วิธีการลงทุนสำหรับมือใหม่ เริ่มต้นลงทุนควรลงทุนอะไรดี
ว่าที่นักลงทุนหน้าใหม่หลายคนเวลาอยากจะเริ่มต้นลงทุนในทรัพย์สินอะไรสักอย่างหนึ่ง คงมีคำถามผุดขึ้นมาในใจหลายคำถามด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น “มือใหม่ควรลงทุนอะไรดี” , “มีเงินน้อยลงทุนอะไรดี” หรือ “ลงทุนอะไรดีมีความเสี่ยงน้อย” “มีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอะไรบ้างที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากออมทรัพย์” ต้องบอกว่าคำถามเหล่าเป็นคำถามปกติที่เหล่านักลงทุนหน้าใหม่เกิดความคาใจ อยากมีผู้รู้มาช่วยไขข้อข้องใจให้ความกระจ่างว่า ก้าวแรกสู่การเป็นนักลงทุน ต้องทำอะไรบ้าง แล้วเราควรลงทุนในอะไรดี ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน เอาเพียงแค่เรื่องของประเภทสินทรัพย์ก็มากมายเสียจนแทบจะจำได้ไม่หมด ดังนั้นในบทความนี้กรุงไทยจะพานักลงทุนหน้าใหม่ทุกท่านเข้าสู่โลกของการลงทุนอย่างเป็นทางการถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลย
เตรียมพร้อมก่อนเริ่มลงทุน
การลงทุนเปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอนที่ต้องใช้ทั้งความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ ความอึดอดทน และระยะเวลา เพราะ ’การลงทุน’ นั้นมีความแตกต่างจากการ ‘เก็งกำไร’ เพราะการเก็งกำไรเป็นการซื้อสินทรัพย์ทางการลงทุนโดยคาดหวังผลตอบแทนจากส่วนต่างความผันผวนของราคาสินทรัพย์นั้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ไม่นานนัก แต่การลงทุนนั้นแตกต่างออกไป กล่าวคือการลงทุนในความหมายที่ถูกต้องคือการที่เรานำทุนจำนวนหนึ่งไปซื้อสินทรัพย์ โดยได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล กำไรจากราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และดอกเบี้ย
ในหัวข้อนี้เราจะพานักลงทุนหน้าใหม่ทุกท่านเตรียมความพร้อมก่อนที่จะลงสนามลงทุนจริง เริ่มตั้งแต่รู้จักความหมายของการลงทุน ไปจนถึงประเภทสินทรัพย์เพื่อการลงทุนแบ่งตามประเภทความเสี่ยงกันเลย
การลงทุน คืออะไร
การลงทุน คือ การใช้เงินให้เพิ่มพูนงอกเงย โดยการนำเงินที่ได้การจากออมไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต การลงทุนที่ดี อย่างน้อยควรจะได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อ เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าของเงินลดลง หมายความว่า เงินจำนวนหนึ่งในปัจจุบันสามารถซื้อได้น้อยกว่าเงินจำนวนเดียวกันในอดีต ดังนั้นถ้าเราลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าระดับของเงินเฟ้อ แปลว่า ต่อให้เราได้ชื่อว่าได้ลงทุนแล้ว แต่ผลจากการลงทุนก็ไม่อาจทำให้รักษามูลค่าของเงินไว้ได้อย่างเต็มที่
ทำไมเราต้องลงทุน
คำถามนี้ถูกตอบด้วยเรื่องของ “วัตถุประสงค์ของการลงทุน” นักลงทุนหน้าใหม่อาจมีคำถามว่า ‘ทำไมเราต้องลงทุนด้วย’ เก็บเงินไว้ในบัญชีธนาคารเฉยๆไม่ได้หรือ ในความเป็นจริงก็ต้องบอกว่า “ได้” แต่อย่างที่กล่าวถึงไปในหัวข้อ การลงทุนคืออะไร ไปแล้วว่าการลงทุนที่ดีก็ควรได้รับผลตอบแทนอย่างน้อยที่สุดก็ควรชนะเงินเฟ้อ ยกตัวอย่างปี 2022 ที่เงินเฟ้อทั่วไป (การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการทุกหมวดหมู่) อยุ่ที่ 6.5% และผลตอบแทนเฉลี่ยในเงินฝากแบบออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ในปี 2023 ต่ำสุดอยู่ที่ 0.125% ต่อปี สูงสุดอยู่ที่ 2.000% ต่อปี (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย) แสดงให้เห็นว่าลำพังเพียงการฝากเงินไว้ในบัญชีเงินฝากแบบออมทรัพย์อย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอที่จะให้ผลตอบแทนชนะอัตราเงินเฟ้อได้ ดังนั้นจึงกลับมาที่คำถามที่ว่า “ทำไมเราถึงต้องลงทุน” โดยวัตถุประสงค์หลักของการลงทุนแยกได้เป็น 5 วัตถุประสงค์หลักๆ ได้แก่
- เพื่อเพิ่มโอกาสในการหารายได้ นอกจากรายได้ที่มาจากงานประจำ การลงทุนโดยเฉพาะลงทุนในกองทุนรวมหรือหุ้นที่มีการปันผลที่มาจากกำไรจากการดำเนินการนั้นทำให้เรามีรายรับเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง
- เพื่อรักษามูลค่าของเงิน (ป้องกันเงินเฟ้อ) เงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องน่ากลัวถ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านทำให้เราเห็นว่า เงินเฟ้อในระดับมากกว่า 5% ทำให้เงินที่เราถืออยู่ รวมถึงเงินที่ฝากเอาไว้ในบัญชีมีค่าน้อยลงอย่างมากดังนั้นการลงทุนที่ดีและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าจะช่วยรักษามูลค่าของเงินเอาไว้ให้ให้เรามีอำนาจซื้อเท่าเดิม
- เพื่อสร้างความมั่งคั่ง รู้หรือไม่ว่าในโลกของเรา ‘การลงทุน’ สามารถเปลี่ยนชีวิตและฐานะของเราได้จริง เพียงแค่เราศึกษาสิ่งที่เราจะไปลงทุนอย่างจริงจัง มีวินัยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้นก็รอให้เวลาทำงานเราจะพบว่าผลตอบแทนนั้นคุ้มค่ากับสิ่งที่เราทุ่มเท
- เพื่อให้มีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ การเริ่มต้นลงทุนเพื่อการเกษียณต้องเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อยเพราะถึงแม้เราจะมีเงินไม่มาก แต่เรามีเวลาในการทำงานและเก็บเงินเพื่อลงทุนเกษียณอีกไม่ต่ำกว่า 30-40 ปี และอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “ดอกเบี้ยทบต้น” ทำให้เงินของเรางอกเงยและเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
- เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ลงทุนเพื่อนำเงินไปแต่งงาน ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือแม้กระทั่งการลงทุนต่อ อย่างเช่น ลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีกำไรเติบโตทุกปีเมื่อได้กำไรจากการลงทุนหุ้นได้ตามจำนวนที่มุ่งหวังแล้วก็อาจจะนำลงไปลงทุนในทองคำ หรือซื้อที่ดิน อันเป็นการลงทุนต่อและต่อยอดการลงทุน
รูปแบบผลตอบแทนจากการลงทุน
สินทรัพย์เพื่อการลงทุนแต่ละประเภทก็ให้ผลตอบแทนในหลากหลายรูปแบบ อาทิ
- เงินปันผล (Divident) เงินปันผลคือเงินส่วนที่บริษัทจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นจากกำไรที่บริษัททำได้ เงินปันผลสามารถจ่ายในรูปแบบของเงินสดหรือหุ้นก็ได้
- กำไรจากส่วนต่างราคาสินทรัพย์ (Capital Gain) เมื่อเราลงทุนในสินทรัพย์ใดและสินทรัพย์นั้นมีการเติบโตของราคาสินทรัพย์ หรือก็คือการเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์เมื่อเวลาผ่านไป และเมื่อเราขายสินทรัพย์นั้นในราคาที่สูงกว่าตอนที่เราสูงมาในครั้งแรก ก็จะเกิดเป็นกำไรที่ได้จากการขายสินทรัพย์ ซึ่งก็คือ เงินส่วนต่างระหว่างราคาที่ขายสินทรัพย์กับราคาที่ซื้อสินทรัพย์ กำไรจากการขายสินทรัพย์สามารถเกิดขึ้นได้จากการซื้อขายหุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์อื่นๆ
- ดอกเบี้ย (Interest Income) ดอกเบี้ยคือเงินที่บริษัทหรือรัฐบาลจ่ายให้กับผู้ที่ถือตราสารหนี้ อย่างเช่น พันธบัตรรับบาลหรือหุ้นกู้ โดยสถานะของคนที่ถือตราสารหนี้ คือ การเป็นเจ้าหนี้ขององค์กรนั้นๆ โดยผู้ถือตราสารหนี้สามารถได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย ทุก 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี
อยากเริ่มลงทุนต้องทำอย่างไร
เมื่อเราตั้งเป้าหมายที่อยากจะทำอะไรให้สำเร็จการตัดสินใจลงมือทำเลยทำให้เราขยับเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้ได้ แต่ก็อาจจะต้องลองผิดลองถูกซึ่งจะทำให้เราเสียเวลาอยู่ไม่ใช่น้อย เช่นเดียวกันถ้าเราเอาแต่วางแผนและมัวแต่เล็ง โดยไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง เราก็ไม่มีทางถึงจุดหมายปลายทางได้เป็นแน่แท้
ดังนั้นการเดินทางสายกลางก็คือ เราต้องเริ่มต้นจากการวางแผนการลงทุนส่วนบุคคลที่ดีก่อน แล้วลงปฏิบัติจริง พร้อมทั้งทบทวนถึงเป้าหมาย แต่ผลลัพธ์ที่ได้ระหว่างทางว่ายังเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ถ้าพบว่าสิ่งที่ตั้งใจไว้ยังเหมือนเดิม เป้าหมายยังคงชัด แต่ผลลัพธ์ระหว่างทางอาจทำให้เราไปไม่ถึงฝั่งฝันก็จะต้องมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาและวางแนวทางเลือกในการแก้ปัญหาและเลือกแนวทางแก้ปัญหาที่ตรงกับสาเหตุและให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ทำซ้ำอยู่อย่างนี้ก็จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจเอาไว้ได้ ไปดูกันว่าแนวทางในการเริ่มวางแผนการลงทุนส่วนบุคคลนั้นมีแนวทางอย่างไรบ้าง
รู้จักตัวเอง
การรู้จักตัวเองในฐานะที่เป็นผู้ลงทุนเป็นเรื่องแรกที่สำคัญมากเราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเป้าหมายของการลงทุนของเรา เราลงทุนไปเพราะอะไร เช่นบางคนเริ่มลงทุนตอนอายุ 25 ปี มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลตอบแทนในเงินต้นโดยมุ่งหวังว่าจะมีเงินใช้อย่างสุขสบายในวัยเกษียณ แบบนี้เป็นการลงทุนระยะยาว แปลว่าเงินที่เราลงทุนจะเป็นเงินเย็นชนิดที่ว่า เย็นมาก ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้ในระยะมากกว่า 20 ปี
หรือในเรื่องความเสี่ยงลองถามตัวเองดูว่าถ้าวันนี้คุณมีเงิน 100,00 บาทเงินหายไป 20,000 - 30,000 บาทคุณรู้สึกอย่างไรคุณจะหวั่นไหวมากน้อยแค่ไหน ถ้าคุณบอกว่าจากเงินต้น 100,000 หายไป 5,000 ก็นอนไม่หลับแล้ว แบบนี้แปลว่าคุณเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้น้อย ก็จะต้องเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือเสี่ยงระดับปานกลาง เพราะระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กัน เราอาจจะได้ผลตอบแทนน้อยหน่อยแต่เงินต้นของคุณก็มีโอกาสหายไปน้อยกว่า แต่ต้องกาดอกจันตัวใหญ่ๆเลยว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ความเสี่ยงอะไร ก็ความเสี่ยงที่คุณจะสูญเสียเงินต้นนั่นเอง เพราะการลงทุนไม่ใช่การฝากเงินที่จะไม่มีความเสี่ยง ซึ่งแม้แต่การฝากเงินนอนไว้ในบัญชีเฉยๆยังมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเลย
วิเคราะห์การเงินส่วนบุคคลและกำหนดจำนวนเงินลงทุนและความถี่ในการลงทุน
ก่อนที่จะเราจะเริ่มลงทุนเราต้องมี ‘เงินทุน’ เสียก่อน แล้วเงินทุนมาจากไหน ที่จริงแล้วเงินลงทุนนั้นมาได้จากหลายแหล่งแต่ส่วนใหญ่ผู้อ่านบทความนี้คงเป็นมนุษย์เงินเดือนกันเสียเป็นส่วนมาก ดังนั้นมากกว่า 50% ของเงินลงทุนจะมาจากเงินเดือนของเรา โดยเราควรทำรายรับรายจ่ายให้เรียบร้อย และแบ่งอย่างน้อย 10% มาเป็นเงินออม โดยเงินออมก้อนแรกมีไว้สำหรับสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการหารายได้ของเรา
สมมติว่าเรามีค่าใช้จ่ายจำเป็นอยู่ที่เดือนละ 20,000 บาท แบ่งเป็นค่าอาหารและค่าบริการต่างๆ 10,000 บาทและหนี้สินอย่างเช่น ค่าผ่อนรถ หรือผ่อนบ้าน อีก 10,000 บาท เราก็ควรสำรองไว้อย่างน้อยสุด 60,000 บาท หลังจากที่เก็บครบ 60,000 บาทแล้ว เงินเดือนถัดจากนั้นแบ่งออกมาอย่างน้อย 10% หรือมากกว่านั้นตามกำลังที่เราไหว
สมมติเราเงินเดือน 25,000 บาท 10% ก็คือ 2,500 บาท ดังนั้นเราจะนำเงิน 2500 บาทไปซื้อกองทุนรวม หรือ หุ้นรายตัวในสัดส่วนเงิน 2,500 บาททุกเดือนไม่ว่ามูลค่าของสินทรัพย์ของเราจะขึ้นหรือจะลง เหตุผลก็เพื่อขจัดอคติทางด้านราคาและสร้างวินัยในการลงทุนวิธีนี้ว่า DCA หรือ Dollar Cost Average
วิเคราะห์เป้าหมายการลงทุน
เปิดด้วยคำถามที่ว่าเงินที่คุณนำมาลงทุนเป็นเงินเย็นแค่ไหน คำว่าเย็นแค่ไหนก็คือ ระยะเวลาที่คุณไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนดังกล่าวอยู่ที่กี่เดือน กี่ปี 1 ปี 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เพราะเป้าหมายในการลงทุนส่วนนึงมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาในการลงทุน กล่าวคือถ้าคุณตั้งเป้าหมายในการลงทุนสำหรับอยากจะเก็บเงินให้ได้ 500,000 แสนบาทสำหรับเป็นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจ คำถามที่นักลงทุนอยากรู้ก็คือ เราต้องลงทุนในสินทรัพย์อะไรและเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ต่อเดือนเพื่อให้ถึงเป้าหมาย 500,000 บาทภายใน 3 ปี แปลว่าหากคุณเก็บเงินอย่างเดียวโดยไม่ได้นำไปลงทุนเลยเดือนละ 10,000 บาท คุณจะใช้เวลา 50 เดือน หรือประมาณ 4 ปีกับอีก 2 เดือนในการทำฝันให้เป็นจริง
แต่ถ้าคุณลงทุนในกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ต่อปีจากที่ถ้าเราฝากเงินไว้ในธนาคารเฉยๆเราอาจจะต้องใช้เวลาถึง 4 ปีกับ 2 เดือน แต่ถ้าคุณศึกษาสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งจะเปรียบเสมือนเครื่องทุนทุ่นแรงทำให้เราถึงเป้าหมายเร็วขึ้นเหลือแค่ 3 ปีกับอีก 5 เดือน ร่นระยะเวลาไปได้ถึง 9 เดือนจากผลลัพธ์ของผลตอบแทนแบบทบต้น นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ตอบคำถามว่าทำไมเราถึงต้องลงทุน
ศึกษาและทำความเข้าใจในสิ่งที่เราจะลงทุน
ในหัวข้อย่อยนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับประเภทของสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่นักลงทุนหน้าใหม่อย่างเราควรต้องรู้เป็นอย่างยิ่ง โดยเราจะแบ่งตามระดับความเสี่ยงและจำนวนเงินลงทุนเริ่มต้น เพื่อเป็นแนวทางให้นักลงทุนหน้าใหม่ที่อาจจะเพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงานและจำนวนลงทุนยังไม่สูงมากเกิดคำถาม “งบน้อยลงทุนอะไรดี”
ข้อมูลต่อไปนี้จะเป็นประเภทของผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุนที่แบ่งตามระดับความเสี่ยง โดยเป็นข้อมูลของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ สำนักงาน ก.ล.ต.
เสี่ยงต่ำ คือ สินทรัพย์ที่มีโอกาสสูญเสียเงินน้อยมาก สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมักมีสภาพคล่องสูง ซึ่งหมายความว่าสามารถขายได้ง่ายและรวดเร็วโดยไม่สูญเสียเงินมากนัก สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมักมีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ความเสี่ยงที่ต่ำก็ทำให้สินทรัพย์เหล่านี้เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการรักษาเงินออมหรือสร้างผลกำไรในระยะยาว สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำก็มีโอกาสสูญเสียเงินได้เช่นกัน แต่โอกาสจะน้อยกว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำจึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำได้แก่
- เงินฝากธนาคาร
- เงินฝากออมทรัพย์
- เงินฝากประจำ
- เงินฝากประจำแบบพิเศษ หรือ เงินฝากปลอดภาษี
- กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในประเทศ
เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ คือสินทรัพย์ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินมากกว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเช่นกัน สินทรัพย์ประเภทนี้มักเป็นสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น
- พันธบัตรรัฐบาล
- กองทุนรวมตลาดเงิน
- กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล
- กองทุนรวมตราสารหนี้
เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง คือ สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่งและต้องการโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์เหล่านี้อย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนและต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สินทรัพย์ที่ถูกจัดอยู่ในหมวดเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง
- หุ้นกู้
- กองทุนรวมผสม
เสี่ยงสูง คือ สินทรัพย์ที่มีโอกาสสูญเสียเงินได้มากกว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมักให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นเช่นกัน สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่
- หุ้น
- กองทุนรวมหุ้น
- กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม
- LTF (Long Term Equity Fund) กองทุนรวมระยะยาว
- ETF (Exchange Traded Fund) คือ กองทุนรวมชนิดหนึ่ง ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ซื้อขายได้สะดวกเสมือนหุ้น
เสี่ยงสูงมาก คือ สินทรัพย์ที่มีโอกาสที่จะสูญเสียเงินสูงเช่นกัน สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากมักมีความผันผวนสูง และราคาอาจเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากมักมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก ได้แก่
- ทองคำ
- สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Future Contract)
- Derivative Warrant (DW)
- Equity Crowdfunding
- กองทุนรวมที่มีการลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก เช่น ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ , ทองคำ , น้ำมันดิบ
เราจะเห็นได้ว่าสินทรัพย์เพื่อการลงทุนนั้นมีอยู่มากมายเลยทีเดียวดังนั้นในฐานะมือใหม่หัดลงทุน ก็อาจจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำไปจนถึงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง อย่างเช่น กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล หรือหากมีความชำนาญเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย ก็อาจจะขยับสินทรัพย์ที่จะลงทุนมาเป็นกองทุนรวมดัชนี อย่างเช่น กองทุนรวมดัชนี SET50 ที่อ้างอิงหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 50 ตัวแรกเรียงตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด
นอกจากสำหรับใครที่ศึกษาเรื่องความเสี่ยงมาเป็นอย่างดีแล้วต้องการให้พอร์ตการลงทุนของเรามีสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นก็ทำได้ แต่ทั้งนี้แนะนำให้ลองไปเข้าไปทำแบบทดสอบประเมินความเสี่ยงที่เว็บไซต์ของ ก.ล.ต ที่ได้นี่ “แบบประเมินความเสี่ยงในการลงทุน”
ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
ข้อนี้สำคัญที่สุดไม่แพ้ข้ออื่นๆ เพราะแม้เราจะมีเงินลงทุนที่น้อย แต่ถ้ามีความสม่ำเสมอและมีวินัยในการลงทุน กล่าวคือใส่เงินลงทุนทุกเดือนเพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการลงทุนของเรา จากเงินก้อนเล็กๆก็สามารถเติบโตเป็นเงินหลักหมื่น หลักแสน และหลักล้านได้
สินทรัพย์เพื่อการลงทุนนั้นมีมากมายแต่ก็ใช่ว่าใครบอกว่าสินทรัพย์นี้ดีซื้อหุ้นตัวนี้แล้วขึ้นแน่นอนแล้วเราจะกระโดดไปลงทุนได้เลย เพราะสินทรัพย์แต่ละชนิดก็มีระดับความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าทางการเงินอย่างฟิวเจอร์ หรือ ออปชั่น ที่ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ในการลงทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจ
แล้วถ้าเรามีเงินลงทุนน้อยจะลงทุนอะไรดี และลงทุนได้จริงๆหรือ ก็ต้องบอกว่า ได้ เพราะทาง Krungthai เข้าใจมือใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มต้นลงทุน บางท่านอาจจะยังไม่มีงบประมาณในการลงทุนที่มาก แต่อยากเริ่มวางแผนความมั่งคั่ง หรือ แผนการเกษียณให้กับตนเอง การเริ่มเข้าไปทำความคุ้นเคยกับโลกแห่งการลงทุนจริงๆย่อมดีกว่าการอ่านและศึกษาเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ทดลองจริง
และวันนี้ Krungthai ได้ทำให้แนวความคิดดังกล่าวเป็นความจริงถึงมีเงินแค่ 100 บาทก็เริ่มต้นลงทุนได้ง่ายๆ ทั้ง หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ‘NEXT INVEST’ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ‘Krungthai Next’ แล้วเข้าไปที่แถบ "บริการ" คลิกที่ "เมนูกองทุนรวม" จากนั้นทำการเปิดบัญชีเพื่อเข้าสู่โลกแห่งการลงทุนได้เลย โดยคุณสามารถศึกษาเงื่อนไขรายละเอียดการใช้งานเพิ่มเติมได้ ที่นี่
ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารและความรู้มีอยู่มากมายบนโลกที่ไร้พรมแดน การเข้าถึงข้อมูลการลงทุนก็ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว แล้วมาติดตามบทความดีทางด้านการเงินและการลงทุนได้ใหม่ที่ www.krungthai.com