เรียนรู้การเงิน

4 ขั้นตอนวางแผนเกษียณอายุให้มั่นคง และตอบโจทย์ชีวิต

อัปเดตวันที่ 24 พ.ย. 2565

4 ขั้นตอนวางแผนเกษียณอายุให้มั่นคง และตอบโจทย์ชีวิต

เพราะการออมเงินสำหรับในช่วงวัยเกษียณที่พอกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ไม่เพียงช่วยให้ใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างมีความสุข แต่ยังช่วยให้ไม่ต้องกังวลกับค่ารักษาพยาบาล เพื่อความมั่นใจและสบายใจในการใช้เงินจนถึงวันสุดท้าย การเก็บเงินออมก่อนเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการวางแผนเกษียณอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมายและตอบโจทย์ความต้องการของชีวิต

กรุงไทยรวบรวม 4 ขั้นตอนสำหรับการวางแผนเกษียณอายุมนุษย์เงินเดือนที่กำลังมองหาความมั่นคงในอนาคต


1. ตั้งเป้าอายุและจำนวนเงินหลังเกษียณ

กำหนดอายุเกษียณเพื่อให้รู้ว่าเหลือเวลาในการทำงานและเก็บเงินอีกกี่ปี ทำให้วางแผนเกษียณอายุได้อย่างรอบคอบ เช่นเดียวกับการตั้งเป้าหมายของจำนวนเงินที่ต้องการมีหลังเกษียณเป็น ซึ่งจะแตกต่างกันตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน

สูตรอย่างง่ายสำหรับคำนวณจำนวนเงินที่ควรมีในวันแรกของการเกษียณ

จำนวนเงินที่ควรมี = ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อปี* X จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ
*ประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน หรือปรับสัดส่วนได้ตามต้องการ

ตัวอย่างเช่น
นายแทนไท อายุ 35 ปี ต้องการเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตต่อไปอีก 20 ปี ปัจจุบันแทนไทมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 30,000 บาท จึงคาดว่าค่าใช้จ่ายต่อเดือนในช่วงเกษียณจะอยู่ที่ราว 21,000 บาท หรือ 252,000 บาท ต่อปี เท่ากับว่าก่อนเกษียณ แทนไทจะต้องมีเงินเตรียมไว้ถึง 252,000 x 20 = 5,040,000 บาท

อย่างไรก็ตาม สูตรนี้เป็นเพียงการคำนวณอย่างง่ายๆ ยังไม่ได้มีการคิดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี แปลว่าหากคิดอัตราเงินเฟ้อด้วย แทนไทจะต้องเก็บเงินมากกว่านี้ราว 2-3 เท่า แม้ดูเป็นจำนวนเงินที่สูง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ในชีวิตจริงเราอาจได้ขึ้นเงินเดือนทุกปี มีรายได้ทางอื่น หรือลงทุนเพิ่มจนเอาชนะเงินเฟ้อได้ เป้าหมายที่ดูเหมือนยากก็อาจไม่ไกลเกินเอื้อม


ตารางตัวอย่างการคำนวณเงินหลังเกษียณที่ไม่รวมผลเงินเฟ้อ

ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือน (บาท)

จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ

10 ปี

15 ปี

20 ปี

25 ปี

20,000

2,400,000

3,600,000

4,800,000

6,000,000

30,000

3,600,000

5,400,000

7,200,000

9,000,000

40,000

4,800,000

7,200,000

9,600,000

12,000,000

50,000

6,000,000

9,000,000

12,000,000

15,000,000



2. ตรวจสอบเงินออม ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ประจำ

เมื่อได้จำนวนเงินออมที่ต้องการแล้วให้ตรวจสอบเงินออมเพื่อวางแผนเกษียณ ได้แก่ บัญชีเงินฝาก เงินประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันออมทรัพย์ หุ้น กองทุนรวม ฯลฯ โดยนำเงินทั้งหมดมารวมกันเพื่อให้เห็นว่ายังขาดเงินที่ต้องออมเพิ่มเติมอีกเท่าไร ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเริ่มออมเงินได้เร็วและเยอะ ก็จะช่วยให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น

โดยทั่วไปแล้ว เงินออมที่มีอยู่มักจะห่างไกลจากจำนวนเงินที่ตั้งเป้าไว้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้คือ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ใช้จ่ายเงินอย่างรอบคอบ และควรนำเงินไปลงทุนต่อยอดการวางแผนเกษียณอายุเป็นอย่างแรก เพื่อให้ไปถึงยอดเงินออมที่วางไว้

ถ้าจะให้ดีควรเพิ่มรายได้ประจำด้วยการมองหางานเสริม ซึ่งมีทั้งงานเสริมที่ต้องลงทุน เช่น ขายของออนไลน์ ทำอาหารขาย ซื้อแฟรนไชส์ ฯลฯ และงานเสริมไม่ต้องลงทุน เช่น การเป็นที่ปรึกษา การเป็นครูสอนพิเศษ การใช้ความรู้เฉพาะทาง ฯลฯ โดยต้องค้นหาสิ่งที่ถนัดและอย่าลืมพิจารณาตัวเลขในบัญชีอย่างรัดกุมก่อนตัดสินใจ


ตรวจสอบเงินออม ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ประจำ เพื่อการวางแผนเกษียณอายุ



3. วางแผนลงทุนเพื่ออนาคต

การวางแผนการลงทุนที่ดีต้องเหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ ยิ่งลงทุนเร็วตอนอายุยังน้อยยิ่งได้เปรียบ เพราะใช้เงินลงทุนต่อเดือนน้อยและรับความเสี่ยงได้มาก แต่หากลงทุนช้าตอนอายุมากขึ้นจะต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้นและเน้นความเสี่ยงต่ำ โดยพอร์ตการลงทุนจะประกอบด้วยเป้าหมาย ระยะเวลาการลงทุน และผลตอบแทนที่คาดหวังจากพอร์ต โดยแบ่งตามระดับความเสี่ยง คือ

  • ความเสี่ยงสูง ได้แก่ หุ้นสามัญ กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมน้ำมัน ฯลฯ
  • ความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ ตราสารหนี้ภาคเอกชน กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว กองทุนรวมผสม ฯลฯ
  • ความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ เงินฝาก พันธบัตรออมทรัพย์ ตราสารหนี้ภาครัฐ ฯลฯ

หากใครสนใจลงทุนด้วยการซื้อกองทุนรวมอย่าง SSF และ RMF สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ กองทุนรวมกรุงไทย พร้อมเปิดบัญชีกองทุน ซื้อ-ขาย ได้รวดเร็วผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT เลย


ตัวอย่างผลตอบแทนการลงทุน 30 ปี โดยคาดหวังผลตอบแทนแบบทบต้น 8-10% ต่อปี

เงินลงทุนต่อเดือน (บาท)

อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี

8%

9%

10%

1,000

1,468,150

1,782,903

2,171,321

3,000

4,404,451

5,348,707

6,513,963

5,000

7,340,752

8,914,513

10,856,605

เราแนะนำให้จัดสรรเงินเดือนทุกเดือนมาเป็นเงินออมเพื่อการเกษียณ เพื่อสร้างวินัยการออมและจะได้รู้จำนวนเงินออมที่เก็บได้ในแต่ละปีจนถึงวันเกษียณ เมื่อออมเงินได้ในระดับหนึ่งสามารถนำเงินก้อนนี้ไปต่อยอดการลงทุนเพื่อการเกษียณเพื่อผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น


4. ติดตามและตรวจสอบแผนเกษียณอายุอยู่เสมอ

วางแผนเตรียมเกษียณอายุแล้ว ไม่ต้องรีรอ เริ่มต้นลงมือทำได้เลย แต่ในทุกๆ ปี อย่าลืมกางแผนเกษียณออกมาทบทวนดู เพื่อตรวจสอบและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งสถานการณ์ชีวิตและสถานการณ์ตลาดการลงทุนที่อาจเปลี่ยนแปลง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับตัวเลือกที่น่าสนใจให้การเก็บเงินไปถึงเป้าหมายที่กรุงไทยอยากแนะนำคือ การซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และประกันบำนาญ ซึ่งจะช่วยให้เรามีวินัยเก็บเงินอย่างสม่ำเสมอ แถมยังได้รับความคุ้มครองจากประกันชีวิตในระยะยาวอีกด้วย

เข้าใจเรื่องการวางแผนเกษียณกันแล้ว มาลงมือทำกันเลยดีกว่า! ด้วยโปรแกรมคำนวณการวางแผนการเกษียณของกรุงไทย หลังจากนี้ก็แค่ทำตามแผนอย่างสม่ำเสมอ เราเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตในวันข้างหน้าของทุกคนพบกับความมั่นคงและมั่งคั่งอย่างแน่นอน


Ref.
https://www.setinvestnow.com/th/financialplanning/retirement-planning

4 ขั้นตอนวางแผนเกษียณอายุให้มั่นคงและบรรลุเป้าหมาย | ธนาคารกรุงไทย วางแผนเกษียณไม่ใช่เรื่องของคนอายุมาก จะดีกว่าไหม ถ้าวางแผนตอนนี้ด้วย 4 ขั้นตอนวางแผนเกษียณ เพื่อเตรียมพร้อมการใช้ชีวิตหลังเกษียณ