ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลปลอดภัยอย่างไร พร้อมขั้นตอนจองซื้อแบบมือใหม่ก็ทำได้
พันธบัตรรัฐบาลคืออะไร
พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) คือตราสารหนี้ชนิดหนึ่งที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำเงินไประดมทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล หรือจ่ายคืนหนี้ของรัฐ ลักษณะการลงทุนไม่ซับซ้อนเหมือนการลงทุนรูปแบบอื่นๆ โดยผู้ซื้อจะมีสถานะเสมือนเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่จ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา เฉลี่ยอยู่ที่ราวปีละ3%
ว่ากันว่าการลงทุนมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนก็มีความเสี่ยงไม่แพ้กัน เพราะนั่นเท่ากับเรากำลังปล่อยให้เงินของเราค่อยๆ ลดมูลค่าไปตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี เช่นนั้นจะเลือกลงทุนอะไรดี ที่มีความเสี่ยงไม่สูง เน้นรักษาเงินต้น และมีโอกาสรับผลตอบแทนเหนือกว่าเงินฝากทั่วไป...
พันธบัตรรัฐบาล ทางเลือกลงทุนที่ให้นักลงทุนอุ่นใจ เห็นผลตอบแทนชัดเจน แถมความเสี่ยงระดับเซฟๆ เพราะมีรัฐบาลเป็นผู้ออกพันธบัตรโดยตรง หากอยากรู้ว่าพันธบัตรรัฐบาลคืออะไร และดีอย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้
พันธบัตรรัฐบาลมีกี่ประเภท
พันธบัตรรัฐบาลจะมีทั้งแบบระยะสั้น อายุไม่เกิน 1 ปี และแบบระยะยาวที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยประเทศไทยสามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ
- ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารเงินระยะสั้นของรัฐบาล จัดเป็นพันธบัตรรัฐบาลแบบระยะสั้น มีทั้งแบบอายุ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี การจ่ายดอกเบี้ยของตั๋วเงินคลังจะอยู่ในรูปแบบของส่วนลด คือเมื่อออกขายจะขายในราคาที่หักส่วนลดจากมูลค่าหน้าตั๋ว แต่เมื่อครบกำหนดสามารถไถ่ถอนตามราคาที่ตราไว้หน้าตั๋ว ผู้ซื้อจะได้ส่วนต่างของราคาเป็นผลตอบแทน
- พันธบัตรรัฐบาลแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate Government Bond) มีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อพัฒนาประเทศ ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ หรือชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เป็นพันธบัตรรัฐบาลแบบระยะยาว มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และบางชนิดมีอายุยาวถึง 50 ปี การจ่ายดอกเบี้ยจะเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate) ปีละ 2 ครั้ง และชำระเงินต้นคืนในวันที่ไถ่ถอน
- พันธบัตรออมทรัพย์ (Saving Bond) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมให้กับประชาชน โดยจะกำหนดเงื่อนไขให้เอื้อต่อการลงทุนสำหรับประชาชนทั่วไป เช่น การห้ามซื้อขายพันธบัตรออมทรัพย์นอกกลุ่มนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาภายในปีแรก หรือการจำกัดวงเงินลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ให้ไม่สูงมาก เป็นต้น
- พันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-linked Bond) เป็นตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ โดยจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน และเมื่อไถ่ถอน ผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืน พร้อมส่วนชดเชยเงินเฟ้ออ้างอิงจากดัชนีเงินเฟ้อทั่วไป (Headline inflation)
- พันธบัตรรัฐบาลอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate Bond) มีวัตถุประสงค์เหมือนกับพันธบัตรรัฐบาลอัตราดอกเบี้ยคงที่ คือชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล และมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
ข้อดีของพันธบัตรรัฐบาล
พันธบัตรรัฐบาลเป็นการออมเงินรูปแบบหนึ่ง โดยเป็นการลงทุนที่มีความน่าเชื่อถือสูง และมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนอื่นๆ เช่น กองทุนรวมหุ้น หรือหุ้นรายตัวในตลาดหลักทรัพย์ ขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป ตอบโจทย์คนที่อยากให้เงินงอกเงย แต่สามารถรับความเสี่ยงได้น้อย และยังสามารถเลือกซื้อได้ตามระยะเวลาของพันธบัตร หรือจะเน้นการออมเงินผ่านพันธบัตรออมทรัพย์ก็ได้เช่นกัน
ทำไมพันธบัตรรัฐบาลถึงมีความเสี่ยงต่ำ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า พันธบัตรรัฐบาลคืออะไร ซึ่งก็คือตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง เพื่อระดมทุนให้กับรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลมีหน้าที่เก็บภาษีจากประชาชน นี่เองทำให้พันธบัตรรัฐบาลไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดดอกเบี้ยและเงินต้น
แต่ทั้งนี้ การถือครองพันธบัตรรัฐบาลก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง ซึ่งเกิดจากการวางแผนการลงทุนของผู้ซื้อพันธบัตร นั่นคือ ความเสี่ยงจากภาพคล่อง เพราะพันธบัตรรัฐบาลไม่รับซื้อคืนก่อนครบกำหนด หากต้องการใช้เงินส่วนนี้อาจต้องนำไปขายในตลาดรอง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะขาดทุน หรือได้รับเงินคืนน้อยกว่าการถือครองจนครบอายุ นอกจากนี้อาจมีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ที่อาจสูงกว่าผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลบางประเภท แนะนำให้วางแผนการใช้เงินและศึกษารายละเอียดก่อนการซื้อทุกครั้ง
พันธบัตรรัฐบาลเหมาะกับใคร
สำหรับคนที่อยากซื้อพันธบัตรรัฐบาล มาลองสำรวจกันว่าเหมาะกับเราหรือไม่ ดังนี้
- ผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย และต้องการผลตอบแทนที่แน่นอน เพราะพันธบัตรรัฐบาลมีความมั่นคงค่อนข้างสูงกว่าการลงทุนวิธีอื่น และยังระบุผลตอบแทนที่ชัดเจนจากการถือครองพันธบัตรครบระยะเวลา
- ผู้ที่ต้องการเพิ่มความปลอดภัยให้กับพอร์ตการลงทุน สามารถกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนรูปแบบต่างๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้เอกชน หรือกองทุนรวม มาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพื่อสร้างความสมดุลให้กับพอร์ตการลงทุน และให้ความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
พันธบัตรรัฐบาลซื้อขายอย่างไร
พันธบัตรรัฐบาลจะมีการซื้อขายใน 2 ตลาด คือตลาดแรกและตลาดรอง ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
- ตลาดแรก (Primary Market) คือการซื้อขายพันธบัตรโดยตรงระหว่างผู้ออกพันธบัตรกับนักลงทุนในการเปิดตัวครั้งแรก หากเป็นนักลงทุนรายย่อย หรือบุคคลทั่วไป สามารถซื้อได้ที่ธนาคารพาณิชย์ ราคาขายจะเริ่มต้นที่หน่วยละ 1-1,000 บาท หรืออาจจำกัดจำนวนเงินลงทุน หรือเป็นไปตามเงื่อนไขของพันธบัตรรุ่นนั้นๆ แต่หากเป็นนักลงทุนสถาบัน เช่นกองทุนรวม การขายจะเป็นการตั้งราคาเพื่อประมูลซื้อ
- ตลาดรอง (Secondary Market) คือการซื้อขายพันธบัตรระหว่างนักลงทุนด้วยกันเองโดยไม่ผ่านตลาดแรก ส่วนมากเป็นการขายก่อนครบกำหนดสัญญา โดยสามารถตกลงราคาซื้อขายกันเอง หรือซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ผ่านโบรกเกอร์ หรือที่เรียกว่า Bond Electronic Exchange
พันธบัตรรัฐบาลซื้อขายอย่างไร
วิธีจองซื้อพันธบัตรรัฐบาล
หากต้องการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรก ควรติดตามข่าวเสนอขายให้ดี เมื่อเปิดขายก็สามารถซื้อได้ผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะตอนนี้ที่สามารถซื้อได้ผ่านแอปธนาคาร อย่าง Krungthai Next หรือหากต้องการซื้อขายในตลาดรอง ก็ยังทำได้ด้วยบริการ Money Connext ในแอป Krungthai Next เช่นกัน สนใจ คลิก เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังมีวอลเล็ต สบม. ในแอปเป๋าตัง ที่เปิดโอกาสให้ประชนทั่วไปได้เข้าถึงการออมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทุนผ่านแอพลิเคชันเป๋าตัง เพียงหน่วยละ 1 บาท เริ่มต้นที่ 100 หน่วยเท่านั้น ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก
มากกว่าการออมเงิน คือการบริหารเงินออมให้งอกเงย ซึ่งการจัดสรรเงินมาลงทุนคือคำตอบ แต่จะเลือกลงทุนอย่างไรนั้น อย่าลืมคำนึงถึงความเสี่ยงทุกครั้งก่อนตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย ต้องการความมั่นคง การลงทุนโดยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมอย่างหนึ่ง ซึ่งตอนนี้สามารถซื้อขายได้ง่ายผ่านแอปพลิเคชัน ก็ทำให้มีโอกาสเข้าถึงช่องทางการลงทุนได้มากยิ่งขึ้น