เรียนรู้การเงิน

สินเชื่อ OD VS สินเชื่อเงินก้อน ต่างกันอย่างไรทำไมผู้ประกอบการ SME ควรรู้

อัพเดทวันที่ 27 ก.ย. 2566

 สินเชื่อ OD คือ

ทำธุรกิจให้ไม่สะดุด หัวใจสำคัญคือการบริหารจัดการเงิน แต่ปัญหาที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้เสมอ ในสถานการณ์ที่ต้องใช้เงิน และหยิบยืมใครไม่ได้ ผู้ประกอบการ SME สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

สำหรับสินเชื่อเพื่อธุรกิจที่เจ้าของธุรกิจ SME รู้จักดี คือ สินเชื่อเงินก้อน (Loan) และ สินเชื่อ OD (Overdraft) โดยบทความนี้จะพาทุกคนมารู้จักสินเชื่อ OD และสินเชื่อเงินก้อนให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME เปรียบเทียบความแตกต่าง และใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกสินเชื่อให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ


รู้จัก สินเชื่อ OD และ สินเชื่อเงินก้อน


สินเชื่อ OD (Overdraft) คืออะไร?

สินเชื่อ OD (Overdraft) เรียกอีกชื่อว่า เงินเบิกเกินบัญชี คือ การกู้เบิกเงินเกินบัญชี สินเชื่อประเภทนี้ธนาคารจะให้กู้ยืมเงินในรูปแบบของเงินหมุนโดยผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อกับธนาคารตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด จากนั้นธนาคารจะตั้งเป็นวงเงินไว้ในบัญชี กระแสรายวัน (Current Account) ซึ่งสามารถเบิกใช้เต็มจำนวน หรือทยอยถอนบางส่วน แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่ธนาคารกำหนด โดยเงื่อนไขการผ่อนชำระนั้นจะเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาสินเชื่อ ทั้งนี้ การให้กู้ยืมเงินในรูปแบบของเงินหมุนนั้น จะทำการคำนวณดอกเบี้ยเป็นรายวันตามจำนวนเงินที่เบิกใช้จริง โดยดอกเบี้ยจะถูกคำนวณทุกสิ้นเดือน


สินเชื่อเงินก้อน คืออะไร?

สินเชื่อเงินก้อน คือ เงินกู้ (Loan) สินเชื่อประเภทนี้ธนาคารจะให้กู้ยืมเงินในรูปแบบของเงินก้อน โดยเจ้าของธุรกิจสามารถยื่นขอสินเชื่อเงินก้อนตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด จากนั้นธนาคารจะโอนเงินกู้ยืมดังกล่าวให้เต็มจำนวนที่ได้รับอนุมัติ โดยจะโอนเข้าบัญชีที่มีอยู่กับธนาคาร เพื่อให้สามารถนำเงินกู้ยืมดังกล่าวไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้กับธนาคาร หลังจากได้รับเงินกู้ยืมแล้วจะต้องทยอยผ่อนชำระเงินกู้ยืมดังกล่าว พร้อมด้วยดอกเบี้ยคืนให้แก่ธนาคารตามเงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสินเชื่อ


ข้อดีของสินเชื่อ OD และ สินเชื่อเงินก้อน


ข้อดีของสินเชื่อ OD คือ

  • สะดวก เบิกจ่ายได้หลายช่องทาง
  • จ่ายดอกเบี้ยเฉพาะยอดเงินที่เบิกเกินบัญชี
  • ไม่มีระยะเวลากำหนด ตราบใดที่ยังมีวงเงินอยู่


ข้อดีของสินเชื่อเงินก้อน คือ

  • ได้รับเงินก้อนพร้อมใช้ได้ทันที
  • อัตราดอกเบี้ยต่ำ ใช้วิธีคิดแบบลดต้นลดดอก
  • บริหารการเงินได้ดี เพราะรู้จำนวนเงินที่ต้องชำระแต่ละงวด

ข้อดีของสินเชื่อ OD และ สินเชื่อเงินก้อน


สินเชื่อแต่ละประเภทเหมาะกับใคร?

สินเชื่อ OD คือ สินเชื่อเงินเบิกเกินบัญชี อยู่ในหมวดที่ใช้หมุนเวียนในธุรกิจในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เป็นวงเงินสำรองที่นำมาใช้เวลาที่จำเป็นหรือหมุนเงินไม่ทัน เช่น การซื้อวัตถุดิบ การสต็อกสินค้า เป็นต้น จึงเหมาะกับธุรกิจที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนตลอดเวลา เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ

สินเชื่อเงินก้อน คือ สินเชื่อที่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว เช่น การตกแต่งร้าน การสร้างโกดัง เป็นต้น จึงเหมาะกับผู้ประกอบการที่มีแผนหรือเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาธุรกิจ

หากอยากกู้ยืมเงินจากสินเชื่อเพื่อธุรกิจทั้ง 2 ประเภท แต่ยังสับสนว่าจะกู้เงินจากสินเชื่อประเภทไหนดี ลองมาดูตัวอย่าง เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ดังนี้

ตัวอย่างที่ 1
นางสาวอภิรดี เปิดคาเฟ่ขายขนมเค้กและกาแฟมาเป็นระยะเวลา 3 ปี มียอดขายต่อเดือนประมาณ 200,000 บาท ในทุก ๆ วันจะมีรายจ่ายในการซื้อวัตถุดิบและมีรอบวันสำหรับซื้อบรรจุภัณฑ์เข้าร้าน แต่เมื่อเจอปัญหาเครื่องทำกาแฟขัดข้อง จึงต้องนำเงินสำรองออกมาใช้ ทั้งค่าซ่อมเครื่องกาแฟและค่าเช่าเครื่องกาแฟมาใช้ระหว่างรอซ่อม ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องซื้อบรรจุภัณฑ์เข้าร้านพอดี นางสาวอภิรดีไม่อยากหยิบยืมเงินจากครอบครัวจึงต้องการกู้สินเชื่อจากธนาคารเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องจำนวน 100,000 บาท

จากตัวอย่างข้างต้น นางสาวอภิรดีควรกู้ยืมเงินเป็นสินเชื่อ OD เงินเบิกเกินบัญชี ที่อยู่ในหมวดหนี้ระยะสั้น เพื่อนำไปใช้ซื้อบรรจุภัณฑ์มาเพิ่ม เพื่อสามารถนำมาบรรจุเครื่องดื่มและขนมเค้กขายต่อไปได้ โดยที่ไม่ต้องไปยืมเงินจากครอบครัวมาใช้ก่อน และเผื่อสำรองเมื่อมีเหตุที่อุปกรณ์เครื่องใช้ชำรุด ซึ่งสามารถนำเงินออกมาใช้ได้ทันที ตามจำนวนที่ธนาคารได้ตั้งวงเงินไว้ให้


ตัวอย่างที่ 2
นายอลงกรณ์ ต้องการเปิดร้านขายลาบที่ตกแต่งในสไตล์วินเทจบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย โดยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวน 400,000 บาท ประกอบด้วยค่าเซ้งร้าน 100,000 บาท ค่าต่อเติมและตกแต่ง 200,000 บาท ค่าอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ตู้แช่ อุปกรณ์ครัว จาน ชาม โต๊ะและเก้าอี้จำนวน 100,000 บาท

จากกรณีดังกล่าวนายอลงกรณ์ ควรกู้ยืมเงินเป็นสินเชื่อประเภทเงินก้อน เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนเปิดร้านลาบ โดยนายอลงกรณ์สามารถทยอยผ่อนคืนเป็นรายงวดได้(อาจจะผ่อนได้นาน 60 เดือน หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร) โดยนายอลงกรณ์จะต้องเลือกระยะเวลาและยอดผ่อนชำระ ให้สอดคล้องกับผลกำไรในแต่ละเดือน และจะต้องไม่เป็นภาระกับธุรกิจจนเกินไป


ข้อควรระวังในการกู้สินเชื่อ o/d คือ

  • ควรเบิกใช้ตามวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ สินเชื่อ OD คือ สินเชื่อที่สามารถเบิกเงินเกินบัญชีได้ตามวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ แต่ไม่มีการควบคุมการเบิกใช้ จึงจำเป็นต้องระมัดระวังว่าเงินยังเพียงพอต่อการสั่งจ่ายเพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เช็คเด้งหรือเช็คไม่ สามารถขึ้นเงินได้
  • ควรใช้เงินให้ถูกวัตถุประสงค์ จุดประสงค์หลักของสินเชื่อ เงินเบิกเกินบัญชีในหมวดเงินหมุนเวียนระยะสั้นคือรอนำเงินที่ได้จากการทำธุรกิจเข้ามาลดยอดหนี้ เช่น จ่ายค่าวัตถุดิบ ค่าแรงพนักงาน แต่ผู้กู้บางรายนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นหรือใช้กับทรัพย์สินระยะยาว เช่น ซื้อรถ ซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน ส่งผลให้กระแสเงินเข้าสู่บัญชีช้าลง ทำให้เงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ ขาดสภาพคล่อง เสียเครดิตเนื่องจากผิดนัดชำระหนี้ และต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงเกินจำเป็น สุดท้ายอาจติดตัวแดงในบัญชี
  • ควรวางแผนการจ่ายคืนอย่างรอบคอบ ดอกเบี้ยของสินเชื่อ OD สูงกว่าดอกเบี้ยสินเชื่อเงินก้อน ควรวางแผนการจ่ายคืนอย่างรอบคอบ เพราะไม่เช่นนั้นจะเจอกับจำนวนดอกเบี้ยที่สูงจนทำให้ธุรกิจต้องสะดุด

ข้อควรระวังในการกู้สินเชื่อ OD


ดังนั้นหากใช้สินเชื่อ OD ตามวัตถุประสงค์ เบิกใช้ตามวงเงินทีได้รับการอนุมัติ และวางแผนการจ่ายเงินอย่างรอบคอบก็สามารถเสริมสภาพคล่องและขับเคลื่อนธุรกิจได้ โดยผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่สนใจสมัครสินเชื่อ OD ของกรุงไทยมี สินเชื่อ SME ไซส์เล็ก สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก สำหรับร้านค้ารายย่อย พ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการเงินลงทุนเพื่อขยายร้าน เติมสต็อก ซื้อวัตถุติบ หรือเพิ่มเงินหมุนเวียนในธุรกิจ กู้ได้สูงสุดถึง 3 ล้านบาท (บสย. ค้ำประกันเต็มวงเงิน)

สุดท้ายนี้ไม่ว่าผู้ประกอบการ SME จะต้องการขอสินเชื่อ OD หรือสินเชื่อเงินก้อน สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือการรู้จักธุรกิจของตัวเอง ขนาดของเงินหมุนเวียน ความถี่ของการใช้เงิน และความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อวางแผนทางการเงินให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น และการเลือกสินเชื่อที่เหมาะกับวัตถุประสงค์ในการใช้จะทำให้การบริหารการเงินไม่ติดขัดและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ทั้งนี้สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.krungthai.com

สินเชื่อ OD คืออะไร ทำไมผู้ประกอบการ SME ต้องรู้ | ธนาคารกรุงไทย Overdraft สินเชื่อเงินกู้เบิกเกินบัญชี หรือ OD คืออะไร แตกต่างจากสินเชื่อเงินก้อนอย่างไร ข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวัง มีอะไรบ้าง