เรียนรู้การเงิน

ดีวาน่า โฮเทลแอนด์รีสอร์ท ฝ่าทุกวิกฤติท่องเที่ยว ยืนหยัดในธุรกิจโรงแรมอย่างแข็งแกร่งนานกว่า 20 ปี

อัปเดตวันที่ 10 ต.ค. 2566

ดีวาน่า โฮเทลแอนด์รีสอร์ท ฝ่าทุกวิกฤติท่องเที่ยว ยืนหยัดในธุรกิจโรงแรมอย่างแข็งแกร่งนานกว่า 20 ปี


KEY TAKEAWAYS

  • ปั้นธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตและกระบี่ เพราะเชื่อมั่นในพลังแห่งที่ตั้งของโรงแรม (Location) และการเติบโตของสองเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก
  • อาศัยการเรียนลัดและเก็บเกี่ยวประสบการณ์การบริหารโรงแรมจากเชนอินเตอร์ เพื่อนำมาปรับใช้และบริการธุรกิจโรงแรมในแบบฉบับของตัวเอง
  • ปรับปรุงโรงแรมอยู่เสมอตามระยะเวลาที่ผ่านไป เพราะโปรดักต์ใหม่ย่อมมีโอกาสขายได้ง่ายกว่าโปรดักต์เก่า
  • ความสะอาดและการบริการเป็นเรื่องเดียวกัน และจะทำให้ลูกค้าประทับใจ กลับมาพักอีกเรื่อย ๆ
  • มาตรการช่วยเหลือจากแบงก์ชาติและธนาคารกรุงไทยช่วยให้ฝ่าวิกฤติและกลับมาตั้งหลักใหม่ได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
  • เปิดใจรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ผ่านการกลั่นกรองจากทีมงาน เปิดโอกาสให้ทีมงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
  • เอสเอ็มอีต้องบริหารเงินให้ดี เชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำ และรู้จักวางแผนที่จะเติบโตในอนาคต

ไม่ใช่เรื่องที่พบเห็นได้บ่อยนักกับการที่ Gen Y หันหลังให้ธุรกิจครอบครัว เพื่อเดินหน้าปลุกปั้นธุรกิจโรงแรมของตัวเอง กระทั่งยืนหยัดมาได้ยาวนานกว่า 20 ปี เหมือนกับที่ คุณศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีวาน่า โฮเทลแอนด์รีสอร์ท ผู้ก่อตั้งโรงแรมในเครือดีวาน่า สามารถทำได้ แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะต้องเผชิญกับวิกฤติหลายครั้ง รวมถึงการระบาดของโควิด 19 ซึ่งเป็นวิกฤติที่เลวร้ายและยาวนานที่สุด แต่ด้วยประสบการณ์ วิสัยทัศน์ที่เฉียบคม ก็สามารถนำพาให้ธุรกิจกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ภายใต้มาตรการช่วยเหลือด้านวงเงิน Soft Loan และโครงการ Asset Warehousing จากแบงก์ชาติและธนาคารกรุงไทย



บุกเบิกธุรกิจโรงแรม เรียนรู้การบริหารจากเชน แล้วพัฒนาต่อยอดในรูปแบบของตัวเอง

ย้อนกลับไปในอดีต ครอบครัวของคุณศึกษิตไม่ได้ดำเนินธุรกิจโรงแรม เดิมคุณแม่เปิดร้านทอง ส่วนคุณพ่อทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แต่เมื่อถึงรุ่นลูกทั้งสองคน (คุณศึกษิตและคุณจริยาวดี ผู้เป็นพี่สาว) ไม่ต้องการสานต่อธุรกิจของครอบครัว เนื่องจากไม่มีความชื่นชอบและไม่ถนัด ขณะเดียวกันก็เล็งเห็นโอกาสของธุรกิจโรงแรม จากการที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างชัดเจน นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งที่เงินบาทอ่อน ค่าลง จนดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวเมืองไทย ประกอบกับเกิดแคมเปญ Amazing Thailand ในปี 1999 ยิ่งทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะภูเก็ตกลายเป็นปลายทางยอดนิยมของการท่องเที่ยวโลกจนถึงทุกวันนี้

"ก่อนหน้านี้เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ภูเก็ตไม่ได้บูมเรื่องท่องเที่ยวขนาดนี้ หลังพี่สาวเรียนจบด้านการโรงแรมจากประเทศอังกฤษ จึงปรึกษากันว่าน่าจะทำธุรกิจโรงแรม เพราะเห็นสัญญาณที่ดีของการท่องเที่ยว จากการที่ค่าเงินบาทลอยตัวจากดอลลาร์ละ 25 บาท พุ่งขึ้นไปถึง 56 บาท นักท่องเที่ยวต่างชาติจึงจ่ายที่พักราคาเท่าเดิมแต่พักได้นานขึ้นสองเท่า ตอนนั้น Amazing Thailand ก็ดันตัวเลขนักท่องเที่ยวขึ้นเป็นปีละ 10 ล้านคน แถมภูเก็ตก็เป็นหมุดหมายเมืองชายทะเล ขายได้ทั้งหน้าไฮ ซีซันและหน้าโลว์ ซีซัน ทั้งตลาดยุโรปและเอเชีย นั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดโรงแรมแรกของเราในปี 2000 ภายใต้การสนับสนุนและให้คำแนะนำในการยื่นกู้แบงก์จากคุณพ่อและคุณแม่ โดยใช้ชื่อว่า ดีวาน่า ป่าตอง รีสอร์ทแอนด์สปา ทำกันง่าย ๆ แบบบังกะโล แค่ 54 ห้อง เพราะเราเป็นมือใหม่ จนมีห้องพัก 235 ห้อง ในปี 2547 เปิดมาไม่กี่เดือนก็เจอสึนามิ ซึ่งเป็นวิกฤติแรกเลย ถึงโรงแรมจะไม่ได้รับความเสียหาย แต่ภาพรวมทั้งพื้นที่หยุดชะงักไปราว 6-8 เดือน แล้วหลังจากนั้นป่าตองก็กลับมาบูมแบบสุด ๆ กว่าเดิมอีก"

เมื่อทิศทางธุรกิจเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ คุณศึกษิต จึงเดินหน้าขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ดีวาน่า โฮเทลแอนด์รีสอร์ท มีโรงแรมทั้งหมด 8 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและกระบี่ ประกอบด้วย ดีวาน่า ป่าตอง รีสอร์ท แอนด์ สปา, ดีวาน่า พลาซ่า ภูเก็ต ป่าตอง, รามาด้า บาย วินด์แฮม ภูเก็ต ดีวาน่า, ดีวาน่า พลาซ่า กระบี่ อ่าวนาง, ดีวาน่า กระบี่ รีสอร์ท, รีเซนต้า สวีท ภูเก็ต สวนหลวง, รีเซนต้า ภูเก็ต สวนหลวง และรีเซนต้า สไตล์ ภูเก็ตทาวน์


ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้แบรนด์ของตัวเองและบริหารเอง ดีวาน่า พลาซ่า ภูเก็ต ป่าตอง เคยใช้แบรนด์เมอร์เคียว 8 ปี เพราะคุณศึกษิตตั้งใจออกแบบและสร้างเป็นโรงแรมเชนตั้งแต่แรก เพื่อเก็บเกี่ยวทักษะ แนวคิด มุมมอง และอาศัยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการบริหารโรงแรม รวมถึงเรียนรู้ข้อบกพร่องและช่องโหว่ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับโรงแรมแรกที่เปิดให้บริการ

ทั้งนี้ โรงแรมแต่ละแห่งของดีวาน่า โฮเทลแอนด์รีสอร์ท มีกลุ่มเป้าหมายหลักเฉพาะของตัวเอง เช่น ดีวาน่า พลาซ่า ภูเก็ต ป่าตอง นอกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ยังเน้นตลาดประชุม สัมมนา ช่วงหน้าโลว์ ซีซันจึงได้กลุ่มลูกค้าคนไทย ทำให้ช่วงเริ่มต้นที่ตัดสินใจใช้เชนอินเตอร์บริหาร เมื่อผนวกกับแฟซิลิตี้และเทคโนโลยีที่รองรับการประชุมแบบครบครัน ช่วยให้ดึงตลาดประชุมสัมมนาได้ง่าย แต่หลังจากติดตลาดแล้วก็สามารถบริหารจัดการเองต่อไปได้ ด้วยประสบการณ์และคอนเนกชันกับเซลส์และลูกค้า รวมถึงการใช้จุดแข็ง 3 อย่าง คือ ห้องพักดี แฟซิลิตี้ดี และอาหารอร่อย เป็นสิ่งดึงดูด อีกทั้งได้การรับรองมาตรฐานต่าง ๆ จากทั้งในไทยและต่างประเทศ ยิ่งช่วยตอกย้ำคุณภาพในด้านการรองรับไมซ์ของโรงแรมได้เป็นอย่างดี

และในฐานะที่คุณศึกษิตสวมหมวกอีกใบในตำแหน่ง "นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้" ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบการท่องเที่ยวของภูเก็ตว่า เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวกลับมาพักซ้ำค่อนข้างมาก ช่วงไฮ ซีซันตลาดยุโรปจะมาอยู่ยาว พอกลับไปไม่ทันไรก็จองห้องพักสำหรับปีหน้าไว้รอแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจลงทุนขยายกิจการในภูเก็ตเป็นหลัก เพราะมีโอกาสเติบโตชัดเจน ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตทั้งที่เป็นโลคัลและเชนต่างชาติ ก็ร่วมมือร่วมใจพัฒนาการท่องเที่ยว ไม่ได้ถือว่าเป็นคู่แข่งกัน โดยคุณศึกษิตมองว่า เชนต่างชาติมีข้อดีอยู่มาก เพราะหากไม่มีเชนต่างชาติมาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมโรงแรมตั้งแต่อดีต การยอมรับของภูเก็ตในระดับสากล รวมทั้งสายการบินนานาชาติ ก็จะไม่เปิดเส้นทางบินมายังภูเก็ตมากมายอย่างปัจจุบันนี้



ทำธุรกิจโรงแรม ต้องเลือกโลเคชันที่ใช่ พร้อมปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค

คุณศึกษิตให้คำแนะนำว่าธุรกิจโรงแรมเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อสร้างเสร็จแล้วเคลื่อนย้ายไปไหนไม่ได้แล้ว ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องประเมินคือ "โลเกชัน" ต้องใช่หรือถูกต้องก่อน อย่างโรงแรมทุกแห่งของ ดีวาน่า โฮเทลแอนด์รีสอร์ท จะตั้งอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย โดยเฉพาะป่าตองที่จับกลุ่มตลาดต่างชาติที่มีความหลากหลาย

"ธุรกิจโรงแรมในป่าตองมีโอกาสรอดสูง โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ติดชายหาด เพราะนี่คือ ป่าตองซิตี้ มีทั้งชายหาด และไนท์ไลฟ์ คนใช้ชีวิตอยู่ทั่วทั้งเมือง ไม่ใช่แค่บีช ช่วงไฮซีซันแต่ละโรงแรมถูกจองเต็มหมด ถึงแม้ดีวาน่า พลาซ่า ภูเก็ต ป่าตอง อยู่บนเส้นถนนสายสอง ห่างจากหาด 500 เมตร ก็ไม่ใช่ปัญหา และตอนนั้นยังใช้แบรนด์เมอร์เคียว ก็เป็นเชนอินเตอร์แบรนด์แรกที่ตั้งอยู่บนถนนเส้นนี้ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าถ้าจะทำโรงแรม 4 ดาว ต้องอยู่สายหนึ่ง ติดหาดเท่านั้นในยุคก่อน ส่วนโรงแรมดีวาน่า ป่าตอง รีสอร์ท แอนด์ สปา ก็ไม่ได้อยู่ติดหาดเช่นกัน แต่โดยเฉลี่ยมี Occupancy Rate ถึง 80% ต่อปี"

นอกจากนี้ คุณศึกษิตบอกว่าอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ โปรดักต์ต้องมีเสน่ห์ มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัว เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้ลูกค้าประจำกลับมาพักครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น ดีวาน่า ป่าตอง รีสอร์ท แอนด์ สปา เป็นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการมาพักผ่อนหย่อนใจล้วน ๆ ต่างกับที่ดีวาน่า พลาซ่า ภูเก็ต ป่าตอง ที่เป็น Mixed Market Segment มีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายสัญชาติที่มาพักผ่อนและกลุ่มไมซ์ซึ่งเป็นคนไทย รวมถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินเดีย ส่วน รามาดา บาย วินด์แฮม ภูเก็ต ดีวาน่า ป่าตอง ใช้เชนต่างชาติมาดึงตลาด เพื่อจับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชอบแบรนด์ สิ่งที่สำคัญถ้าเราดูแลลูกค้าได้ดี ปีต่อไปลูกค้ากลับมาแน่นอน

สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาดและการขายก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ในอดีตธุรกิจโรงแรมพึ่งพาช่องทางการขายแบบโฮลเซลมากถึง 90% จากนั้นเมื่อราว 15 ปีที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวถูกดิสรัปต์ด้วยดิจิทัล นักท่องเที่ยวมีช่องทางที่หลากหลายให้เลือกจอง โดยเฉพาะ OTA หรือ Online Travel Agent และการจองตรงผ่านเว็บไซต์ของโรงแรม ซึ่งนั่นทำให้ ดีวาน่า โฮเทลแอนด์รีสอร์ท ต้องปรับตัวอย่างทันท่วงทีเช่นกัน

"ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราปรับกลยุทธ์การตลาดและการขายอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเราทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ออฟไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ สัดส่วนโฮลเซลก็ลดลงเป็นลำดับจาก 60-70% แล้วเป็น OTA อีก 30% จนถึงวันนี้โฮลเซลเหลือเพียง 30-40% เท่านั้นที่เหลือเป็น OTA กับจองตรงผ่านเว็บไซต์โรงแรม และคาดว่าในอนาคตช่องทางการขายแบบเก่าจะลดลงเรื่อย ๆ แม้แต่ในช่องทางเดียวกันเอง การใช้งานในแต่ละแพลตฟอร์มก็แตกต่างกัน อย่างทุกวันนี้แทบจะไม่มีใครจอง OTA ผ่านแล็ปท็อปหรือคอมพิวเตอร์กันแล้ว เพราะกดจองผ่านโมบายแอปพลิเคชันสะดวกกว่า"



หลังโควิด 19 แม้ธุรกิจจะสดใสกว่าที่คาดแต่ต้องรับมือกับปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่ม

"ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเหมือนเราแน่นิ่งไปเลย จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 40 ล้านคน แล้ววูบไปเหลือแค่ 5-6 ล้านคน ในปี 2019 โดนสั่งปิดโรงแรมช่วงเดือนเมษายน ปีถัดมาก็ยิ่งเหลือน้อยมาก แต่เมื่อปีที่แล้วนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 11 ล้านคนต่อปี แต่พอไปเทียบกับตัวเลขเดิมก็ยังห่าง พอมาปีนี้คาดว่าจะปิดยอดที่ 30 ล้านคน และปี 2024 ก็อาจจะแตะ 40 ล้านคนได้ เพราะปีนี้จีนเปิดประเทศตั้งแต่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา"

อย่างไรก็ตามแม้การท่องเที่ยวภูเก็ตและการท่องเที่ยวไทยจะกลับมามีสัญญาณบวกที่เด่นชัด จาก Occupancy Rate ที่ดีมากใกล้เคียงกับปี 2019 แต่รายได้กลับยังห่างจากช่วงก่อนการระบาดของโควิด 19 เพราะผู้ประกอบการคาดการณ์ไม่ถูกว่าจีนจะเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปี 2023 จึงปล่อยโปรโมชันแบบจัดหนักจัดเต็มสำหรับช่วงไฮซีซันไปแล้ว ในช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา และยังมีอุปสรรคค่าโดยสารเครื่องบินมีราคาสูงกว่าเดิมมาก แม้จะจ่ายค่าโรงแรมถูกลงก็ตาม อีกทั้งต้นทุนค่าไฟก็เพิ่มสูงขึ้นมาก จากค่า FT ที่แพงขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ พนักงานในโรงแรมยังขาดแคลนอีกด้วย ดังนั้น การวางแผนจัดการกำลังคนในช่วงการระบาดของโควิด19 จึงทำให้พนักงานแต่ละคนทำงานได้หลายตำแหน่ง วางโครงสร้างองค์กร Agile เหมือนบริษัทเทคโนโลยี ลดลำดับขั้น ทำงานข้ามแผนกได้ ทำให้สามารถรับมือกับ Occupancy Rate ที่บางช่วงพุ่งสูงถึง 90% ได้ ในขณะที่มีพนักงานเหลือเพียง 60-70%

คุณศึกษิตมักได้รับคำถามอยู่เป็นประจำว่าทำธุรกิจโรงแรมอย่างไรให้ยั่งยืนมาได้นานถึง 20 ปี เพราะธุรกิจนี้มักมีแต่อุปสรรครุมเร้าตลอดเวลา "ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ดีมีศักยภาพ แต่พอดีสัก 2-3 ปี ก็จะมีอุปสรรคเข้ามา อย่างตอนเปิดโรงแรมดีวาน่า ป่าตอง รีสอร์ทแอนด์สปา ไม่นานก็เจอสึนามิ หลังจากนั้นก็เจอวิกฤติโรคซาร์ส ไข้หวัดนก การประท้วงภายในประเทศ เหตุเรือล่ม วิกฤติโควิด19 ถ้าช่วงไหนการท่องเที่ยวดีมากให้เตรียมใจไว้เลย แต่วิกฤติทุกครั้งทำให้เราได้เรียนรู้ อย่างช่วงเหตุเรือล่มทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวจีนหายไปเลย เราก็ต้องเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น"

"ที่สำคัญต้องไม่ปล่อยให้โรงแรมเก่า หรือทรุดโทรม ทุก 5 ปีต้องมีการปรับปรุง เพราะโรงแรมที่มี Occupancy Rate 80% ผ่านไป 5-6 ปีก็เก่าแล้ว และผ่านไป 10 ปีก็ต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ต้องเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งในห้อง ล็อบบี้ สระว่ายน้ำหรือการตกแต่งอื่น ๆ เช่น ดีวาน่า พลาซ่า ภูเก็ต ป่าตอง เพิ่งปรับปรุงทำห้องพักประเภท Pool Access ปรับปรุงสระว่ายน้ำ รวมถึงยุบห้องนวดในสปา เปลี่ยนเป็นบาร์และร้านอาหารโอเพ่นแอร์ เพราะพนักงานสปาหายไป 80% เรามองว่าต่อให้โรงแรมเก่าแค่ไหน สิ่งสำคัญคือต้องสะอาด นอนสบาย แอร์เย็นฉ่ำ อุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ชำรุด รวมถึงบริการต้องดี ซึ่งความสะอาดนั่นแหละคือ การบริการ ที่สะท้อนถึงความดูแลเอาใจใส่ของทางโรงแรม"



มาตรการ Soft loan และ Asset Warehousing ตอบโจทย์ความต้องการได้ตรงจุด

คุณศึกษิตบอกว่าก่อนที่แบงก์ชาติจะออกมาตรการช่วยเหลือนี้ ได้มีการพูดคุยและสอบถามกับสมาคมโรงแรมไทยและสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวต่าง ๆ อยู่หลายรอบ เพื่อนำข้อมูลไปพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือให้ตอบโจทย์มากที่สุด ขณะที่กรุงไทยซึ่งให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ก็ขานรับนโยบายของแบงก์ชาติในช่วงโควิด 19 ทำให้ธุรกิจของคุณศึกษิตได้ลดต้นมากกว่า 1 ปี ได้ Soft Loan เพื่อนำมาประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไป รวมถึงได้เงินทุนมาปรับปรุงโรงแรม ตลอดจนช่วยเหลือและดูแลพนักงาน ขณะที่มาตรการ Asset Warehousing พักทรัพย์ พักหนี้ ก็ทำให้หายใจหายคอคล่องขึ้น เพราะวิกฤติเกิดขึ้นยาวนานกว่าที่คิด

"ปี 2021 เราได้เงินทุนหมุนเวียน และเข้ามาตรการ Asset Warehousing พอปี 2022 ได้เงินทุนปรับปรุง เป็นเงินทุนที่ช่วยในการรีสตาร์ตธุรกิจ ทำให้ธุรกิจไม่สะดุด เปลี่ยนผ่านไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะธุรกิจโรงแรมเดินได้ด้วยเงินจริง ๆ ถ้าไม่มีเงินมาสนับสนุน โรงแรมเราจะเก่ามาก ทำให้ขายยาก ดังนั้นธนาคารกรุงไทยก็ช่วยสนับสนุน เพื่อที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน"

คุณศึกษิตได้ให้คำแนะนำสำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจว่า ต้องบริหารเงินให้ดี เพราะเมื่อเกิดวิกฤติผู้ประกอบการรายใหญ่มักจะมีทุนสำรอง มีทางออกเยอะกว่า เช่น การยื่นกู้แบงก์ แต่ถ้าเป็นเอสเอ็มอี ต้องมีสภาพคล่องทางการเงิน

"การที่เอสเอ็มอีจะยื่นกู้ อาจไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะอาจทำธุรกิจซื้อมาขายไป มีแต่เงินหมุน ดังนั้น จึงต้องบริหารจัดการเงินให้มีประสิทธิภาพ ให้เป็นระบบ ไม่เช่นนั้นต่อให้ขายได้มากเท่าไหร่ก็ไม่เหลือ เพราะมีช่องทางที่เงินรั่วไหลไปได้เยอะ อีกปัจจัยที่ต้องคำนึงคือ จะทำธุรกิจอะไรต้องมีความชำนาญในธุรกิจนั้นจริง ๆ รวมถึงต้องเรียนรู้เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ขณะเดียวต้องเพิ่มพูนทักษะ เพราะเติมทุนอย่างเดียวไม่พอ ต่อให้ยุ่งแค่ไหน ต้องแบ่งเวลาไปเติมทักษะด้วย เพื่อเปิดรับมุมมองและ องค์ความรู้ใหม่ ๆ ประการสุดท้ายคือ ต้องมี Growth Story เมื่อธุรกิจเติบโตต้องขยายสเกลให้ได้ เพราะเอสเอ็มอีมักจะติดขัดเรื่องกำลังการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากเจาะตลาดได้ดี มีดีมานด์เข้ามาเยอะ แต่ผลิตสินค้าส่งให้ลูกค้าไม่ทัน เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมพร้อมในวันที่ตัวเองขายดีด้วย" คุณศึกษิตกล่าวทิ้งท้ายถึงเอสเอ็มอีไทย

#เคล็ดลับธุรกิจ #ดีวาน่าโฮเทลแอนด์รีสอร์ท #DeevanaHotelsandResorts #กรุงไทยSME #ติดปีกให้ธุรกิจคุณ #สินเชื่อเพื่อการปรับตัว #สินเชื่อฟื้นฟูเพื่อธุรกิจ


แนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับธุรกิจท่าน