เรียนรู้การเงิน

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) แนวทางสู่การลดโลกร้อน พร้อมก้าวสู่ความยั่งยืน

อัพเดทวันที่ 13 ก.พ. 2567

 คาร์บอนเครดิตสามารถสร้างรายได้และอนาคตที่สะอาดได้อย่างไร

คาร์บอนเครดิต ศัพท์ด้านความยั่งยืนที่ถูกพูดถึงมากในปัจจุบัน ว่ากันว่านี่คือแนวทางสู่การลดโลกร้อน ช่วยชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในภารกิจลดโลกร้อนด้วย

ก่อนจะมาทำความรู้จักกับคาร์บอนเครดิต ควรทราบก่อนว่าโลกเรากำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่ไม่เพียงทำให้สภาพอากาศแปรปรวน แต่ยังทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้องค์การสหประชาชาติออกมาประกาศว่าโลกของเราได้เปลี่ยนผ่านจากยุคโลกร้อน (Global Warming) และกำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling)

เมื่อโลกค่อย ๆ ใกล้ถึงจุดเดือด นานาประเทศจึงเห็นพ้องกันว่านี่คือเวลาที่เราจะต้องจับมือกันแก้ไขวิกฤตินี้อย่างจริงจัง จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันวางแผนลดอุณหภูมิโลกลง และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 โดยหนึ่งในเครื่องมือเพื่อช่วยโลกให้เปลี่ยนผ่านได้สำเร็จนั้นก็คือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิต นั่นเอง


คาร์บอนเครดิต คืออะไร

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ สิทธิที่บุคคลหรือองค์กรได้รับจากกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการกักเก็บ หรือดูดกลับก๊าซเหล่านั้นด้วย โดยจะแปลงปริมาณก๊าซเรือนกระจกเป็นหน่วยกลางคือคาร์บอนไดออกไซด์ หากเป็นการแปลงก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ก็จะมีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e)

สิทธิที่ได้จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่ได้มาตรฐานตามระเบียบทางราชการ หรือเทียบเท่ากับระดับสากล อย่างในประเทศไทยก็จะเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชน ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อบก. จะทำหน้าที่วิเคราะห์ คัดกรอง และรับรองสิทธิให้กับผู้ที่ยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการ โดยคาร์บอนเครดิตที่ได้จะสามารถนำมาประเมินราคาและจำหน่ายให้กับองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน


คาร์บอนเครดิตมีประโยชน์อย่างไร

แน่นอนว่าคาร์บอนเครดิตมีประโยชน์โดยตรงต่อการช่วยลดภาวะโลกร้อน เพราะช่วยดูดซับและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเราสามารถจำแนกประโยชน์ของคาร์บอนเครดิตได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

ประโยชน์ระยะสั้นของคาร์บอนเครดิต 

เป็นมาตรการที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนหันมาเห็นความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จูงใจให้เกิดโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ประโยชน์ระยะยาวของคาร์บอนเครดิต

เกิดความตระหนักรู้เรื่องภาวะโลกร้อน จากการส่งเสริมภาคประชาชนในการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ดีต่อโลกมากขึ้น รวมทั้งในภาคธุรกิจอาจเกิดการขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจสีเขียว หรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต เช่น เทคโนโลยีพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี มาตรการด้านคาร์บอนเครดิตที่เป็นประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมก็ยังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าจับตามอง เพราะหากกระบวนการรับรองขาดความโปร่งใส หรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ก็อาจทำให้เกิดการฟอกเขียว หรือ “Green Washing” ซึ่งเป็นการแอบอ้าง สร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรดูเหมือนใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้มีการลงมือปฏิบัติจริง องค์กรเหล่านี้อาจให้ข้อมูลเป็นเท็จ สร้างความเชื่อที่ผิดให้กับสังคม และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับหน่วยงานที่ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดคุณลักษณะของข้อมูลด้านความยั่งยืนที่บริษัทต่าง ๆ จะต้องเปิดเผยเอาไว้ 3 ด้านคือ ต้องเป็นข้อมูลที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ เปรียบเทียบได้ และเชื่อถือได้ รวมทั้งสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลด้าน ESG ในตลาดทุนเอาไว้ เป็นมาตรฐานให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทที่อยู่นอกตลาดฯ ปฏิบัติตาม เพื่อความถูกต้อง โปร่งใส และดึงดูดนักลงทุนให้เชื่อมั่นในแนวทางการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว


ประโยชน์ของคาร์บอนเครดิต แนวทางสู่การลดโลกร้อน


ตลาดคาร์บอน และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

"ตลาดคาร์บอน" (Carbon Market) คือตลาดสำหรับซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นกลไกที่ใช้บรรเทาผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการทำให้การลด และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีราคา สามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยนได้ ในรูปแบบคาร์บอนเครดิต ทำให้ผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่ม และทำให้ผู้ที่ลด หรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้มีรายได้ จูงใจให้เกิดความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน ตลาดคาร์บอนสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ได้แก่


ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market)

คือตลาดคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้นตามการบังคับใช้กฎหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้ออกกฎหมายและกำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นตลาดสำหรับหน่วยงานที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าก็จะถูกลงโทษ ส่วนผู้ที่ดำเนินการได้ตามเป้าหมายมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ หรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับกฎหมายกำหนด


ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market)

คือตลาดคาร์บอนที่เกิดจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ได้มีกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาบังคับจัดตั้ง แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยความสมัคร ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแต่อย่างใด

สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยระบบจะจับคู่ราคาซื้อและราคาขายที่ตรงกันโดยอัตโนมัติ และการซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยไม่ผ่านตลาด


สถานะตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

ในประเทศไทย หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลตลาดคาร์บอนเครดิตคือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้เริ่มก่อตั้งตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในปี 2555 และพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Project: T-VER) พร้อมยกระดับไปสู่โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยแบบมาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER) เป็นทางเลือกให้กับหน่วยงานที่ต้องการคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง (High Quality Credits) สอดล้องกับ The Core Carbon Principles (CCPs) และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งโครงการลดก๊าซเรือนกระจกมีหลายประเภท ทั้งการพัฒนาพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย การปรับปรุงภาคเกษตรกรรม การจัดการขนส่ง และการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต

อย่างไรก็ดี การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในบ้านเรายังค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ขึ้นทะเบียนในโครงการ T-VER ในปี 2565 มีปริมาณการซื้อขายเพียง 1.2 MtCO2e จากคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองทั้งสิ้น 4.7 MtCO2e ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของทั้งหมด แต่ในอนาคตคาดว่าปริมาณและมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะเติบโตอย่างรวดเร็วจากเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050 ของประเทศไทย


ประโยชน์ของคาร์บอนเครดิต แนวทางสู่การลดโลกร้อน


แนวโน้มตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย จะเป็นอย่างไรต่อไป

อบก. ชี้ว่าอุปสงค์หรือความต้องการคาร์บอนเครดิตในไทยจะอยู่ที่ราว 182-197 MtCO2e/ปี ในปี 2050 จากความต้องการชดเชยคาร์บอนขององค์กรต่าง ๆ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศในทวีปยุโรปเริ่มออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ก็ทำให้ผู้ประกอบการเร่งปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ มีการวัดปริมาณคาร์บอนของสินค้า และการชดเชยคาร์บอน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับต่างประเทศ

ด้านอุปทาน ตลาดคาร์บอนของไทยอาจประสบปัญหาขาดแคลนในอนาคต ยืนยันด้วยตัวเลขคาร์บอนเครดิตที่คาดว่าจะผลิตได้ในปี 2050 อยู่ที่เพียง 6.86 MtCO2e/ปี สาเหตุเพราะโครงการคาร์บอนเครดิตมีต้นทุนสูงสวนทางกับราคาขายที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่เอื้อต่อผู้เล่นรายย่อยในตลาด จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลราคาที่เหมาะสม และการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


จับตาสถานะตลาดคาร์บอนเครดิต และแนวโน้มการเติบโตในระดับโลก

ในมิติระดับโลก จะเห็นว่านานาประเทศเริ่มตื่นตัวเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และได้จัดตั้งกลไกคาร์บอนเครดิตอย่างแพร่หลายในแต่ละประเทศ ข้อมูลจาก State and Trends of Carbon Pricing 2023 ของธนาคารโลกระบุว่า แนวโน้มคาร์บอนเครดิตทั่วโลกจะมีปริมาณเติบโตขึ้นในช่วงปี 2561-2565 อยู่ที่ 475 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) โดยเป็นคาร์บอนเครดิตที่มาจากการรับรองมาตรฐานของเอกชนมากที่สุด โดยมีกลไกด้านภาษีคาร์บอนเป็นตัวผลักดันให้เกิดความต้องการที่สูงขึ้น


จับตาสถานการณ์ตลาดคาร์บอนเครดิตระดับโลก


โครงการคาร์บอนเครดิตในระยะแรกจะมาจากการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน โดยในปี 2023 มีคาร์บอนเครดิตจากโครงการลักษณะดังกล่าวสูงถึง 55% จากโครงการทั้งหมด ส่วนในระยะต่อมา เมื่อต้นทุนการเปลี่ยนผ่านมาสู่พลังงานทดแทนลดลง องค์กรต่าง ๆ หันมาใช้พลังงานทดแทนแทนการซื้อคาร์บอนเครดิต ก็คาดว่าคาร์บอนเครดิตจากการดูดกลับและการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกโดยธรรมชาติ อย่างการปลูกป่า จะเป็นรูปแบบโครงการที่มีบทบาทอย่างมากต่อการทำคาร์บอนเครดิตในอนาคต

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า แทบทุกประเทศมีภารกิจร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ทำให้ตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตได้ในระยะยาว McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกมองว่าภายในปี 2050 ความต้องการของคาร์บอนเครดิตจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,500-2,000 MtCO2e/ปี คิดเป็น 15 เท่าจากปี 2020 กลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องคาร์บอนเครดิตคือผู้บริโภคที่มองหาแบรนด์ที่เอาจริงเอาจังเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม และยินดีจ่ายให้กับแบรนด์ที่สามารถชดเชยคาร์บอนเครดิตจากการซื้อสินค้าและบริการได้ ดังนั้น ความยั่งยืนจะกลายเป็นเมกะเทรนด์ที่ทุกภาคส่วนไม่อาจละเลยได้


ธนาคารกรุงไทย พร้อมผลักดันทุกภารกิจรักโลก

เมื่อภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่แนวทางด้านความยั่งยืน ก็แน่นอนว่าสินเชื่อ หรือผลิตภัณฑ์ด้านการเงินจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนของบริษัท ซึ่งธนาคารกรุงไทยในฐานะสถาบันการเงินระดับประเทศก็พร้อมตอบโจทย์ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ครัวเรือน และธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อาทิ สินเชื่อสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน สินเชื่อเพื่อลงทุนในระบบบำบัดของเสียในธุรกิจ สินเชื่อพลังงานทดแทน หรือสินเชื่อเพื่อการติดตั้ง Solar Rooftop ที่ให้วงเงินสูง ผ่อนนาน พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และมีการร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการ “การส่งเสริมมาตรการสนับสนุนทางการเงิน (Financial Support) ให้กับผู้ประกอบการเพื่อการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก”

มากไปกว่านั้น ธนาคารกรุงไทยยังออกอนุพันธ์ทางการเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริม ESG โดยร่วมกับ ปตท. และ ปตท.สผ. เปิดตัวโครงการลงทุนเพื่อบริหารสภาพคล่องเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Linked Investment Program) ถือเป็นครั้งแรกที่นวัตกรรมทางการเงินจะเข้ามาบริหารจัดการการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เห็นผลเป็นรูปธรรม จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกรุงไทย ที่ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็พร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทุกความต้องการทางการเงินบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน