กองทุน SSF คืออะไร ลงทุนอย่างไรให้ได้ทั้งกำไรและลดหย่อนภาษี
หากคุณคือคนทำงาน เป็นมนุษย์เงินเดือนที่รายได้ถูกหักภาษี คงต้องเคยได้ยินชื่อกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มาบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการยกเลิกกองทุน LTF ไปเมื่อปีพ.ศ. 2562 และกองทุน SSF เข้ามาแทนจนกลายเป็นหนึ่งในการลงทุนลดหย่อนภาษีที่ได้รับความนิยมสูง แต่ถ้าใครยังไม่รู้จักกองทุน SSF กรุงไทยมีข้อมูลดีๆ มาบอก รับรองว่าจะช่วยให้เพื่อนๆ ลงทุนได้อย่างมั่นใจ และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
กองทุน SSF คืออะไร
กองทุน SSF คือกองทุนรวมเพื่อการออม ย่อมาจาก Super Saving Funds เป็นกองทุนที่รัฐบาลอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวให้กับประชาชน และยังให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกด้วย โดยเราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีผ่านกองทุน SSF ได้ระหว่างปีพ.ศ. 2563 – 2567 สำหรับหลังจากนี้อาจต้องรอภาครัฐกำหนดอีกครั้งว่าสิทธิลดหย่อนภาษีของกองทุน SSF จะเป็นอย่างไร
กองทุน SSF ลงทุนในสินทรัพย์แบบใด
การลงทุน SSF ลดหย่อนภาษี สามารถเลือกลงทุนในตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ สินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ หรือจะเลือกกองทุนผสม ที่มีนโยบาลการลงทุนในหลายประเภทสินทรัพย์ก็ได้
นโยบายการลงทุนที่หลากหลายของ SSF ถือเป็นจุดเด่นที่เหนือกว่าการลงทุนในกองทุน LTF แบบเดิมที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยเท่านั้น
เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษีของกองทุน SSF
-
· กองทุน SSF ลดหย่อนภาษีได้โดยไม่กำหนดขั้นต่ำ แต่ต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท (สิทธิเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ)
ข้อควรระวัง: ไม่ควรซื้อกองทุน SSF เกินสิทธิลดหย่อนภาษี เพราะเมื่อขายคืนหน่วยลงทุน จะต้องนำกำไรไปรวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา - การซื้อกองทุน SSF เพื่อสิทธิลดหย่อนภาษี ต้องถือหน่วยลงทุนให้ครบ 10 ปีแบบวันชนวัน นับตั้งแต่วันที่ซื้อหรือจนกว่าจะเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่อง เช่น หากซื้อกองทุน SSF เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2563 จะครบกำหนดวันที่ 1 ม.ค. 2573 และขายได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขในวันที่ 2 ม.ค. 2573
- ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีผ่านกองทุน SSF ได้ระหว่างปีพ.ศ. 2563 – 2567 หลังจากนี้ต้องรอประกาศนโยบายของภาครัฐอีกครั้ง
ตัวอย่างการคำนวณสิทธิลดหย่อนภาษี SSF ตัวอย่างที่ 1
ถ้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งปี 500,000 บาท แม้ว่าจะซื้อกองทุน SSF 200,000 บาท แต่สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจริง 150,000 บาทเท่านั้น มิฉะนั้นจะผิดเงื่อนไข เพราะเกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
ตัวอย่างการคำนวณสิทธิลดหย่อนภาษี SSF ตัวอย่างที่ 2
ถ้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งปี 1,000,000 บาท แล้วซื้อกองทุน SSF 400,000 บาท จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจริง 200,000 บาทเท่านั้น และผิดเงื่อนไขเช่นกัน
ตัวอย่างการคำนวณสิทธิลดหย่อนภาษี SSF ตัวอย่างที่ 3
ถ้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งปี 4,000,000 บาท จ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 400,000 บาท และซื้อกองทุน SSF อีก 200,000 บาท แม้ว่าจะยังไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ใช้สิทธิลดหย่อนจากกองทุน SSF ได้เพียง 100,000 บาทเท่านั้น เพราะเมื่อรวมกับเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะติดเพดานลดหย่อน 500,000 บาทนั่นเอง
ความแตกต่างระหว่างกองทุน SSF และ RMF
กองทุน RMF (Retirement Mutual Fund) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นอีกกองทุนลดหย่อนภาษีที่เราน่าจะคุ้นหู้เป็นอย่างดี เราสามารถลงทุนทั้ง SSF และ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีให้เต็มสิทธิ แต่ควรต้องศึกษาเงื่อนการลงทุนของทั้งสองกองทุนนี้ให้เข้าใจ เพื่อจะได้จัดสรรเงินลงทุนได้เหมาะสม โดยสามารถเปรียบเทียบข้อมูลได้จากตารางต่อไปนี้
เงื่อนไข | SSF | RMF |
นโยบายการลงทุน | ลงทุนได้ทุกประเภทสินทรัพย์ | ลงทุนได้ทุกประเภทสินทรัพย์ |
สิทธิลดหย่อนภาษี | 30%ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับสิทธิเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท | 30% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับสิทธิเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท |
ขายได้เมื่อไร | 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ นับแบบวันชนวัน | อายุครบ 55 ปี ลงทุนครบ 5 ปี นับแบบวันชนวัน |
จำนวนหน่วยลงทุนขั้นต่ำ | ไม่มีขั้นต่ำ | ไม่มีขั้นต่ำ |
ความต่อเนื่องการลงทุน | ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่อง | ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี |
วิธีเลือกกองทุน SSF
การเลือก SSF ลดหย่อนภาษีมีเทคนิคเบื้องต้นดังนี้
พิจารณาจากระยะเวลาในการลงทุน
อย่างที่บอกว่ากองทุน SSF เมื่อลงทุนแล้วจะต้องถือครองนาน 10 ปีแบบวันชนวันนับจากวันที่ซื้อ ส่วน RMF จะลงทุน 5 ปีนับจากวันซื้อครั้งแรก และขายคืนได้หลังอายุ 55 ปี ดังนั้นหากต้องการออมเงินระยะยาว แนะนำให้พิจารณาลงทุนใน SSF แต่หากอยากสะสมเงินสำหรับเกษียณ RMF ก็ตอบโจทย์มากกว่า ยกเว้นหากคุณอายุเกิน 50 ปี การลงทุนใน RMF ก็จะมีระยะเวลาถือครองที่สั้นกว่า คือจะขายคืนได้ในระยะเวลาเพียง 5 ปี หากลงทุนต่อเนื่องทุกปี
พิจารณาความเสี่ยง และเลือกนโยบายการลงทุนที่ตอบโจทย์
แม้ว่ากองทุน SSF สามารถลงทุนได้ทุกประเภทสินทรัพย์ แต่สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน จำเป็นต้องพิจารณาสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนให้ดี เช่น หากไม่พร้อมรับความเสี่ยงหรือโอกาสขาดทุน แนะนำให้เลือกกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ หรือหากพร้อมรับความเสี่ยง เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่เน้นหุ้น หรือสินทรัพย์ทางเลือกได้ ทั้งนี้ นักลงทุนต้องทำความเข้าใจนโยบายการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
พิจารณาผลการดำเนินงานและค่าธรรมเนียม
แน่นอนว่าในการเลือกกองทุน SSF ลดหย่อนภาษี เราต้องมองหากองทุนที่มีผลการดำเนินงานที่ดี แต่อย่าลืมว่ากองทุน SSF ส่วนมากจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการ หรือ Management Fee และค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน หรือ Back end Fee รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เรียกเก็บผ่านกองทุน
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การปรับพอร์ตการลงทุนตามสถานการณ์ เช่น หากลงทุนในช่วงใกล้เกษียณ ไม่พร้อมรับโอกาสขาดทุน ให้พิจารณาปรับพอร์ตเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ หรืออาจพิจารณากระจายความเสี่ยงของพอร์ต ให้ครอบคลุมสินทรัพย์หลากหลายประเภทก็ได้
เลือกกองทุน SSF แบบมีปันผล หรือไม่มีปันผล?
คำถามสำคัญที่หลายคนมักตั้งคำถาม ว่าจะเลือกกองทุน SSF แบบที่มีปันผล หรือไม่มีปันผล ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าเงินปันผลจากการลงทุนจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย ดังนั้นการเลือกกองทุนที่ไม่มีปันผลเราก็จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ SSF จะต้องถือครองนานถึง 10 ปี การได้เงินปันผลก็เท่ากับว่าได้ผลกำไรส่วนหนึ่งแบ่งออกมาก่อนนั่นเอง
SSF กองทุนไหนดี?
สำหรับคนที่เล็งเห็นโอกาสทำกำไรในหุ้นไทย และต้องการกองทุนรวมหุ้นไทยที่คัดสรรหุ้นคุณภาพอัดแน่นเต็มพอร์ต ขอแนะนำ 2 กองทุนมาแรง ดังนี้
กองทุนเปิดกรุงไทย ก่อการดี เพื่อการออม (ชนิดเพื่อการออม) (KTESGS-SSF)
จุดเด่น: กองทุนรวมดัชนีที่เน้นสร้างผลตอบแทนหลังหักค่าธรรมเนียมให้ใกล้เคียงกับดัชนีผลตอบแทนรวมอีเอสจี ไทยพัฒน์ (Thaipat ESG Index (TR)) ซึ่งเป็นดัชนีที่รวบรวมหุ้นของบริษัทที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)
เหมาะสำหรับ: คนที่เชื่อมั่นในศักยภาพของหุ้นไทย และเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลก สามารถยอมรับความผันผวนของราคาหุ้นได้ และต้องการลงทุนในระยะกลางถึงยาว
ระดับความเสี่ยง: 6 เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง
กองทุนเปิดกรุงไทย 70/30 เพื่อการออม (ชนิดเพื่อการออม) (KT70/30S-SSF)
จุดเด่น: เป็นกองทุนรวมผสม เน้นลงทุนในหุ้นไทย 70% โดยคัดเลือกหุ้นที่มีโอกาสทำกำไร และหลักทรัพย์อื่นๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนเหนือกว่าการลงทุนตามดัชนี
เหมาะสำหรับ: ผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้นไทย ที่เน้นการบริหารเชิงรุก (Active Management) และคาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนตามดัชนี สามารถยอมรับความผันผวนของราคาหุ้นได้ และต้องการลงทุนในระยะกลางถึงยาว
ระดับความเสี่ยง: 5 เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง
การซื้อกองทุน SSF เพื่อผลตอบแทนระยะยาวและลดหย่อนภาษี แม้จะมีความเสี่ยงและข้อควรระวังอยู่บ้าง แต่ก็เป็นช่องทางลงทุนที่เป็นประโยชน์กับเหล่ามนุษย์เงินเดือนอย่างมาก และหากศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ ก็จะช่วยให้เราเริ่มต้นลงทุนอย่างมั่นใจ ได้ทั้งกำไรและลดหย่อนภาษีอย่างแน่นอน