เรียนรู้การเงิน

5 แนวทางปรับตัวจากมาตรการ CBAM ที่ผู้ส่งออกไทยไป EU ควรรู้

อัพเดทวันที่ 1 ก.พ. 2567

5 แนวทางปรับตัวจากมาตรการ CBAM ที่ผู้ส่งออกไทยไป EU ควรรู้

มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) มีที่มาจากความพยายามของสหภาพยุโรป (EU) ที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาคในการแบกรับต้นทุนคาร์บอนระหว่างผู้ผลิตใน EU และผู้นำเข้าสินค้ามายัง EU เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตใน EU ได้ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเสียเปรียบสินค้านำเข้าจากประเทศนอก EU ที่มีความเข้มงวดและต้นทุนคาร์บอนที่ต่ำกว่า โดยตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 ผู้นำเข้าสินค้าที่อยู่ในเกณฑ์ CBAM จะต้องประสานงานเพื่อขอข้อมูล Embedded Emission จากผู้ส่งออก ส่วนการซื้อ CBAM Certification เพื่อปรับราคาคาร์บอนนั้นจะเริ่มบังคับใช้จริงตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป


CBAM จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยแค่ไหน?

ในช่วงเริ่มต้นมาตรการ CBAM จะบังคับใช้กับสินค้า 6 กลุ่ม คือ (1) ซีเมนต์ (2) ไฟฟ้า (3) ไฮโดรเจน (4) ปุ๋ย (5) เหล็กและเหล็กกล้า และ (6) อะลูมิเนียม โดย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมมีความเสี่ยงจาก CBAM มากสุด เนื่องจากในปี 2565 ไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าทั้ง 2 กลุ่มไปยัง EU ถึง 478 ล้าน USD หรือเกือบจะทั้งหมดของสินค้าที่อยู่ในเกณฑ์ CBAM ส่วนสินค้าประเภทอื่นที่เข้าข่าย CBAM อย่าง ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ไทยแทบไม่มีการส่งออกไปยัง EU เลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

โดย ในปี 2569 ที่ EU จะเริ่มเก็บค่า CBAM Certification จริงนั้น คาดว่าผู้ประกอบการที่ส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าไปยัง EU จะมีต้นทุนส่วนเพิ่มจากมาตรการ CBAM ที่ราว 1.2-2.0% ของมูลค่าส่งออก ซึ่งหากเทียบกับอัตรากำไรสุทธิโดยเฉลี่ยของกลุ่มผู้ผลิตและผู้ค้าเหล็กของไทยที่ 1.4-1.9% เราจึงมองว่าค่า CBAM Certification อาจเป็นต้นทุนสำคัญที่กดดันการทำกำไรของผู้ส่งออกเหล็กที่เน้นตลาด EU ได้



Krungthai COMPASS แนะ 5 แนวทางปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs จากมาตรการ CBAM ดังนี้

  1. เร่งขึ้นทะเบียนในระบบ CBAM Registry ภายใน 31 ธ.ค. 2567 เพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิ์การส่งออกสินค้าไปยัง EU และประสานงานกับผู้นำเข้าเพื่อรายงานข้อมูลต่าง ๆ ตามที่มาตรการ CBAM กำหนด
  2. จัดทำข้อมูล Embedded Emission โดย SMEs สามารถติดต่อองค์กรบริการจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อขอคำปรึกษาและขอรับบริการตรวจวัด Embedded Emission ของโรงงาน
  3. ปรับปรุงหรือยกระดับกระบวนการผลิตเพื่อลด Embedded Emission เช่น กลุ่มเหล็กและเหล็กกล้าอาจเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากเตา Blast Furnace เป็น Electric Arc Furnace และใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด
  4. แม้ในช่วงเปลี่ยนผ่านของมาตรการ CBAM จะยังไม่บังคับให้มีการทวนสอบข้อมูล Embedded Emission แต่เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนบังคับใช้จริงในปี 2569 ผู้ประกอบการอาจเริ่มใช้บริการของผู้ทวนสอบได้เลย โดยปัจจุบันมีผู้ทวนสอบที่ได้รับรองจาก European Commission และมีสาขาย่อยตั้งอยู่ในไทย เช่น SGS, Brueau Veritas, TUV NORD, TUV SUD, LRQA และ bsi เป็นต้น
  5. หาตลาดใหม่ ๆ เพื่อทดแทนตลาด EU โดยเฉพาะตลาด CLMV เป็นต้น


#เคล็ดลับธุรกิจ #KrungthaiCompass #CBAM #EU #กรุงไทยSME #ติดปีกให้ธุรกิจคุณ

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่ คลิก
บทวิเคราะห์อื่นๆ จาก Krungthai Compass คลิก