เรียนรู้การเงิน

อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เตรียมตัวกับธุรกิจ สู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อัพเดทวันที่ 13 ก.พ. 2567

อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เตรียมตัวกับธุรกิจ สู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมแทบทุกสถาบัน หันเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจของตัวเองก้าวเข้าสู่ อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) มากยิ่งขึ้น ยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมด้วยทัศนคติที่ดีต่ออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความเข้าใจรวมถึงการยอมรับระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งสถาบันการเงินอย่างธนาคารกรุงไทย ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ให้การสนับสนุน อุตสาหกรรมสีเขียวด้วยเช่นกัน และวันนี้กรุงไทยก็พร้อมพาทุกคนเตรียมตัวกับธุรกิจของตัวเอง สู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยยุทธศาสตร์ “อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)”


“อุตสาหกรรมสีเขียว” ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม


“อุตสาหกรรมสีเขียว” ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม


อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry คือ อุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในการประกอบธุรกิจ หรือกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ให้ภาคอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

โดยยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมสีเขียวนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน


การพัฒนาธุรกิจสู่ความสมดุลได้อย่างยั่งยืน คือหัวใจสำคัญของ “อุตสาหกรรมสีเขียว”

วัตถุประสงค์หลักของอุตสาหกรรมสีเขียวนั้น คือ ต้องการทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถอยู่ร่วมกับสังคม และชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้นำหลักการบริหารจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management – TQM) และหลักการสร้างความสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Triple Bottom Line) ทำการพัฒนาและปรับปรุงเป็นแนวทางของอุตสาหกรรมสีเขียว ภายใต้ 2 แนวคิดหลัก คือ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) และ การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)

นอกจาก 2 แนวคิดหลักข้างต้นที่จะเป็นตัวช่วยในการสร้างความสมดุลและเสริมความยังยืนให้แก่องค์กรแล้ว ยังมีอีก 3 ปัจจัยที่ทำให้แนวทางของอุตสาหกรรมสีเขียวแข็งแกร่งขึ้นอีกด้วยเช่นกัน ประกอบไปด้วย


1. การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต

ปัจจัยนี้จะคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและความสะอาด (Environmental Friendly – Green and Clean) โดยเน้นสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องต่ออุตสาหกรรมสีเขียว เช่น อุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society), สังคมที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience Society) และอุตสาหกรรมที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (Green Growth Industry) เป็นต้น


2. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

เพื่อให้องค์กรของเราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการที่ดี และพร้อมปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องต่ออุตสาหกรรมสีเขียวอย่างต่อเนื่อง จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์แบบ


3. ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทุกองค์กรควรคำนึงถึง คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นทิศทางและแนวทางในการขับเคลื่อนหลักของอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งสอดคล้องต่อนโยบายของรัฐบาลในการสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และการอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


5 หลักสำคัญของอุตสาหกรรมสีเขียวตัวช่วยสำคัญในการสร้างธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้มีการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยผนึกกำลังกับทุกหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงสถาบันเครือข่าย สำนักงานอุตสาหกรรม จังหวัดและนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศในการส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจทุกภูมิภาคใส่ใจในการดําเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สู่การเป็น “อุตสาหกรรมสีเขียว” ใน 5 ระดับ ดังนี้


1. ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment)

เริ่มต้นด้วยการสร้างความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากภายในองค์กร และแสดงความมุ่งมั่นผ่านนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมายและแผนงานที่ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จ


2. ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity)

ต่อด้วยการลงมือทำ “ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity)” หรือการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้


3. ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System)

เพื่อให้ความมุ่งมั่นและปฏิบัติการสีเขียวประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 3 หรือ ระบบสีเขียว (Green System) จะช่วยบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้เป็นระบบได้อย่างดี


4. ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture)

วัฒนธรรมสีเขียว คือ การที่ทุกคนในองค์กรให้ความร่วมมือร่วมใจดำเนินงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องต่ออุตสาหกรรมสีเขียว และปฏิบัติร่วมกันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร


5. ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network)

เครือข่ายสีเขียว คือ การแสดงถึงการขยายเครือข่ายตลอดโซ่อุปทานสีเขียว โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการ รับรองอุตสาหกรรมสีเขียวด้วยเช่นกัน


เตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว อย่างเต็มรูปแบบ

เพราะองค์กรอุตสาหกรรมและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้แบบ “We depend on each other” หรือการอยู่ด้วยการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังพยายามผลักดันการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวให้สำเร็จผล เพื่อการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ของธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางการเตรียมตัวความพร้อมในการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวแต่ละระดับได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดังนี้


เตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว



1. เตรียมความพร้อมสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment)

เชิญชวนบุคลากรทุกระดับในองค์กรให้เข้ามาร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในความตั้งมั่นที่จะสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวให้แก่องค์กรไปด้วยกัน โดยองค์กรต้องเริ่มสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน พร้อมชี้ให้เห็นผลลัพธ์ของการสร้างธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวที่มีความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งให้แก่บุคลากรในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ


2. เตรียมความพร้อมสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity)

เมื่อสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวที่มีความมุ่งมั่นภายในองค์กรสำเร็จแล้ว ขั้นตอนถัดมาคือการลงมือทำให้สำเร็จผล โดยองค์กรต้องลงมือสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวให้เกิดขึ้นตามที่ตั้งมั่นไว้ อาจเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการปฏิบัติการตามความมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปทีละลำดับ


3. เตรียมความพร้อมสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System)

เติมเต็มความสมบูรณ์ให้อุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยการสร้างระบบสีเขียวในการจัดการ วางแผนดำเนินการองค์กรให้เป็นไปตามความมุ่งมั่นแรก โดยมีการติดตามประเมินผล และทบทวนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับ และการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ


4. เตรียมความพร้อมสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture)

ทุกคนในองค์กรจะต้องมีจิตสำนึกร่วมกันในการรักษาสิ่งแวดล้อมด้านอุตสาหกรรมที่ดี และให้ความร่วมมือในทุกด้านของการประกอบกิจการอุตสาหกรรมสีเขียวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดำเนินการต่าง ๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรเพื่อสร้างวัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) ที่สมบูรณ์แบบ


5. เตรียมความพร้อมสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network)

ปิดท้ายด้วยการขยายขอบเขตของการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวจากภายในองค์กรออกสู่ภายนอก ตลอดโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวด้วยกัน เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมสู่ความสมดุลได้อย่างยั่งยืน

ทุกวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นปัญหาที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และ อุตสาหกรรมสีเขียว ถือเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ช่วยสร้างความสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งธนาคารกรุงไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมองค์กรธุรกิจที่มุ่งเน้นในการรักษาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง สู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ krungthai.com/th/sustainability