เรียนรู้การเงิน

ประกันลดหย่อนภาษี ซื้อแบบไหนลดหย่อนได้สูงสุด

อัพเดทวันที่ 20 ต.ค. 2565

ประกันลดหย่อนภาษี ซื้อแบบไหนลดหย่อนได้สูงสุด


การบริหารความเสี่ยง ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการวางแผนการเงิน เพราะหากเราตั้งหน้าตั้งตาออมเงิน โดยไม่มีการป้องกันความเสี่ยง หรือเหตุไม่คาดฝัน เงินเก็บทั้งหมดที่เรามี ก็อาจหมดลงได้ในพริบตาเดียว

การทำประกันคือทางเลือกรับมือกับความเสี่ยงที่น่าสนใจ และในอีกแง่หนึ่ง การทำประกันยังช่วยให้เรามีเงินสะสมสำหรับอนาคต เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อดูแลตัวเอง และเพื่อคนที่เรารัก ขณะเดียวกันประกันบางรูปแบบยังช่วยให้เราได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อหนึ่งด้วยการใช้ประกันลดหย่อนภาษี อย่างประกันสุขภาพ ประกันสุขภาพเหมาจ่าย ประกันอุบัติเหตุและประกันชีวิต

โดยเฉพาะประกันชีวิตจะได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้มากกว่าประกันรูปแบบอื่น ลองมาดูกันว่าประกันชีวิตแบบไหนบ้าง ที่ช่วยให้เราประหยัดภาษีได้ และประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่


ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่าไร

ประกันชีวิตมีหลายรูปแบบให้เลือก แต่ละรูปแบบก็มีเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีที่ต่างกัน ใครที่อยากรู้ว่าประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่าไร ลองศึกษาได้จากข้อมูลดังนี้


1. ประกันชีวิตทั่วไป

มีหลายรูปแบบ ทั้งลดหย่อนภาษีประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ลดหย่อนภาษีประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ลดหย่อนภาษีประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และการลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิตควบการลงทุน


1.1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life)

เป็นประกันชีวิตที่เน้นคุ้มครองชีวิตในระยะยาว แต่จ่ายเบี้ยเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เช่น จ่ายเบี้ยเพียง 20 ปีแรก แต่คุ้มครองชีวิตถึงอายุ 99 ปี


1.2. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance)

เป็นประกันที่เน้นความคุ้มครองต่อชีวิตในช่วงระยะเวลาสั้นๆ หากครบกำหนดคุ้มครองแล้วผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่ ก็จะไม่ได้รับทุนประกันคืน


1.3 .ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment)

ประกันชีวิตที่เน้นเรื่องการออมเงิน โดยจะได้ผลตอบแทนตามอัตราที่กำหนดไว้ซึ่งจะมากกว่าเบี้ยประกันชีวิตที่เราจ่ายไป พร้อมทั้งได้รับความคุ้มครองชีวิตด้วย และยังใช้ประกันออมทรัพย์ลดหย่อนภาษีได้

สิทธิ์ลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตทั่วไป (1.1. – 1.3.) : สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาทตามจำนวนที่จ่ายจริง หากมีประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ก็จะลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

เงื่อนไขการใช้ประกันสะสมทรัพย์ลดหย่อนภาษี: ต้องเป็นประกันชีวิตโดยบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น และต้องมีระยะเวลาคุ้มครองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป กรณีที่ประกันมีการจ่ายเงินคืนทุกปี จำนวนเงินต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยรายปี หรือหากเป็นการจ่ายเงินคืนตามช่วงเวลา จำนวนเงินต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสมของแต่ละช่วงเวลา แต่ถ้ามีการเลิกสัญญา หรือเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีของกรมธรรม์ฉบับนั้นได้อีก พร้อมคืนภาษีย้อนหลังทั้งหมดที่ได้รับการลดหย่อนไป บวกกับดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือนของยอดภาษีที่ต้องจ่าย


1.4 .ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือ Investment Linked Life Insurance

เป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองชีวิต และให้โอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งในเบี้ยประกันจะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1) ส่วนค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของบริษัทประกัน 2) ส่วนความคุ้มครอง และ 3) ส่วนที่นำไปลงทุน

สิทธิ์ลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตควบการลงทุน: ค่าใช้จ่ายส่วนที่ 1) ส่วนค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของบริษัทประกัน และ 2) ส่วนความคุ้มครอง เมื่อรวมกับประกันชีวิตแบบทั่วไปอื่นๆ สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท โดยประกันต้องมีระยะเวลาความคุ้มครองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป สำหรับส่วนที่ 3) ที่นำไปลงทุนจะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

เงื่อนไขการใช้ประกันลดหย่อนภาษี : ต้องเป็นประกันชีวิตโดยบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น และต้องมีระยะเวลาคุ้มครองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป กรณีที่ประกันมีการจ่ายเงินคืนทุกปี จำนวนเงินต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยรายปี หรือหากเป็นการจ่ายเงินคืนตามช่วงเวลา จำนวนเงินต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสมของแต่ละช่วงเวลา แต่ถ้ามีการเลิกสัญญา หรือเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ประกันลดหย่อนภาษีของกรมธรรม์ฉบับนั้นได้อีก พร้อมคืนภาษีย้อนหลังทั้งหมดที่ได้รับการลดหย่อนไป บวกกับดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือนของยอดภาษีที่ต้องจ่าย


ประกันชีวิตควบการลงทุน ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่


2.ประกันชีวิตแบบบำนาญ

เป็นประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองในรูปแบบรายได้หลังเกษียณ โดยผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเบี้ยไปจนถึงอายุที่กำหนดในสัญญา และบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้เราเมื่อเราเกษียณ

สิทธิ์ลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตแบบบำนาญ: สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

(สิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ)

Tip: หากเราซื้อประกันชีวิตบำนาญเกินกว่าสิทธิ์ลดหย่อนภาษีที่กำหนดไว้ 200,000 บาท เราสามารถแบ่งเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญนี้ไปใช้โควตาของเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปให้ครบสิทธิ์ 100,000 บาทได้ด้วย ก็จะลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิตแบบบำนาญได้สูงสุดถึง 300,000 บาท

เงื่อนไขการใช้ประกันลดหย่อนภาษี :
ประกันชีวิตแบบบำนาญที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ต้องเป็นประกันที่ทำร่วมกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น และต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ โดยกำหนดช่วงอายุในการจ่ายเงินที่ 55 – 85 ปีขึ้นไป และต้องจ่ายเบี้ยครบก่อนได้รับผลประโยชน์


ตารางสรุปสิทธิ์ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี

ประเภทของประกัน รูปแบบ สิทธิ์ลดหย่อนภาษี
ประกันชีวิต แบบตลอดชีพ ลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท
แบบชั่วระยะเวลา
แบบสะสมทรัพย์
แบบควบการลงทุน ค่าใช้จ่ายหลักและส่วนประกันภัยที่มีระยะความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท เมื่อรวมกับประกันชีวิตแบบทั่วไปอื่นๆ
แบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท หากไม่ได้ใช้สิทธิ์ในประกันชีวิตแบบทั่วไป สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท โดยแบ่งเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปใช้สิทธิ์ในส่วนของเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ครบ 100,000 บาท

สรุปสิทธิ์ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี


เทคนิค 3 ขั้น เลือกประกันลดหย่อนภาษีแบบสุดคุ้ม

1. คำนวณภาษีที่ต้องจ่าย

โดยคำนวณจากสูตร

เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

จากนั้นนำ เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย

หากมีรายได้หลายทาง ให้นำรายได้ทั้งหมดที่ไม่ใช่เงินเดือน x 0.5% = ภาษีที่ต้องจ่าย


2. ทำ Checklist สิทธิ์ลดหย่อนภาษี

เพื่อตรวจทานดูว่าเรามีสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีจากแหล่งใดบ้าง แล้วจึงวางแผนว่าซื้อประกันชีวิตลดหย่อนภาษีอย่างไรให้ครอบคลุม


3. เลือกซื้อประกันที่ตอบโจทย์

แม้วัตถุประสงค์ของการทำประกันก็เพื่อลดหย่อนภาษี แต่ถ้าจะได้ความคุ้มค่าจริงๆ ก็ควรเลือกให้ตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตด้วย เช่น ลองดูว่าเรายังขาดการวางแผนเกษียณหรือไม่ ถ้าใช่ อาจเลือกประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือต้องการสะสมเงิน ก็อาจเลือกประกันแบบสะสมทรัพย์ก็ได้

ที่สำคัญควรหมั่นเช็คความต้องการความคุ้มครองอยู่เสมอว่าระยะเวลาที่เปลี่ยนไป บริบทแวดล้อมของเราเปลี่ยนไปอย่างไร เช่น หากเรามีครอบครัว ก็ควรเพิ่มประกันแบบตลอดชีพไว้เผื่อคนข้างหลัง ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า ประกันชีวิต จัดเป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่ให้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งได้ความคุ้มครองชีวิต ช่วยรับมือจากความเสี่ยง และยังช่วยให้บริหารเงินในกระเป๋าได้ดียิ่งขึ้นจากสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจากการใช้ประกันลดหย่อนภาษี

หากใครที่ต้องการความคุ้มค่าจากการทำประกันชีวิต และอยากได้ความอุ่นใจจากบริษัทประกันที่ไว้ใจได้ เราขอแนะนำ ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ สมาร์ท เซฟเวอร์ 15/5 ที่ให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี พร้อมความคุ้มครองที่คุ้มค่า ด้วยผลประโยชน์รวมตลอดทั้งสัญญาสูงสุดถึง 587.5% ของทุนประกัน จ่ายเบี้ยประกันสั้นๆ เพียง 5 ปี แต่ได้รับความคุ้มครองถึง 15 ปี

ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี ซื้อแบบไหนลดหย่อนได้สูงสุด | ธนาคารกรุงไทย เรื่องภาษีต้องรู้ ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี ได้เท่าไร แต่ละประเภทมีเงื่อนไขอะไรบ้าง พร้อมเทคนิคเลือกประกันลดหย่อนภาษีแบบสุดคุ้ม