เรียนรู้การเงิน

10 ปี สู่ความสำเร็จ จากโรงสีข้าวสู่ โรงไฟฟ้าแนวคิด ESG Model

อัพเดทวันที่ 2 ม.ค. 2567

10 ปี สู่ความสำเร็จ จากโรงสีข้าวสู่ โรงไฟฟ้าแนวคิด ESG Model

มีสุภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า “ลูกผู้ชาย 10 ปี ล้างแค้น ไม่สาย” หมายถึง ต้องรู้จักอดทน สุขุม รอให้ถึงเวลาที่สมควร แล้วจึงลงมือกระทำเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมา ทว่าในบทความนี้จะไม่ได้พูดถึงการล้างแค้นใดๆ แต่เป็นเรื่องของความ “มุ่งมั่น ตั้งใจ” ของคุณบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล-กรรมการฯ บริษัท อุตรดิตถ์ กรีน เพาเวอร์ จำกัด ผู้ซึ่งใช้เวลากว่า 10 ปี ในการปลุกปั้นธุรกิจ โรงไฟฟ้าแนวคิด ESG Model จนสำเร็จ


จากผู้ที่เริ่มดำเนินธุรกิจโรงสีข้าวที่ จ.พิจิตร คุณบรรจงมักจะไปศึกษาดูงานอยู่เสมอ จนได้พบกับธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลในรัฐอาร์คันซอ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายแห่งในจีน ก่อนจะเริ่มก่อตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล พิจิตร ไบโอเพาเวอร์ ที่ อ.โพทะเล จ.พิจิตร จนประสบความสำเร็จ และได้นำประสบการณ์ที่ได้รับมาตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล อุตรดิตถ์ กรีน เพาเวอร์ เป็นแห่งที่สองที่ อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์

คุณบรรจง ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังการผลิต 8,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (8 MWH) เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น แกลบ ฟางข้าว ฟางอ้อย และอื่น ๆ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า

โมเดลธุรกิจของโรงไฟฟ้าชีวมวล ถูกคิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับ ESG Model ในทุกมิติ ตั้งแต่การ ลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับชุมชนและสังคม โดยสร้างรายได้หมุนเวียนให้คนในพื้นที่โรงไฟฟ้าจากการรับซื้อเชื้อเพลิงและการจ้างงาน การมีธรรมาภิบาลในระบบการทำงานที่โปร่งใสและตรวจสอบได้


“สำหรับเอสเอ็มอี ผมคิดว่าต้องรู้ Key of Success ของธุรกิจก่อน แล้วเรามีศักยภาพพอที่จะปลดล็อก Key นั้นหรือเปล่า ถ้าไม่พอ ก็ต้องหาทางก่อน อย่างของเราอาจจะเป็นเรื่องเชื้อเพลิง เราก็ปลด ล็อกด้วยการหาพาร์ตเนอร์ด้านเชื้อเพลิงในพื้นที่ ถ้าตีโจทย์ตรงนี้แตก ผมว่าความเสี่ยงในธุรกิจจะลดน้อยลง ที่สำคัญต้องคิดให้ตกผลึกว่าลงทุนเท่านี้ ผลิตได้เท่านี้ แล้วมีรายได้เท่านี้จริงไหม ถัดมาคือการใช้เครื่องจักรที่ถูกต้อง ทันสมัย ไม่ใช่ประหยัดจนดำเนินธุรกิจไม่สะดวก ทุกวันนี้กระบวนการผลิตมีระบบตรวจสอบมาตรฐานมากมาย เราต้องเตรียมไว้ตั้งแต่เริ่มออกแบบ

“ตอนนี้เรื่องความยั่งยืนคือเทรนด์ที่ทุกธุรกิจต้องเข้าร่วม ต้องดูแลทั้งสิ่งแวดล้อม พนักงาน และชุมชนรอบข้าง ต้องตีความให้ออกว่าใครคือผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจบ้าง และดูว่าจะบริหารความสัมพันธ์กับกลุ่มต่าง ๆ อย่างไร ส่วนเรื่องธรรมาภิบาล เราต้องวางระบบให้พร้อมสำหรับการถูกตรวจสอบ ทุกอย่างต้องโปร่งใส อย่าทำให้เรื่องนี้เป็นจุดอ่อน เพราะเมื่อธุรกิจโตในระดับหนึ่ง คุณไม่สามารถทำให้คลุมเครือได้ เรื่องบัญชีต้องเข้าใจระบบตรวจสอบสมัยใหม่ จะช่วยสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจ ค่านิยมอันนี้เราปลูกฝังให้ทั้งองค์กร เป็นจุดที่ทำให้เราอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข เจนเนอเรชันต่อไปก็มาสืบทอดได้อย่างราบรื่น” คุณบรรจงกล่าวทิ้งท้าย

พบกับบทความดีๆ ในหัวข้อ "ESG Model" แนวคิดการจัดการธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน จาก E-Magazine กรุงไทย SME FOCUS ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2566 - มกราคม 2567 คลิก

    นอกจากนี้สามารถติดตามอ่านได้ที่
  1. ช่องทาง Website : Krungthai SME
  2. ช่องทาง Application Meb
  3. ช่องทาง Application Okkbee

#เคล็ดลับธุรกิจ #ESGModel #SMEFocus #KrungthaiSME #กรุงไทยSME #ติดปีกให้ธุรกิจ