แต่อย่างที่บอกข้างต้นว่า การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตจะมียอดชําระขั้นต่ำคือ 5 – 10% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด หากเราเลือกจ่ายขั้นต่ำนั่นหมายความว่า มีหนี้อีกราว 90% ที่ยังไม่ชำระ และหากเดือนถัดไปมียอดใช้จ่ายเข้ามาอีก หนี้จะยิ่งพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับบัตรเครดิตจ่ายขั้นต่ำดอกเบี้ยสูงถึง 16% ต่อปี นี่เองที่ฉุดเราให้อยู่ในวังวนของหนี้บัตรเครดิต
การชำระหนี้บัตรเครดิตให้หมดคือสิ่งที่แนะนำอย่างยิ่ง เพราะระหว่างการผ่อนชำระกับจ่ายขั้นต่ำ ก็เสียดอกเบี้ยสูงด้วยกันทั้งคู่ อย่างไรก็ดี การใช้บัตรเครดิตแต่ละเดือนจะมีช่วงเวลาที่เรียกว่า “ระยะปลอดหนี้” หรือ “ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย” เป็นช่วงเวลาชำระค่าบัตรเครดิตตามที่ธนาคารกำหนดโดยที่ธนาคารจะยังไม่คิดดอกเบี้ย แต่หากเราเลือกจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตไปแล้วในช่วงระยะนี้ กลไกดอกเบี้ยก็จะเริ่มทำงานทันที
เคลียร์ให้ชัด จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตคิดดอกเบี้ยอย่างไร
คนส่วนมากเข้าใจว่า หากเราจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต ดอกเบี้ยก็จะเริ่มคิดจากวันที่เราจ่ายขั้นต่ำ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ ดอกเบี้ยจะถูกคำนวณตั้งแต่วันที่เราใช้จ่าย และคิดยอดเต็มจำนวน นั่นเพราะระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยได้สิ้นสุดลงแล้ว แถมยังคำนวณดอกเบี้ยถึง 2 ต่อ คือ 1) ดอกเบี้ยจากยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมด และ 2) ดอกเบี้ยวงเงินคงเหลือหลังจากที่จ่ายยอดขั้นต่ำไปแล้ว เท่านั้นยังไม่พอ ดอกเบี้ยเหล่านี้จะคิดเป็นรายวันจากวันแรกที่ใช้จ่ายจนถึงกำหนดตัดรอบบิลถัดไปเรื่อย ๆ และถ้าเรามีการใช้จ่ายเข้ามาใหม่ ยอดค่าใช้จ่ายนี้ก็จะนำมาคิดดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน ทางเดียวที่จะหยุดวงจรหนี้บัตรเครดิตได้ก็คือ การจ่ายหนี้ทั้งหมด
วิธีแก้หนี้บัตรเครดิต
จะทำอย่างไรดี ถ้าเรามีความจำเป็นต้องจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต คำแนะนำง่าย ๆ มีดังนี้
- วางแผนการใช้เงินให้ดี ไม่ก่อหนี้เพิ่ม อันดับแรกหากมีเงินไม่มากพอชำระค่าบัตรเครดิตทั้งหมด ให้พยายามจ่ายยอดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้เหลือยอดเงินต้นที่นำไปคำนวณดอกเบี้ยน้อยที่สุด โดยระหว่างนี้พยายามลดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เพราะจะเกิดยอดหนี้ใหม่ที่จะนำมาคิดดอกเบี้ยรวมกับยอดหนี้เดิม การใช้เงินสดจึงเป็นทางออกที่ดีในช่วงนี้
- ชำระค่าบัตรเครดิตให้ตรงเวลา แม้จะจ่ายขั้นต่ำ ก็ต้องจ่ายให้ตรงเวลาไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเจอค่าปรับจากการผิดนัดชำระหนี้ซ้ำเติมภาระหนี้ให้มากขึ้นไปอีก แถมประวัติการผิดนัดชำระหนี้นี้ยังกระทบต่อสถานะเครดิตบูโรของเรา ทำให้การขอสินเชื่อยากขึ้นในอนาคต
- หาทางออกร่วมกับธนาคาร ทุกครั้งที่มีหนี้ จำไว้เสมอว่าธนาคารคือทางออก เราสามารถแจ้งปัญหากับธนาคารให้ช่วยแนะนำแนวทางในการปิดหนี้ได้ โดยธนาคารอาจนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อรวมหนี้ หรือการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต เพื่อรับเงินก้อนมาปิดหนี้บัตรเครดิต และผ่อนชำระสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ตัดวงจรดอกเบี้ยสะสม ยิ่งถ้าเรามีบัตรเครดิตหลายใบ วิธีการนี้จะช่วยลดความปวดหัวในการบริหารเงินของเราได้ ทำให้เราปิดหนี้ไวขึ้น
ทางออกสำหรับคนเป็นหนี้บัตรเครดิต
อย่างที่บอกว่าบัตรเครดิตจ่ายขั้นต่ำดอกเบี้ยสูงถึง 16% ต่อปี แต่การรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตจ่ายดอกเบี้ยน้อยกว่านั้น ยกตัวอย่าง สินเชื่อกรุงไทยอเนกประสงค์* สินเชื่อสำหรับพนักงานข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และบุคคลากรภาครัฐ
- ให้วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาท (กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน)
- ดอกเบี้ยต่ำ MRR +0.25% ต่อปี
หรือใครมีรายจ่ายเยอะ เงินสดขาดมือ ต้องการเสริมสภาพคล่อง แนะนำให้เลือกสินเชื่อดี ๆ มาเป็นตัวช่วย แทนการใช้บัตรเครดิตและจ่ายขั้นต่ำ โดยเฉพาะลูกค้าธนาคารกรุงไทย สินเชื่อ “กรุงไทยธนวัฏ”** ช่วยคุณได้ เพราะเป็นวงเงินสำรองพร้อมใช้ สูงสุด 15 เท่าของเงินเดือน ตามเงื่อนไข โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ที่สำคัญ คิดดอกเบี้ยตามจริง ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ต้องจ่าย เหมาะเป็นวงเงินเพื่อความอุ่นใจ ทดแทนการก่อหนี้บัตรเครดิตที่ดอกเบี้ยสูง
ไม่สำคัญว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ หากเรามีรายจ่ายมากก็อาจประสบปัญหาทางการเงินได้โดยไม่ทันตั้งตัว การวางแผนการเงิน และรู้จักผลิตภัณฑ์การเงิน เงินกู้ออนไลน์ต่าง ๆ เป็นอย่างดีจะช่วยให้เรารับภาระค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ก่อนจะก่อหนี้ทุกครั้ง อย่าลืมถามตัวเองว่าเรามีความสามารถในการชำระหนี้แค่ไหน และมองหาตัวช่วยที่ดีที่สุดก่อนเสมอ
หากคุณต้องการตัวช่วยเรื่องการเงิน ธนาคารกรุงไทยช่วยคุณได้ www.krungthai.com
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
*อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 8.32% - 11.32% ต่อปี | อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง MRR = 7.57% ต่อปี (ณ วันที่ 20 พ.ย. 66) | อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ | เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
**อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 11.07% – 16.57% ต่อปี | อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง MRR = 7.57% ต่อปี (ณ วันที่ 20 พ.ย. 66) | อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ | วงเงินสูงสุด 15 เท่าของเงินเดือน สำหรับกรณีที่หน่วยงานต้นสังกัดทำบันทึกข้อตกลงกับธนาคาร (MOU) | เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนดพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด