เรียนรู้การเงิน

เครดิตบูโรคืออะไร มีตัวเลขสถานะกี่แบบ พร้อมขั้นตอน แก้เครดิตบูโร ก่อนกู้สินเชื่อ

อัปเดตวันที่ 21 ก.ค. 2567

เครดิตบูโรคืออะไร มีตัวเลขสถานะกี่แบบ

ใครที่กำลังเตรียมกู้สินเชื่อต้องรีบอ่าน เพราะบทความนี้จะพาคุณมาทำความเข้าใจกับอีกหนึ่งกุญแจสำคัญอย่าง “เครดิตบูโร (Credit Bureau)” สถาบันจัดเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อ และประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภท ไม่ว่าคุณทำอะไร ด้วยสินเชื่อไหน เครดิตบูโรก็จะบอกสถานะของคุณไว้อย่างชัดเจน ยิ่งคุณมีสถานะบูโรดีมากเท่าไร โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น

เพราะฉะนั้น มาทำความรู้จักกับ “สถานะบูโร” กุญแจสู่ผลการอนุมัติสินเชื่อในฉบับรวบรัด เครดิตบูโรคืออะไร? ถ้าติดแบล็คลิสแก้ยังไง? หรือตัวเลขสถานะบูโรนั้นมีกี่แบบ กรุงไทยได้รวมคำตอบเหล่านี้ให้คุณได้หายข้องใจกัน

เครดิตบูโรคืออะไร?

เครดิตบูโร (Credit Bureau) หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด คือ สถาบันที่รวบรวมข้อมูลบัญชีสินเชื่อ รวมทั้งประวัติการชำระหนี้และสินเชื่อทุกประเภท อีกทั้งยังสามารถระบุสถานะบูโรของแต่ละบุคคลว่าเป็นอย่างไร มีประวัติการชำระที่ดีหรือไม่ รวมไปถึงการระบุว่าบุคคลนั้นมีภาระด้านสินเชื่อมากน้อยเพียงใด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการพิจารณาสินเชื่อต่าง ๆ ของทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ได้ทำเรื่องไป หากเรามีเครดิตบูโรที่ดีโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติก็จะสูงตามมา

ติดเครดิตบูโรแบบไหนถึงมีความเสี่ยง?

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าการติดเครดิตบูโรคืออะไร? เป็นอีกหนึ่งความหมายของการขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) หรือไม่? หากคุณมีความกังวลใจ มาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “การติดเครดิตบูโร” เพิ่มเติมกันเลย

ตามความเป็นจริงแล้ว “เครดิตบูโร” เป็นเพียงตัวกลางในการจัดเก็บข้อมูลเครดิตทางการเงินเท่านั้น ไม่มีบทบาทในการขึ้นบัญชีดำในทุกกรณี แต่วลีของคำว่า “ติดเครดิตบูโร” เป็นเพียงแค่คำนิยามที่สถาบันการเงินบัญญัติขึ้นเพื่อใช้แจ้งในกรณีที่จะไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อนั่นเอง

ทั้งนี้ ในแต่ละธนาคาร รวมถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ล้วนมีเงื่อนไข และนโยบายที่แตกต่างกันออกไป จึงไม่สามารถกำหนดตายตัวได้ว่า ต้องค้างชำระนานเท่าไรถึงจะติดเครดิตบูโรได้ เพราะฉะนั้นการรักษาประวัติทางการเงินให้ดีอยู่เสมอ จะช่วยลดความเสี่ยง และทำให้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น

ไขข้อสงสัย “ติดเครดิตบูโร” ต้องรอกี่ปีถึงจะหลุดพ้น

ในกรณีที่เราเคยอยู่ในสถานะบูโรไม่ปกติ แต่ชำระหนี้สินเชื่อหรือปิดบัญชีจนครบแล้ว แต่ไปยื่นขอสินเชื่อที่ไหนก็ยังไม่ผ่าน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามกับหลาย ๆ คนว่าต้องรออีกกี่ปีถึงจะหลุดพ้น และกลับมามีเครดิตทางการเงินที่น่าเชื่อถืออีกครั้ง

คำตอบคือ ครบกำหนด 3 ปี หลังจากวันที่ได้ทำการปิดยอดชำระสินเชื่อต่าง ๆ เรียบร้อย บัญชีเครดิตดังกล่าวที่ถูกจัดเก็บไว้ในเครดิตบูโรก็จะถูกลบออกจากฐานข้อมูลไปโดยอัตโนมัติ

ตัวเลขสถานะบูโรมีกี่แบบ

ตัวเลขสถานะบูโรมีกี่แบบ? ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

ทำความเข้าใจกับเครดิตบูโรกันไปบ้างแล้ว ตอนนี้กรุงไทยจะพาเจาะลึกถึงสถานะบูโรให้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น กับการจัดเก็บข้อมูลสินเชื่อที่ได้รับจากสถาบันการเงินและบริษัทที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร รวมไปถึงประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้

  • ข้อมูลที่แสดงให้ทราบว่าใครคือเจ้าของรายงาน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับมาจากสถาบันการเงินที่เราใช้สินเชื่อ เช่น
    - ข้อมูลส่วนบุคคล : เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน, ชื่อ-นามสกุล, วันเดือนปีเกิด เป็นต้น โดยสถาบันการเงินจะไม่นำส่งในข้อมูลเครดิตบูโร 
    - ข้อมูลที่อยู่ของลูกค้าที่แจ้งไว้กับสถาบันการเงิน และบริษัทที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร
  • ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ ประวัติการชำระสินเชื่อ รวมถึงประวัติการชำระสินค้าหรือการใช้บริการผ่านบัตรเครดิต ข้อมูลส่วนนี้จะแสดงสถานะบูโรในแต่ละบัญชีของรายงานข้อมูลเครดิต ด้วยการรวมรหัสสถานะบัญชี เช่น สินเชื่อปกติ, สินเชื่อที่ปิดบัญชีแล้ว, สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน เป็นต้น 

ซึ่งสถานะบัญชีจะถูกเปลี่ยนไปตามประวัติการผ่อนชำระของเจ้าของสินเชื่อ โดยจะรหัสสถานะบูโรที่สำคัญมีดังนี้

  • 01 หรือ 010 คือ ปกติ ไม่มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน
  • 11 หรือ 011 คือ ปิดบัญชี ลูกหนี้ชำระหนี้หมดหรือชำระครบตามยอดที่ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้
  • 12 หรือ 012 คือ พักชำระหนี้ตามนโยบายของสมาชิก
  • 20 หรือ 020 คือ หนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน
  • 21 หรือ 021 คือ หนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วันเนื่องจากลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่ปกติ
  • 30 หรือ 030 คือ อยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย
  • 31 หรือ 031 คือ อยู่ระหว่างชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม
  • 32 หรือ 032 คือ ศาลยกฟ้องเนื่องจากคดีขาดอายุความหรือ เหตุอื่นเว้นแต่การยกฟ้องเนื่องจากการเป็นหนี้มิได้มีอยู่จริง
  • 33 หรือ 033 คือ ปิดบัญชีเนื่องจากตัดหนี้สูญ ปิดบัญชีเนื่องจากลูกหนี้ไม่นำเงินมาชำระ และสมาชิกตัดหนี้สูญทั้งหมดโดยไม่ติดใจทวงถามอีกต่อไป
  • 40 หรือ 040 คือ อยู่ระหว่างสินเชื่อเพื่อปิดบัญชี ลูกหนี้ไม่สามารถใช้บัญชีได้อีกหรืออยู่ระหว่างชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้เสร็จสิ้นจะต้องปรับเป็น ปกติ หรือ ปิดบัญชี
  • 41 หรือ 041 คือ อยู่ระหว่างตรวจสอบรายการ เจ้าของข้อมูลขอตรวจสอบรายการหรือ สมาชิกอยู่ระหว่างตรวจสอบรายการ เนื่องจากการทุจริต หรือฉ้อฉลโดยอยู่ระหว่างพิสูจน์ข้อเท็จจริง และยังไม่ได้ข้อยุติ
  • 42 หรือ 042 คือ โอนขายหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน สมาชิกโอนหรือขายหนี้ที่ค้างชำระให้กับบุคคลอื่น
  • 43 หรือ 043 คือ โอนหรือขายหนี้และชำระหนี้เสร็จสิ้น ไปยังนิติบุคคลอื่นและลูกหนี้ได้มีการชำระหนี้เสร็จสิ้นให้แก่ผู้รับโอน
  • 44 หรือ 044 คือ โอนหรือขายหนี้ที่สถานะบัญชีปกติ ซึ่งสมาชิกโอนหรือขายหนี้ที่ไม่ค้างชำระ หรือ ค้างชำระไม่เกิน 90 วันไปบุคคลอื่น

5 วิธีปลดล็อกสถานะบูโรไม่ปกติ ก่อนกู้สินเชื่อฉบับเข้าใจง่าย

วิธีปลดล็อกสถานะบูโรไม่ปกติ

เมื่อรู้แล้วว่าการติดเครดิตบูโรคืออะไร? รวมถึงเข้าใจในกลไกของสถานะบูโรชัดเจนยิ่งขึ้น กรุงไทยก็ขอชี้แนะเพิ่มเติม กับ 5 วิธีปลดล็อกสถานะบูโรก่อนกู้สินเชื่อฉบับเข้าใจง่าย ให้คุณได้เก็บไว้เป็นคู่มือในการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ในอนาคต

1.อยากปลดล็อกต้องเช็กเครดิตบูโรให้รู้และพร้อมแก้ไข

เพราะสถานะบูโรเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาสินเชื่อ ดังนั้น เราต้องรู้สถานการณ์ของตัวเองในตอนนี้ให้ดีก่อนว่าสถานะบูโรของเราเป็นอย่างไร ประวัติการชำระตรงตามที่เราเคยชำระไหม และมีข้อมูลทางการเงินส่วนไหนแปลกปลอมหรือไม่ หากเจอข้อมูลที่ผิดพลาดต้องรีบดำเนินการแก้ไขทันที เมื่อเราตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มวางแผนการแก้ไขไปทีละจุด ทยอยปิดบัญชีสินเชื่อทีละนิด ยิ่งเรามีวินัยมากพอในการบริหารการจัดการหนี้ ส่วนนี้ก็จะทำให้คุณปลดล็อกจากสถานะบูโรไม่ปกติได้เร็ว


2.ชำระหนี้ให้ตรงเวลา

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ปลดล็อกจากเครดิตบูโรได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการชำระหนี้สินเชื่อให้ตรงเวลา หากคุณสร้างวินัยทางการเงินไปพร้อมกับการสร้างประวัติเครดิตให้ดียิ่ง ก็จะส่งผลให้การขอสินเชื่อใหม่ในอนาคตมีโอกาสเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น


3.ปลดล็อกเครดิตบูโรง่าย ๆ เพียงแค่ “รวมหนี้ไว้เป็นหนึ่งเดียว”

หากคุณมีภาระหนี้สินเชื่อจากหลายสถาบันทางการเงิน เราขอแนะนำวิธี “การรวมหนี้” อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณปลดล็อกจากสถานะบูโรไม่ปกติ ปัจจุบันนี้ธนาคารและสถาบันทางการเงินหลายแห่งเปิดทางเลือกให้แก่ลูกค้าที่ประวัติการค้างชำระ ยื่นขอสินเชื่อสำหรับการรวมหนี้ และนำเงินก้อนมาปิดบัญชีหนี้ค้างชำระทั้งหมด เพื่อปรับโครงสร้างหนี้และปลดล็อกสถานะบูโรไม่ปกติได้


4.วางแผนการชำระหนี้เสีย ช่วยปลดล็อกเครดิตบูโร

ต่อด้วยอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณหลุดพ้นจากสถานะบูโรไม่ปกติได้ คือการวางแผนการชำระหนี้เสียเพื่อสร้างเครดิตทางการเงินที่ดี

  • หากตอนนี้คุณมีสภาพคล่องทางการเงิน เริ่มจากการสรุปรายการหนี้ที่ยังคงค้าง จากนั้นนำมาวางแผนในการตั้งงบประมาณ (รายรับ-รายจ่าย) ให้เหมาะสม และสิ่งที่สำคัญที่สุดของแผนนี้คือการสร้างวินัยการผ่อนชำระหนี้ให้ตรงเวลาในทุกงวด
  • หากคุณขาดสภาพคล่องทางการเงิน หรือมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ เราขอแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการปรึกษากับสถาบันการเงิน ในการขอปรับเงื่อนไขไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้าง หรือเพิ่มระยะเวลาในการชำระหนี้ เพื่อให้ประวัติการชำระหนี้คงค้างของคุณดีขึ้น


5.สร้างสถานะเครดิตบูโรใหม่เพิ่มโอกาสการอนุมัติสินเชื่อ

ยิ่งสถานะบูโรของเราน่าเชื่อถือมากขึ้นเท่าไร โอกาสที่สินเชื่อจะได้รับการอนุมัติก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อคุณปิดบัญชีสินเชื่อจนครบแล้วก็อย่าลืมสร้างสถานะเครดิตบูโรใหม่ให้ดี เริ่มจากการสร้างวินัย ชำระหนี้ให้ตรงเวลา วางแผนทางการเงินให้รอบคอบ เพียงเท่านี้สถานะบูโรของคุณก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น พร้อมเพิ่มโอกาสการขอสินเชื่ออื่น ๆ ในอนาคตได้อย่างราบรื่น

สร้างสถานะบูโรใหม่เพิ่มโอกาสการอนุมัติสินเชื่อ

สถานะบูโร เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจ เพราะข้อมูลเหล่านี้จะสะท้อนพฤติกรรมรวมถึงวินัยทางการเงินของเราได้อย่างชัดเจนว่าการเงินของเรายังอยู่ในสภาพคล่องหรือไม่ และที่สำคัญข้อมูลเหล่านี้คือตัวช่วยในการเพิ่มโอกาสของการขอสินเชื่อได้อย่างราบรื่นเช่นกัน

ดังนั้น เริ่มก่อหนี้ที่ดี ด้วยการสร้างวินัย พร้อมรู้จักบริหารหนี้ให้อย่างมีประสิทธิภาพ หากใครที่อ่านบทความนี้จบแล้ว ไม่รู้จะเริ่มการซ่อมหนี้อย่างไร กรุงไทยขอชวนให้คุณเริ่มวางแผนกู้ที่ดี เพื่อชีวิตที่ดีกับ “สินเชื่อธนวัฏ” วงเงินสูง ดอกเบี้ยตามจริง ไม่มีผู้ค้ำประกันก็ทำได้ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ลดความเสี่ยงการเป็นหนี้เกินตัวเพื่ออนาคตทางการเงินที่ดี ถ้าพร้อมซ่อมสถานะบูโรแล้วแวะมาปรึกษากับกรุงไทย หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.krungthai.com

กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว *
อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 11.07% – 16.57% ต่อปี | อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง MRR = 7.57% ต่อปี (ณ วันที่ 20 พ.ย. 66) | อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ | วงเงินสูงสุด 15 เท่าของเงินเดือน สำหรับกรณีที่หน่วยงานต้นสังกัดทำบันทึกข้อตกลงกับธนาคาร (MOU) | เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด


เช็กสุขภาพการเงิน
พร้อมคอร์สเรียนที่เหมาะกับคุณ


เครดิตบูโรคืออะไร มีตัวเลขสถานะกี่แบบ พร้อมวิธี แก้เครดิตบูโร | ธนาคารกรุงไทย ทำความรู้จักสถานะบูโร กุญแจสู่ผลการอนุมัติสินเชื่อ เครดิตบูโรคืออะไร ติดแบล็คลิสแก้ยังไง กรุงไทยได้รวมคำตอบให้คุณหายข้อข้องใจแล้ว

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง