เรียนรู้การเงิน

ค่ากำเหน็จและค่าบล็อก คืออะไร? ซื้อทองแท่งที่ไหนไม่เสียค่าบล็อก

อัพเดทวันที่ 14 พ.ย. 2566

ค่ากำเน็จและค่าบล็อก คืออะไร? ซื้อทองแท่งที่ไหนไม่เสียค่าบล็อก

รู้หรือไม่ว่าการซื้อทองไม่ว่าจะเป็น “ทองรูปพรรณ” หรือ “ทองแท่ง” จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอย่าง “ค่ากำเหน็จ” หรือ “ค่าบล็อก” อยู่เสมอ เชื่อว่านักลงทุนหลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมถึงจ่ายแค่ค่าทองอย่างเดียวไม่ได้? แล้วการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวมีประโยชน์อย่างไร? จ่ายแล้วจะขาดทุนไหม? หากคุณกำลังเริ่มลงทุนกับทองคำ บทความนี้มีคำตอบให้คุณคลายสงสัยเรื่องราวของค่ากำเหน็จและค่าบล็อก พร้อมเคล็ดลับดี ๆสำหรับนักลงทุนกับการซื้อทองแท่งที่ไหนไม่เสียค่าบล็อก ถ้าศึกษาเรื่องทองแล้ว มาทำความรู้จักค่าธรรมเนียมทั้งหมดนี้ไปพร้อมกับกรุงไทยได้เลย


ทำไมต้องเสีย “ค่ากำเหน็จ” หรือ “ค่าบล็อก” เวลาซื้อทอง ที่นี่มีคำตอบ

ไม่ว่าจะซื้อทองแท่ง หรือ ทองรูปพรรณ เราก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอยู่ดี แล้วค่าธรรมเนียมที่ว่านั้นคืออะไร? และมาจากไหน? ทำไมเราต้องยอมจ่ายเพิ่ม? กรุงไทยมีคำตอบให้คุณ ย้อนกลับไปก่อนที่ทองแท่งและทองรูปพรรณจะถูกวางจำหน่ายตามร้านค้า “ทองคำ” คือแร่โลหะชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าสูงอย่างมาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดกลม, แผ่น, เกล็ด หรือไร (ที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร) เพื่อให้มูลค่าของแร่ทองคำสูงขึ้น ผู้ผลิตจึงนำแร่ดังกล่าวมาทำการหล่อหลอมแร่ทองให้กลายเป็นทองแท่ง หรือ ทองรูปพรรณที่พบเจอได้ตามท้องตลาดในปัจจุบันนี้

ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ต้องใช้ความละเอียดอ่อน และพิถีพิถันอย่างมากในการผลิต ตลาดทองคำจึงกำหนด “ค่ากำเหน็จ” และ “ค่าบล็อก” ขึ้นมาเพื่อการสร้างมูลค่าให้ทองรูปพรรณ และทองแท่ง


ซื้อทองอย่างไรให้ไม่เสียค่ากำเหน็จและค่าบล็อก อ่านเลยคุ้มชัวร์


ซื้อทองแท่งอย่างไรให้ไม่เสียค่ากำเหน็จและค่าบล็อก


อยากลงทุนซื้อทองมาเก็บไว้เก็งกำไรทั้งที จะมีวิธีไหนบ้างที่ทำให้เราไม่ต้องเสีย “ค่ากำเหน็จ” หรือ “ค่าบล็อก” ? อย่างที่เราทราบกันดีว่า ค่าธรรมเนียมดังกล่าวเปรียบเสมือนค่าแรงในการผลิตทองแท่ง หรือทองรูปพรรณสู่ตลาดการค้าจึงอาจจะเลี่ยงได้ยากในการไม่เสียค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะ “ทองรูปพรรณ” ที่คำนวณค่ากำเหน็จจากชิ้นงานทองคำที่ทำการหลอม หรือแกะสลักจนสวยงาม และอีกหนึ่งความรู้ที่ต้องจดไว้สำหรับการซื้อทองรูปพรรณคือ เมื่อนำทองรูปพรรณมาขายคืน ราคาที่ขายได้จะไม่มีการรวมค่ากำเหน็จในราคาทองที่ทางร้านตั้งให้

ถึงแม้ว่าค่ากำเหน็จจะถูกกำหนดในตลาดทองไว้แล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีวิธีการซื้อทองแบบไม่เสียค่าธรรมเนียม หากคุณมีเงินเย็น หรือต้องการเริ่มต้นลงทุนทองเพื่อสะสมกำไร เราขอแนะนำการซื้อทองแท่ง เพียงซื้อทองแท่งมากกว่า 5 บาท ค่าธรรมเนียม หรือค่าบล็อกก็จะถูกหักลบไป จ่ายเพียงแค่ค่าทองที่เลือกซื้อในวันนั้น เรียกได้ว่าคุ้มทุน เก็บได้นาน และสร้างกำไรงอกเงยได้อย่างแน่นอน


รู้จัก “ค่ากำเหน็จ” ก่อนซื้อทองรูปพรรณ

“ค่ากำเหน็จ” หรือค่าแรง ค่าฝีมือของช่างทองในการผลิตทองรูปพรรณ ไม่ว่าจะสร้อย, แหวน, กำไล หรือต่างหู ทั้งหมดนี้ล้วนผ่านกระบวนการหล่อทอง และแกะสลักจากทองแท่งสู่เครื่องประดับมูลค่าราคาสูง โดยค่ากำเหน็จมีความแตกต่างตามความยากง่ายในการผลิตทองรูปพรรณ ซึ่งราคาค่าแรงจะขึ้นอยู่กับกำหนดการของทางร้านทอง โดยประมาณที่ 600 -1,200 บาท / น้ำหนักทอง 1 บาท


ตัวอย่างการคำนวณค่ากำเหน็จ

ซื้อทองรูปพรรณน้ำหนัก 3 บาท โดยมีราคาทองบาทละ 32,000 บาท รวมเป็น 96,000 บาท ร้านทองมีค่ากำเหน็จบาทละ 800 บาท ผู้ซื้อต้องชำระ ค่ากำเหน็จอีก 2,400 บาท (ค่ากำเหน็จ x จำนวนทองรูปพรรณที่ซื้อ) รวมเป็นเงิน 98,400 บาท


3 ประเภททองรูปพรรณที่ควรรู้จัก

  • ทองรูปพรรณงานช่างทองโบราณ
    ทองลงยาอยุธยา ทองสุโขทัย ช่างทองเมืองเพชรบุรี คือทองรูปพรรณงานช่างโบราณ ซึ่งงานประเภทนี้จะเป็นงานฝีมือ โดยช่างทองจะผลิตทองรูปพรรณทีละเส้น และมีการออกแบบลวดลายเฉพาะตัว เช่น การขึ้นรูปแบบโครงถัก, แกะลายเฉพาะ หรือกระดุมบัวสัตตบงกช เป็นต้น นอกจากนี้ ทองสุโขทัยเป็นหนึ่งในสกุลช่างรับผลิตทองรูปพรรณ โดยใช้ทองคำ 99.9% ในการทำทองรูปพรรณ จึงเป็นผลให้ค่ากำเหน็จสูงถึงบาทละ 3,000 บาท ในบางลวดลาย
  • ทองรูปพรรณแบบเข้าชุด
    งานทองรูปพรรณเข้าชุด ประกอบไปด้วย สร้อยคอ ต่างหู กำไลข้อมือ แหวน หรือ เครื่องประดับอื่นที่สามารถจัดเข้าชุดกันได้ โดยเน้นความหรูหรา และดูเข้าชุดกันอย่างดี ซึ่งงานฝีมือแบบนี้ทำให้ราคาค่ากำเหน็จของทองคำแพงกว่าปกติ งานทองรูปพรรณแบบผสมขึ้นรูปจากชิ้นส่วนสำเร็จ เป็นงานทองคำ 96.5% ที่นำชิ้นส่วนบางส่วนที่ผลิตด้วยเครื่องจักรมาใช้เป็นส่วนประกอบของทองรูปพรรณนี้
  • ทองรูปพรรณที่ผลิตโดยเครื่องจักร
    สำหรับทองรูปพรรณประเภทนี้เป็นงานทองคำ 96.5% ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นในการผลิตทองจากเครื่องทอสร้อย ดังนั้นสร้อยทอง หรือทองคำ ประเภทนี้จึงมักจะมีลายที่เหมือนกัน อีกทั้งยังมีค่ากำเหน็จไม่มากนักอีกด้วย


ค่าบล็อก 2 ประเภทที่คนซื้อทองแท่งต้องรู้จัก

ใครที่อยากซื้อทองแท่งต้องอ่าน เราเชื่อว่านักลงทุนทุกคนเข้าใจถึงค่าธรรมเนียมการจ่ายทองอย่างดีแล้ว เช่น “ค่าบล็อก” หรือค่าผลิตทองคำแท่ง ซึ่งต้องใช้เครื่องจักรกลเป็นส่วนใหญ่ นอกจากเรื่องการผลิตแล้ว ค่าบริหารจัดการของ เช่น จัดเก็บรักษา การขนส่ง ก็ล้วนเป็นหนึ่งในค่าธรรมเนียมเช่นกัน

เชื่อว่านักลงทุนคงกำลังตั้งคำถาม และหาคำตอบแล้วว่า ซื้อทองแท่งที่ไหนไม่เสียค่าบล็อก ซึ่งตามธรรมเนียมของการซื้อขายทอง หากคุณเลือกซื้อทองแท่งที่มีน้ำหนักรวมกันแล้วมากกว่า 5 บาท ก็สามารถลดค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ แต่ก่อนตัดสินใจซื้อ ก็ควรสอบถามเงื่อนไขของทางร้านให้ดีก่อน


ทำความรู้จักทองแท่ง 2 ประเภท ก่อนตัดสินใจซื้อ

  • ทองแท่งหลอมเบ้า (Casting หรือ Cast Bar)
    วิธีการผลิตของทองหลอมเบ้า คือการนำทองคำมาหลอมละลายแล้วหยอดลงเบ้า เมื่อทองคำเริ่มเซตตัวจึงนำออกจากเบ้าแล้วทิ้งให้เย็น ก่อนนำไปแช่น้ำให้แข็งตัว แล้วทำการพิมพ์ลายปิดจบ ทองแท่งชนิดนี้ไม่เน้นความสวยงามของลวดลาย แต่เน้นที่การทำน้ำหนักทอง รวมถึงเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์และการขึ้นรูปทรงให้ตรงตามมาตรฐาน ส่วนใหญ่แล้วทองหลอมเบ้าจะนิยมผลิตทองที่มีน้ำหนักเยอะ เช่น แท่งละ 5 บาท จนถึง แท่งละ 50 บาท โดยแบ่งน้ำหนักในแต่ละแท่งประมาณ 100 กรัม, 500 กรัม หรือ 1 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับแต่ละร้านในการจัดเตรียมการผลิต ซึ่งทองชนิดนี้จะนิยมจำหน่ายในปริมาณมากให้กับผู้ประกอบการที่จะนำไปผลิตเป็นทองรูปพรรณ นอกจากนี้ทองแท่งหลอมเบ้ายังเป็นที่นิยมสำหรับการลงทุนด้วยเช่นกัน และด้วยความที่จำหน่ายในปริมาณมากจึงเป็นผลให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนจ่ายค่าบล็อกน้อยกว่าหรือไม่ต้องจ่ายค่าบล็อคเลย
  • ทองแท่งแบบรีดแผ่น (Stamping หรือ Minted Bar)
    ความโดดเด่นของทองแท่งรีดแผ่น คือลักษณะของตัวทองแท่งที่มีความบางและลวดลายที่สวยงาม เช่น ลายนักษัตร, ลายเทพเจ้า หรืออักษรจีนความหมายดี ๆ จึงทำให้คนนิยมซื้อทองแท่งชนิดนี้เป็นของขวัญในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งวิธีการผลิตทองชนิดนี้จะเริ่มด้วยการนำทองคำมาหลอมให้เป็นแผ่นใหญ่ แล้วนำเข้าเครื่องรีดให้ตัวทองเป็นแผ่นบางลง เมื่อได้แผ่นทองที่ต้องการแล้วจึงนำมาตัดให้ได้รูปทรงที่ต้องการ ปิดท้ายด้วยการสร้างลวดลาย เช่น พิมพ์ลายหรือโลโก้, พ่นทรายสร้างลวดลาย เป็นต้น สำหรับการจะผลิตทองแบบรีดแผ่น ผู้ผลิตมักจะผลิตทองชนิดนี้ในน้ำหนักน้อย เช่น 1 สลึง, 1 บาท หรืออาจเล็กเพียง 1 กรัม ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิตว่าต้องการให้ทองชนิดดังกล่าวออกมาเป็นอย่างไร แม้ว่าทองชนิดนี้จะมีน้ำหนักที่เบา แต่โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะนิยมจำหน่ายทองรีดแบนในน้ำหนัก 1 บาท

คำนวณค่ากำเหน็จก่อนตัดสินใจซื้อทองแท่ง


บทความนี้อาจช่วยให้คุณเข้าใจถึงค่ากำเหน็จและค่าบล็อกมากยิ่งขึ้น หากคุณวางแผนชีวิตทางการเงินไว้แล้ว และต้องการซื้อทองเพื่อเก็งกำไร ก็อย่าลืมคำนวณให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อมูลค่าทองที่ต้องการซื้อเก็บ และค่าธรรมเนียมเสริม(ค่ากำเหน็จและค่าบล็อก) จะได้กำไรกลับมาคุ้มทุนมากน้อยแค่ไหนในอนาคต

หากคุณพร้อมเก็งกำไรทองแล้ว อย่าลืมมองหาตัวช่วยในการเก็บเกี่ยวผลกำไรอย่าง Gold Wallet ตลาดเทรดทองคำ ซื้อ-ขาย-ถอนทองแท่งได้แบบ Real-time ขั้นต่ำเพียง 0.1 ออนซ์หรือเท่ากับ 6,000 บาท* อีกทั้งยังสามารถดูกราฟราคาตลาดทองโลก อีกด้วย ครบวงจรเพื่อนักลงทุนขนาดนี้ ไม่เลือกไม่ได้แล้ว

ค่ากำเหน็จและค่าบล็อกคืออะไร ซื้อทองแท่งที่ไหนไม่เสียค่าบล็อก | ธนาคารกรุงไทย ค่ากำเหน็จและค่าบล็อกคืออะไร ทำไมต้องจ่ายทุกครั้งตอนซื้อทองแท่ง? บทควมความนี้มีคำตอบ มาทำความรู้จักเรื่องทองคำก่อนลงทุนไปด้วยกัน