อัตราดอกเบี้ย MLR MRR MOR คืออะไร? พร้อมวิธีคำนวณก่อนกู้สินเชื่อ
ถ้าปีนี้ต้องมีรถ ปีหน้าต้องมีบ้าน ฉุกเฉินต้องรีบใช้เงิน! ความฝันของใครหลายคนที่อยากให้เป็นจริง แต่เงินไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจึงจำเป็นต้องกู้สินเชื่อจากธนาคาร สิ่งสำคัญที่ผู้กู้จำเป็นต้องรู้เมื่อกู้สินเชื่อจากธนาคารคืออัตราดอกเบี้ย MLR MRR และ MOR คืออะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับการคิดดอกเบี้ย กรุงไทยเลยรวบรวมความรู้เรื่องนี้มาฝากทุกคนให้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น
MLR MRR MOR คืออะไร?
MLR MRR และ MOR คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารใช้อ้างอิงในการเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้จากผู้กู้ ซึ่งมีลักษณะเป็นดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะประกาศออกมาเป็นคราว ๆ ไป
- MLR (Minimum Loan Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ เป็นต้น
- MRR (Minimum Retail Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ไม่มีประวัติเสียด้านการเงิน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น
- MOR (Minimum Overdraft Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชีหรือ Overdraft (OD) จึงทำให้ธนาคารจึงต้องเข้มงวดในการพิจารณาผู้กู้ ทั้งคุณสมบัติของผู้กู้ ประวัติทางการเงิน และหลักทรัพย์ประกัน เป็นต้น
สำหรับอัตราดอกเบี้ย MLR MRR MOR ที่คนคิดจะกู้สินเชื่อเพื่อซื้อรถหรือซื้อบ้านจำเป็นต้องรู้ เพราะคือต้นทุนของเงินทุน เมื่อตัดสินใจกู้สินเชื่อแล้วนี่คือต้นทุนที่ต้องจ่าย ดังนั้นต้องทำความเข้าใจว่าธนาคารคิดดอกเบี้ยอย่างไร เงื่อนไขต่างๆ เป็นอย่างไร เพื่อนำมาวางแผนการเงิน และความรู้เรื่องดอกเบี้ย จะช่วยลดต้นทุน บริหารต้นทุนได้ดีนั่นเอง
วิธีคิดดอกเบี้ยเงินกู้ แบ่งเป็น 2 แบบ
วิธีการคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารหลักๆ นั้นมี 2 แบบ โดยการคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้มีสิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนการคำนวณคือ ต้องรู้อัตราดอกเบี้ยของปีนั้น ๆ ก่อน ทั้งดอกเบี้ย MRR ดอกเบี้ย MOR และดอกเบี้ย MLR
1.ดอกเบี้ยเงินกู้แบบเงินต้นคงที่ (Flat Rate)
การคำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้นทั้งก้อนตั้งแต่เริ่มทำสัญญา และนำไปหารจำนวนงวดทั้งหมดที่ต้องผ่อนชำระ จะได้ดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ต้องจ่ายแต่ละงวด และแม้ว่าผู้กู้จะผ่อนชำระเงินต้นลดลงแล้ว แต่ดอกเบี้ยจะไม่ลดลงตาม อัตราดอกเบี้ยรูปแบบนี้จะนิยมกับรูปแบบสินเชื่อรถ
สูตรการคำนวณ
“เงินต้น x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x ระยะเวลา = ดอกเบี้ยทั้งหมดที่ต้องชำระให้ธนาคาร”
ตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นคงที่
นางสาวดีใจยื่นขอสินเชื่อรถกับธนาคารเป็นจำนวนวงเงิน 1,000,000 บาท
โดยธนาคารคิดดอกเบี้ยคงที่ 6% ต่อปี เป็นเวลา 4 ปี เงินต้น x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x ระยะเวลา = ดอกเบี้ยที่ต้องชำระทั้งหมด 1,000,000 x 6% x 4 = 240,000 บาท
สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นคงที่เหมาะกับคนที่ต้องการผ่อนสบาย ๆ ในระยะยาว เพื่อ แบ่งเงินเก็บไว้เป็นสภาพคล่อง
2.ดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate)
การคำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือที่แท้จริง โดยจะเกิดขึ้นเมื่อผู้กู้ชำระเงินกู้แต่ละงวดแล้วถูกนำมาลดยอดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยที่ถูกนำมาคำนวณในงวดถัดไปลดลง ดังนั้นหากผู้กู้ต้องการให้หนี้สินหมดไว สามารถทำได้ด้วยวิธีโปะเงินก้อน กล่าวคือยิ่งเงินต้นลดลงเท่าไหร่ ดอกเบี้ยก็จะน้อยลงเท่านั้น อัตราดอกเบี้ยรูปแบบนี้จะนิยมกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย
สูตรการคำนวณ
“ค่างวดต่อเดือน - ดอกเบี้ยต่องวด = เงินต้นต่อเดือนที่ชำระ”
ตัวอย่าง
นายสมหวังยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับธนาคารเป็นจำนวนวงเงิน 2,000,000 บาท ทำสัญญากู้ยืมในวันที่ 1 มิถุนายน
โดยมีการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกอยู่ที่ 3% ต่อปี ยังไม่ได้มีการผ่อนชำระ และค่างวดต่อเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท กู้ 30 ปี
ดอกเบี้ยในงวดแรกที่ต้องชำระ คือ
เงินต้น x ดอกเบี้ยต่อปี x 30 / 365
(2,000,000 x 3% X 30) / 365 = 4931.51 บาท
เงินต้นที่ต้องจ่ายในงวดนั้น คือ
ค่างวดต่อเดือน – ดอกเบี้ยต่องวด
10,000 – 4931.51 = 5068.49
เงินต้นคงเหลือ คือ
เงินต้นทั้งหมด – เงินต้นที่ต้องจ่ายในงวดนั้น
2,000,000 – 5068.49 = 1,994,931.51
สำหรับในเดือนต่อไป ดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นลดดอกจะคิดคำนวณจากเงินต้นคงเหลือ ดังนั้นยิ่งผ่อนเงินต้นมากเท่าไหร่ ดอกเบี้ยก็จะลดลงเท่านั้น ทำให้งวดหลัง ๆ ของการชำระค่างวดสัดส่วนของเงินต้นจะมากกว่าดอกเบี้ยนั่นเอง ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกจึงเหมาะกับคนที่ไม่อยากมีหนี้ผูกพันเป็นระยะเวลานาน และอยากรีบโปะเงินต้นให้ยอดหนี้ลดลงไว ๆ
เมื่อรู้จักอัตราดอกเบี้ย MLR MRR และ MOR คืออะไร และแตกต่างกันยังไงแล้ว หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับผู้สนใจวางแผนการเงินในอนาคต เพื่อให้บริหารการเงินได้ดีและมีสภาพคล่อง และหากคุณกำลังมองหาสินเชื่อเพื่อกู้ ธนาคารกรุงไทยมีบริการสินเชื่อให้เลือกหลายประเภท อาทิ
- สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ* มอบเงินสำรองพร้อมใช้รองรับเรื่องฉุกเฉิน ให้วงเงินกู้สูงสุดถึง 15 เท่าของเงินเดือน มีหรือไม่มีผู้ค้ำประกันก็ได้ คิดดอกเบี้ยตามจำนวนเงินใช้จริง ถ้าไม่ใช้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
- สินเชื่อบ้าน** ธนาคารกรุงไทยมีสินเชื่อบ้าน ดอกเบี้ยต่ำ หลากหลายรูปแบบจากธนาคารกรุงไทย ทั้งสินเชื่อซื้อบ้านใหม่ สินเชื่อสำหรับสร้างบ้าน สินเชื่อบ้านแลกเงิน และสินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์
เมื่อเลือกสินเชื่อที่เหมาะกับคุณแล้ว อย่าลืมศึกษาวิธีการคำนวณดอกเบี้ยเหล่านี้ไว้ด้วย เพื่อช่วยในการวางแผนชำระหนี้ได้อย่างคล่องตัวและเหมาะสมกับสถานะการเงินของคุณมากขึ้น ทั้งนี้สามารถเข้ามาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.krungthai.com เพื่อเลือกสินเชื่อที่ตรงใจที่สุดให้ตัวเอง พร้อมบริการทางการเงินอีกมากมาย
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
*อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 11.07% – 16.57% ต่อปี | อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง MRR = 7.57% ต่อปี (ณ วันที่ 20 พ.ย. 66) | อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ | วงเงินสูงสุด 15 เท่าของเงินเดือน สำหรับกรณีที่หน่วยงานต้นสังกัดทำบันทึกข้อตกลงกับธนาคาร (MOU)| เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
**สินเชื่อที่อยู่อาศัย อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุสัญญาอยู่ระหว่าง 5.24% - 5.43% ต่อปี | สินเชื่อกรุงไทยบ้านแลกเงิน เปลี่ยนบ้านเป็นเงิน อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุสัญญาอยู่ระหว่าง 6.34% - 6.66% ต่อปี) | สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุสัญญาอยู่ระหว่าง 5.03% - 5.21% ต่อปี | MLR = 7.05% ต่อปี (ณ วันที่ 20 พ.ย. 66) | อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ | เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด | ดูรายละเอียดการคำนวณที่ www.krungthai.com