เรียนรู้การเงิน

เตรียมพร้อมทำความรู้จักกับ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ฉบับเข้าใจง่ายภายใน 5 นาที

อัปเดตวันที่ 6 มี.ค. 2567

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566 ที่ควรรู้

เตรียมความพร้อมให้กับผู้เสียภาษีมือใหม่! มาทำความรู้จักกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือเรียกสั้น ๆ ว่าภาษีที่ดิน ซึ่งเป็นภาษีสำหรับเจ้าของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 13 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้รัฐบาลมีการปรับลดอัตราภาษีที่ดินมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร? และใครต้องเป็นผู้เสียภาษีที่ดิน กรุงไทยพร้อมชี้แนะเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและภาษีที่ดินว่างเปล่าให้ผู้เสียภาษีมือใหม่ได้เข้าใจง่าย ๆ ผ่านบทความนี้แล้ว


ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ ภาษีที่จัดเก็บตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง


ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ ภาษีที่จัดเก็บตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องจ่ายให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเทศบาล อบต. จะเป็นผู้เรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะต้องชำระหรือเสียภาษีที่ดินที่สำนักงานเขต และในส่วนของเมืองพัทยาจะต้องชำระที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา

ตามความเป็นจริงแล้ว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นับว่าเป็นภาษีรูปแบบใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้น และนำมาทดแทนการจัดเก็บภาษีตามพระราชบัญญัติ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ โดยปรับเปลี่ยนระบบให้มีความทันสมัย ลดความซับซ้อน และความเหลื่อมล้ำทางสังคม อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งหมดนี้ คือที่มาของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 และเริ่มจัดเก็บครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 นั่นเอง


4 ประเภทของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ควรรู้

รูปแบบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นถูกแบ่งย่อยออกมาถึง 4 ประเภท คือ ภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม, ภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย, ภาษีที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม และภาษีที่ดินว่างเปล่า ทั้งหมดนี้ถูกจัดสรรตามประเภทรูปแบบการใช้งานของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ โดยมีข้อกำหนดและอัตราภาษีที่แตกต่างกันออกไป

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีการลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สูงถึง 15% ตามปีภาษี 2566 มาอัปเดตข้อมูลอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้ง 4 ประเภทไปพร้อมกันเลย


1. ภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

คือภาษีสำหรับที่ดินที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม ซึ่งจะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตรา 0.01 - 0.1% โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • ผู้เสียภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในรูปแบบบุคคลธรรมดา
มูลค่าที่ดิน อัตราภาษีที่ดิน
0 - 50 ล้านบาท
อัตราภาษีที่ดิน ได้รับการยกเว้นภาษี
50 - 125 ล้านบาท 0.01%
(ล้านละ 100 บาท)
125 - 150 ล้านบาท 0.03%
(ล้านละ 300 บาท)
150 - 550 ล้านบาท 0.05%
(ล้านละ 500 บาท)
550 - 1,050 ล้านบาท 0.07%
(ล้านละ 700 บาท)
1,050 ล้านบาทขึ้นไป 0.1%
(ล้านละ 1,000 บาท)

ข้อมูลปี 2565 เป็นต้นไป: มาตรา 3(1) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564


  • ผู้เสียภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในรูปแบบอื่น
มูลค่าที่ดิน อัตราภาษีที่ดิน
0 - 75 ล้านบาท
0.01% 
(ล้านละ 100 บาท)
75 - 100 ล้านบาท 0.03% 
(ล้านละ 300 บาท)
100 - 500 ล้านบาท 0.05% 
(ล้านละ 500 บาท)
500 - 1,000 ล้านบาท 0.07% 
< (ล้านละ 700 บาท)
1,000 ล้านบาทขึ้นไป 0.1% 
(ล้านละ 1,000 บาท)

ข้อมูลปี 2565 เป็นต้นไป: มาตรา 3(1) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564


2. ภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย

คือ ภาษีสำหรับที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ซึ่งจะต้องเสียภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในอัตราตั้งแต่ 0.02 - 0.1% โดยแบ่งตามประเภทของเจ้าของที่ดิน ดังนี้

  • ผู้เสียภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในรูปแบบบุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว 
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
0 - 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี 
50 - 75 ล้านบาท 0.03%
(ล้านละ 300 บาท)
75 - 100 ล้านบาท 0.05%
(ล้านละ 500 บาท)
100 ล้านบาทขึ้นไป 0.1% 
(ล้านละ 1,000 บาท)


ข้อมูลปี 2565 เป็นต้นไป: มาตรา 3(2)(ก) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564

  • ผู้เสียภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในรูปแบบบุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว 
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
0 - 10 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี 
10 - 50 ล้านบาท 0.02%
(ล้านละ 200 บาท)
50 - 75 ล้านบาท 0.03%
(ล้านละ 300 บาท)
75 - 100 ล้านบาท 0.05%
(ล้านละ 500 บาท)
100 ล้านบาทขึ้นไป 0.1% 
(ล้านละ 1,000 บาท)



ข้อมูลปี 2565 เป็นต้นไป: มาตรา 3(2)(ข) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564

  • ผู้เสียภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในรูปแบบบุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง 2 หลังขึ้นไป
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
10 - 50 ล้านบาท 0.02%
(ล้านละ 200 บาท)
50 - 75 ล้านบาท 0.03%
(ล้านละ 300 บาท)
75 - 100 ล้านบาท 0.05%
(ล้านละ 500 บาท)
100 ล้านบาทขึ้นไป 0.1% 
(ล้านละ 1,000 บาท)



ข้อมูลปี 2565 เป็นต้นไป: มาตรา 3(2)(ค) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564

3. ภาษีที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม

คือ ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เชิงพาณิชย์ เช่น ออฟฟิศ สำนักงาน โรงแรม รวมถึงธุรกิจร้านอาหาร โดยมีอัตราเสียภาษีที่ดินตั้งแต่ 0.3 - 0.7% ดังนี้

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
0 - 50 ล้านบาท 0.3%
(ล้านละ 3,000 บาท)
50 - 200 ล้านบาท 0.4%
(ล้านละ 4,000 บาท)
200 - 1,000 ล้านบาท 0.5%
(ล้านละ 5,000 บาท)
1,000 - 5,000 ล้านบาท 0.6%
(ล้านละ 6,000 บาท)
5,000 ล้านบาทขึ้นไป 0.7% 
(ล้านละ 7,000 บาท)



ข้อมูลปี 2565 เป็นต้นไป: มาตรา 3(3) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564


4. ภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า

คือ ภาษีสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ และปล่อยให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่รกร้าง โดยพื้นที่ส่วนนี้จะต้องเสียภาษีที่ดินว่างเปล่าตั้งแต่ 0.3 - 0.7% เช่นกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
0 - 50 ล้านบาท 0.3%
(ล้านละ 3,000 บาท)
50 - 200 ล้านบาท 0.4%
(ล้านละ 4,000 บาท)
200 - 1,000 ล้านบาท 0.5%
(ล้านละ 5,000 บาท)
1,000 - 5,000 ล้านบาท 0.6%
(ล้านละ 6,000 บาท)
5,000 ล้านบาทขึ้นไป 0.7%
(ล้านละ 7,000 บาท)



ข้อมูลปี 2565 เป็นต้นไป: มาตรา 3(4) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564


ใครคือผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง?


ใครเสียภาษีที่ดิน / สูตรคำนวณการเสียภาษีที่ดิน


เมื่อทราบอัตราภาษีเบื้องต้นของสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว ลำดับต่อไปก็ต้องรู้ว่าใครจะเป็นผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเกณฑ์การรับผิดชอบนี้จะพิจารณาจากความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยอ้างอิงตามชื่อที่มีอยู่ในโฉนดที่ดิน ไม่ใช่ตามทะเบียนบ้าน

    ผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้
  • ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
  • ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ (สามารถเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้)


เกร็ดความรู้เพิ่มเติมสำหรับผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

  • หากคุณเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จะต้องรับผิดชอบเรื่องการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปีนั้นเป็นต้นไป
  • ในกรณีที่มีชื่อเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร่วมกันหลายท่าน ทุกท่านที่มีรายชื่อในโฉนดดังกล่าวจะต้องเป็นผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร่วมกัน
  • ในกรณีที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นคนละคนกัน การเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะต้องแบ่งหน้าที่การรับผิดชอบระหว่างที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามชื่อในโฉนดดังกล่าวนั่นเอง


กรณีเลี่ยงการจ่ายภาษีที่ดิน

การเลี่ยงการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีบทลงโทษ ดังนี้

โทษทางอาญา

ผู้ที่แจ้งข้อความเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โทษปรับ

ในกรณีที่ไม่ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด จะมีเบี้ยปรับดังนี้

  1. เสียเบี้ยปรับ 10% ของภาษีค้างชำระ หากชำระล่าช้าแต่ชำระก่อนได้รับหนังสือแจ้งเตือน
  2. เสียเบี้ยปรับ 20% ของภาษีค้างชำระ หากชำระล่าช้าแต่ชำระภายในระยะเวลาที่แจ้งในหนังสือแจ้งเตือน
  3. เสียเบี้ยปรับ 40% ของภาษีค้างชำระ หากชำระล่าช้าเกินเวลาจากหนังสือแจ้งเตือนที่ได้รับ

เงินเพิ่ม

นอกจากเบี้ยปรับแล้ว ยังต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 1% ต่อเดือนของเงินภาษีค้างชำระ โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาชำระภาษีจนถึงวันที่ชำระภาษี แต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ

ทั้งนี้ การเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ผู้ครอบครองหรือเจ้าของที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างจำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษที่กล่าวข้างต้น


กรุงไทยขอแชร์สูตรคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้คุณได้รู้

ผู้เสียภาษีมือใหม่เตรียมกระดาษปากกาให้พร้อม เพราะกรุงไทยจะมาแชร์สูตรคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับวิธีการคำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีในแต่ละขั้น บอกเลยว่าวิธีนี้คำนวณง่าย ไม่ซับซ้อน อย่ารอช้า…มาจดสูตรไว้ใช้กันได้เลย


1. วิธีคำนวณภาษีที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง

สูตรการคำนวณภาษีที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง คือ มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
ตัวอย่างการคำนวณภาษีที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง

  • A ครอบครองที่ดินเพื่อการเกษตร มูลค่า 70 ล้านบาท
  • อ้างอิงตามกฎหมายที่ดินมูลค่า 50 - 75 ล้านบาท จะมีอัตราภาษีเพื่อการเกษตร 0.03% คำนวณตามสูตรได้ดังนี้ 70,000,000 x 0.03% = 21,000 บาท
  • จำนวนภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรที่ A ต้องจ่ายคือ 21,000 บาท


2. วิธีคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

สูตรการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
ตัวอย่างการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

  • B ครอบครองที่ดิน มูลค่า 65 ล้านบาท และมีสิ่งปลูกสร้างมูลค่า 10 ล้านบาท
  • อ้างอิงตามกฎหมายที่ดินมูลค่า 50 - 75 ล้านบาท จะมีอัตราภาษีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 0.03% คำนวณตามสูตรได้ดังนี้ (65,000,000 + 10,000,000) x 0.03% = 22,500 บาท
  • จำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ B ต้องจ่ายคือ 22,500 บาท


3. วิธีคำนวณภาษีสำหรับห้องชุด

สูตรการคำนวณภาษีที่ดินสำหรับห้องชุด คือ มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
ตัวอย่างการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

  • C ครอบครองห้องชุด มูลค่า 60 ล้านบาท
  • อ้างอิงตามกฎหมายที่ดินมูลค่า 50 - 75 ล้านบาท จะมีอัตราภาษีสำหรับห้องชุด 0.03% คำนวณตามสูตรได้ดังนี้ 60,000,000 x 0.03% = 18,000 บาท
  • จำนวนภาษีที่ดินสำหรับห้องชุดที่ C ต้องจ่ายคือ 18,000 บาท

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนับเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรศึกษาไว้ เพราะถือเป็นกฎหมายใหม่ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน และกรุงไทยเชื่อว่าข้อมูลจากบทความข้างต้นนี้อาจกลายเป็นคู่มือการเสียภาษีที่ดินชั้นดีให้กับคุณในอนาคตได้อย่างแน่นอน เพราะเราได้รวบรวมเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ที่นี่แบบครบจบในม้วนเดียวแล้ว และสำหรับใครที่กำลังวางแผนมองหาที่ดินทำเลดี เราพร้อมให้คำแนะนำที่ดินทำเลดี ราคาพิเศษ แถมยังมีหลากหลายประเภทให้คุณได้เลือกสรรกับทรัพย์สินในแบบที่คุณต้องการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารกรุงไทย หรือ ทรัพย์สินพร้อมขายทำเลดีกับกรุงไทย

อ้างอิง: REIC iTAX


เช็กสุขภาพการเงิน
พร้อมคอร์สเรียนที่เหมาะกับคุณ


สรุป! ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมวิธีคำนวนภาษี | ธนาคารกรุงไทย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร ใครเป็นผู้เสียภาษีที่ดิน วันนี้กรุงไทยพามาไขข้อข้องใจให้ผู้เสียภาษีมือใหม่ทุกท่านได้กระจ่าง ไปดู