เงินเดือนเท่าไหร่เสียภาษี และมีวิธีคิดภาษีอย่างไร
เงินเดือนเท่านี้ ต้องเสียภาษีไหม ปัญหาคาใจของวัยทำงานหน้าใหม่ที่ยังอ่อนประสบการณ์ด้านภาษี บางคนที่ทำงานมาสักพักก็อยากรู้ว่ามีรายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี บ้าง หรือบางคนอาจจะสงสัยด้วยว่าเริ่มต้นเงินเดือน 20,000 เสียภาษีเท่าไหร่ ใครที่คิดว่ารายได้ยังไม่มาก ไม่ต้องยื่นภาษี ก็ไม่จริงเสมอไปเช่นกัน ดังนั้นลองมาเริ่มศึกษากันดีกว่า ว่าต้องได้เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี
ก่อนอื่นมารีเช็กความเข้าใจกันก่อนว่า “ภาษี” หมายถึงเงินที่รัฐบาลเก็บจากประชาชนมาเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งมีหลายวิธีในการเรียกเก็บ และมีอัตราภาษีต่างกันไป โดยภาษีที่คนทำงานต้องจ่ายเรียกว่า “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ที่เรียกเก็บเมื่อเรามีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือรายได้รวมถึงเกณฑ์ที่กำหนด
เงินเดือนเท่าไหร่เสียภาษีอย่างไร
ตามระเบียบของสรรพากรได้ระบุว่า ผู้ที่มีรายได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน รวมถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน หากรวมทั้งหมดไม่เกิน 120,000 บาทต่อปี ไม่จำเป็นต้องยื่นภาษีเงินได้ ดังนั้นหากใครเงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท ก็หมดห่วงเรื่องการยื่นภาษีได้เลย
ทีนี้มาดูกันต่อว่ารายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี อันดับแรกต้องคำนวณรายได้สุทธิของปีโดยใช้สูตร
"รายได้ตลอดทั้งปี - ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = รายได้สุทธิ”
รายได้ตลอดทั้งปีคือเงินเดือนที่เราได้รับจากนายจ้าง รวมทั้งโบนัส และอื่น ๆ ตามมาตร 40(1) ส่วนค่าใช้จ่ายจะคิดเป็น 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 60,000 บาท และประกันสังคมอีก 9,000 บาทต่อปี นอกจากนี้เราสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น ๆ รวมอยู่ในค่าลดหย่อนได้ตามเงื่อนไข
เนื่องจากอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในบ้านเราได้กำหนดให้บุคคลที่มีเงินได้สุทธิต่อปีตั้งแต่ 150,001 บาทขึ้นไปต้องเสียภาษี เราจึงต้องมานำเงินได้สุทธิยอดนี้มาคำนวณกลับ เพื่อหาเรทเงินเดือนที่ต้องเสียภาษี ก็จะได้ดังต่อไปนี้
เงินได้สุทธิ 150,001 บาท
บวก ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
บวก เงินสะสมประกันสังคม 9,000 บาท
รายได้รวม 319,001 บาท
จะเห็นว่า ผู้ที่มีรายได้รวมต่อปี 319,001 บาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษี ดังนั้น คำตอบของคำถามที่ว่า รายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี ก็คือเดือนละ 26,583 บาทขึ้นไปนั่นเอง
สรุปอีกครั้งว่าเงินเดือนเท่าไหร่เสียภาษี ก็คือสำหรับผู้ที่มีเงินเดือนต่อปีไม่เกิน 120,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี หากมีเงินเดือนมากกว่า 120,000 บาทต่อปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 150,000 บาท จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี แม้ว่ารายได้จะยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษี ส่วนผู้ที่มีรายได้สุทธิต่อปีรวม 150,001 บาทขึ้นไป จะต้องจ่ายภาษีแน่นอน โดยมีอัตราภาษีอยู่ที่ 5 – 35% คิดเป็นขั้นบันไดดังนี้
เงินได้สุทธิต่อปี | อัตราภาษี |
ไม่เกิน
150,000 บาท |
ไม่ต้องเสียภาษี
|
ตั้งแต่ 150,001 บาท - 300,000 บาท |
5% |
ตั้งแต่ 300,001 บาท - 500,000 บาท |
10% |
ตั้งแต่ 500,001 บาท - 750,000 บาท |
15% |
ตั้งแต่ 750,001 บาท - 1,000,000 บาท |
20% |
ตั้งแต่ 1,000,001 บาท - 2,000,000 บาท |
25% |
ตั้งแต่ 2,000,001 บาท - 5,000,000 บาท |
30% |
ตั้งแต่ 5,000,001 บาท ขึ้นไป |
35% |
การคำนวณภาษี และการลดหย่อนภาษี
มาถึงตรงนี้ มนุษย์เงินเดือนหน้าใหม่น่าจะหายข้องใจแล้วว่าเงินเดือน 20,000 เสียภาษีเท่าไหร่ ในปีที่ผ่านมาก็น่าจะได้คำตอบแล้ว แต่คำถามถัดมาก็คือว่า หากรายได้ต่อเดือนของเราถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี จะคำนวณเบื้องต้นอย่างไร และพอมีวิธีไหนที่ลดหย่อนภาษีได้บ้าง
เมื่อเราคำนวณเงินได้สุทธิออกมาแล้วอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษี ก็ให้เอาตัวเลขเงินได้สุทธิไปเทียบหาอัตราภาษีในตารางข้างต้น และนำมาคำนวณเป็นเงินภาษีที่ต้องชำระ ด้วยสูตร “ภาษีที่ต้องชำระ = เงินได้สุทธิ × อัตราภาษี (5-35%)”
หลายคนพอรู้แล้วว่ารายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี และเริ่มเห็นจำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่าย ก็มักจะมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ซึ่งนอกเหนือจากค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาทแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์การเงินที่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ด้วย อาทิ
การทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพสำหรับกรมธรรม์ที่ความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป นำมาลดหย่อนภาษีตามจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท หรือประกันบำนาญนำมาลดหย่อนภาษีสูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุน RMF หรือกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งทางกรุงไทยก็มีผลิตภัณฑ์ด้านประกันชีวิตและ ประกันสุขภาพ มากมายที่ตอบโจทย์ทุกสถานการณ์ ให้คุณได้เลือกสมัครเพื่อคุ้มครองทั้งชีวิตและสุขภาพ แถมได้ลดหย่อนภาษีอีกด้วย
ลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี เลือกได้ทั้งกองทุน RMF และ SSF โดยกองทุน RMF สามารถลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้สุทธิ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท หากเป็นกองทุน SSF สามารถลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้สุทธิสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่เท่านี้ยังไม่พอ เพราะการลงทุนในกองทุน RMF และ SSF นอกจากได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว ยังมีโอกาสให้เงินงอกเงยจากการลงทุนได้อีกต่อ โดยเฉพาะเมื่อต้องลดทุนระยะยาวตามเงื่อนไขของการลดหย่อนภาษีแล้ว ยิ่งเพิ่มโอกาสทำกำไรได้ยิ่งขึ้น
ปัจจุบันมีกองทุนลดหย่อนภาษีให้เลือกมากมาย หลายสไตล์การลงทุน โดยเฉพาะคนที่เพิ่มเริ่มต้นทำงาน มีระยะเวลาสะสมเงินนานและรับความผันผวนได้มาก ก็สามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้หลากหลาย ซึ่งธนาคารกรุงไทยก็มีกองทุน SSF และ RMF ที่ลงทุนในหลายสินทรัพย์ให้เลือกลงทุน แนะนำให้ศึกษารายละเอียดกองทุนให้ดี แล้วลงทุนเพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษี และโอกาสรับผลตอบแทนอีกต่อจากกองทุนได้เลย ง่าย ๆ แค่ คลิก
มากไปกว่านั้น ในบางปีรัฐบาลยังออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จูงใจให้เกิดการจับจ่ายภายในประเทศด้วยการให้สิทธินำมาลดหย่อนภาษี เช่นโครงการช้อปดีมีคืน ที่ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มสูงสุด 40,000 บาท หรือถ้าใครชอบทำบุญ การให้ของเราก็นำมาลดหย่อนภาษีในส่วนของเงินบริจาคได้ตามจริง หรือบางรายการเช่น การบริจาคให้โรงพยาบาล ก็นำมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของยอดเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน
เมื่อเข้าใจว่ารายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษีแล้ว น่าจะช่วยลดความสับสนและเรื่องชวนปวดหัวกับการยื่นภาษีทุกต้นปีลงได้ ที่สำคัญคือทำให้เราสามารถรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีของตัวเองได้ด้วย เช่นการซื้อประกัน หรือกองทุน SSF/ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีเป็นประจำทุกปี แต่อย่างไรก็ดี ใครที่เลือกลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีต้องไม่ลืมศึกษาเงื่อนไขทางภาษี และทำความเข้าใจลักษณะสินค้า ความเสี่ยง และการรับผลตอบแทนก่อนตัดสินใจลงทุนเสมอ