เรียนรู้การเงิน

กองทุน Thai ESG คืออะไร ทำไมถึงน่าลงทุน

อัปเดตวันที่ 7 ก.ค. 2567

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ต้องรู้

กองทุน Thai ESG ก่อตั้งขึ้นโดยมีที่มาจากหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกที่ตื่นตัวจากปัญหาเรื้อรังของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้โลกเข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม หลายประเทศจึงมีเป้าหมายร่วมกันในการ Net Zero Emissions หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ให้ได้ในอนาคต

ทั้งนี้ยังต้องการส่งเสริมความยั่งยืน โดยแนวคิด ESG (Environment, Social, Governance) ที่ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศและระดับโลกได้วางเป้าหมายของ Net Zero ไว้ภายใน พ.ศ. 2608 เช่นกัน

กองทุน Thai ESG จึงเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีที่น่าทำความรู้จักสำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการลงทุน โดยกรุงไทยรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับกองทุน Thai ESG มาไว้ในบทความนี้แล้ว


กองทุน Thai ESG คืออะไร

กองทุน Thai ESG มีชื่อเต็มว่ากองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน คือกองทุนลดหย่อนภาษีตัวใหม่ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น ESG ไทย และ/หรือตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ESG Bond) ไทย โดยหุ้นกลุ่ม ESG เป็นหุ้นที่ให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ควบคู่กับการมีผลการดำเนินงานที่ดี

  • สิ่งแวดล้อม (Environmental) คือ การที่บริษัทใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ
  • สังคม (Social) คือ การบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรอย่างเท่าเทียม คำนึงถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานและสุขภาพของพนักงาน อีกทั้งการให้ความสำคัญกับชุมชุนที่อยู่รอบด้าน
  • บรรษัทภิบาล (Governance) คือ การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ต่อต้านการทุจริต มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทอย่างเป็นธรรม

กองทุน Thai ESG คืออะไร ทำไมกองทุน Thai ESG น่าลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี

SET ESG Ratings คืออะไร

SET ESG Ratings คือมาตรฐานคัดกรองหุ้นยั่งยืน ซึ่งใน พ.ศ. 2566 ได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก SET THSI มาเป็นหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings และประกาศผลการประเมินในรูปแบบ ESG Ratings ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อตอบรับกับการเปิดตัวกองทุน Thai ESG ในปีเดียวกันที่มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่าจะต้องลงทุนกับสินทรัพย์ที่ได้รับการรับรอง SET ESG Ratings ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น

เกณฑ์ในการพิจารณาบริษัทที่จะเข้าไปอยู่ในกองทุน SET ESG

บริษัทที่สมัครใจขอยื่นเข้ารับการพิจารณา SET ESG Ratings จากตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องมีคุณสมบัติหลัก 3 ข้อด้วยกัน ถ้าหากไม่มีคุณสมบัติตามนี้จะถูกคัดออกทันที ได้แก่

  • ต้องไม่ส่งงบช้า
  • ต้องมีผลกำไรสุทธิอย่างน้อย 3 ใน 5 ปี
  • ไม่เคยถูกทางการลงโทษในประเด็นของ ESG

ระดับของ SET ESG Ratings

เมื่อผ่านคุณสมบัติข้างต้นเรียบร้อยแล้ว บริษัทเหล่านี้จะถูกคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อทำการแบ่งระดับอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะมีบริษัทที่ได้รับคะแนนประเมินเกิน 50% เท่านั้น ถึงจะได้รับ ESG Ratings โดยจะมีด้วยกัน 4 ระดับ ได้แก่

  1. AAA สำหรับบริษัทที่ได้คะแนนประเมิน 90-100 คะแนน
  2. AA สำหรับบริษัทที่ได้คะแนนประเมิน 80-89 คะแนน
  3. A สำหรับบริษัทที่ได้คะแนนประเมิน 65-79 คะแนน
  4. BBB สำหรับบริษัทที่ได้คะแนนประเมิน 50-64 คะแนน

เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีของกองทุน Thai ESG

  • กองทุน Thai ESG ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และลงทุนสูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาทโดยไม่มีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ
  • วงเงินลงทุนของ Thai ESG ไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบชำนาญ ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท เท่ากับว่าจะได้วงเงินลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจาก Thai ESG 100,000 บาท และเมื่อนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ จะลดหย่อนได้สูงสุดถึง 600,000 บาท
  • ระยะเวลาการลงทุน Thai ESG ต้องถือลงทุนเป็นเวลา 8 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อ (นับแบบวันชนวัน ไม่ใช่นับแบบปฏิทิน) ซื้อปีไหน ลดหย่อนปีนั้น และไม่บังคับว่าต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ระยะเวลาในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ ลดหย่อนได้ระหว่างปี พ.ศ. 2566 – 2575

ความเหมือนและความต่างของกองทุน Thai ESG, RMF และ SSF


ด้านระยะเวลาการลงทุน

  • Thai ESG: ถือลงทุน 8 ปีนับจากวันที่ซื้อ ไม่บังคับซื้อทุกปี
  • SSF: ถือลงทุน 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ ไม่บังคับซื้อทุกปี
  • RMF: ถือลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี แบบวันชนวัน ปีชนปี สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน (ซื้อปีเว้นปีได้)

ด้านสินทรัพย์ที่ลงทุนได้

  • Thai ESG: หุ้นไทยและตราสารหนี้ไทยที่เข้าหลักเกณฑ์ ESG
  • SSF กับ RMF: ลงทุนได้หลากหลายสินทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี

  • Thai ESG: ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 100,000 บาท
  • SSF: ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • RMF: ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ

วิธีเลือกกองทุน Thai ESG

วิธีการเลือกกองทุน Thai ESG สามารถเลือกประเภทของกองทุน และระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้จากทั้ง 3 กลุ่มด้วยกัน
กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มตราสารหนี้ อย่างเช่น Green Bond หรือ Social Bond (ระดับความเสี่ยง: ต่ำ) เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการความมั่นคง
            และอยากได้ผลตอบแทนที่มากกว่าฝากเงินในธนาคาร
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มผสม อย่างเช่นกองทุน Flexible ที่มีบางส่วนลงทุนในหุ้น ESG และบางส่วนลงทุนในตราสารหนี้ ESG (ระดับความเสี่ยง: ปานกลาง)
            เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง และต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้น และเพื่อกระจายความเสี่ยง
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มหุ้นล้วน ที่ลงทุนในกลุ่มหุ้น ESG เท่านั้น (ระดับความเสี่ยง: สูง) เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น และยอมรับความเสี่ยงสูงได้

กองทุน Thai ESG คืออะไร วิธีเลือกกองทุน ESG ให้เหมาะกับตัวเอง

กองทุน Thai ESG เหมาะกับใคร

  • ผู้ที่มีเป้าหมายการลงทุนให้เงินเติบโตในระยะยาว
  • ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุน
  • ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นผู้ที่มีฐานภาษีสูง
  • ผู้ที่มองเห็นโอกาสเติบโตในหุ้นยั่งยืน พร้อมกับดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ในประเทศไทย

สำหรับกองทุน Thai ESG นับเป็นกองทุนที่มีความมั่นคงและมีการเติบโตที่ดี ตอบรับกับเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยในระยะยาวจึงเป็นการลงทุนที่เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของโลก สำหรับธนาคารกรุงไทยขอแนะนำกองทุน Thai ESG ที่มีให้เลือก 3 นโยบาย ได้แก่

  • กองทุนเปิดกรุงไทย ESG A Grade 70/30 (KTAG70/30-ThaiESG) เป็นกองทุนผสม เน้นลงทุนในหุ้นที่มี ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป เฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 70% ของ NAV และตราสารหนี้ เฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่เกิน 30% ของ NAV บริหารแบบ Active สามารถปรับพอร์ตให้เหมาะสมได้ทุกสถานการณ์ (ความเสี่ยงกองทุนระดับ: 5) เหมาะกับผู้ที่ต้องการกระจายลงทุนและไม่อยากลงทุนในหุ้น 100% และมุ่งหวังผลตอบแทนที่สูงดัชนีอ้างอิง
  • กองทุนเปิดกรุงไทย ESG50 (KTESG50-ThaiESG) เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ประมาณ 50 ตัวแรกที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด ที่อยู่ในดัชนี SETESG ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและอยู่ใน Universe ของบริษัทจัดการ เฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV บริหารแบบ Active (ความเสี่ยงกองทุนระดับ: 6) จุดเด่นคือ เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีความความมั่นคงและมีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนในกองทุน Thai ESG ที่เน้นหุ้นขนาดใหญ่และมุ่งหวังผลตอบแทนที่สูงดัชนีอ้างอิง
  • กองทุนเปิดกรุงไทย ESG A Grade (KTAG-ThaiESG) เน้นลงทุนหุ้นที่มี ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป เฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV บริหารแบบ Active (ความเสี่ยงกองทุนระดับ: 6) จุดเด่นคือมีกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่นสามารถลงทุนได้ในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงและสร้างโอกาสเติบโตผ่านหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงและมุ่งหวังผลตอบแทนที่สูงดัชนีอ้างอิง

สำหรับผู้ที่สนใจกองทุน Thai ESG ธนาคารกรุงไทยมีผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนมากมายไม่ว่าจะเป็น กองทุน RMF/SSF/Thai ESG หรือจะเป็นกองทุนที่ไปลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศอย่าง FIF หรือ ETF โดยผู้ลงทุนสามารถซื้อกองทุน Thai ESG กับกรุงไทยได้ง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชั่น Krungthai NEXT

กองทุน Thai ESG คืออะไร ทำไมถึงน่าลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี | ธนาคารกรุงไทย กองทุน Thai ESG คืออะไร กองทุน Thai ESG ลดหย่อนภาษีต่างจาก RMF SSF อย่างไร พร้อมวิธีเลือกกองทุน Thai ESG ให้เหมาะกับตัวเองที่สุด

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง