เรียนรู้การเงิน

รู้ทุกเรื่อง RMF คืออะไร RMF ลดหย่อนภาษีกองทุนไหนดี

อัพเดทวันที่ 5 ต.ค. 2565

รู้ทุกเรื่อง RMF คืออะไร RMF ลดหย่อนภาษีกองทุนไหนดี

เมื่อพูดถึงกองทุนลดหย่อนภาษีที่อยู่คู่กับมนุษย์เงินเดือนมายาวนาน คงหนีไม่พ้นกองทุน RMF กองทุนลดหย่อนภาษีที่เน้นเพื่อการออมสำหรับวัยเกษียณโดยเฉพาะ ด้วยระยะเวลาการลงทุนและข้อกำหนดในการขายคืนเมื่อถึงวัยเกษียณเท่านั้น กองทุน RMF จึงตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องการได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีทุกๆ ปี และเก็บเงินไว้สำหรับบั้นปลายของชีวิต


กองทุน RMF คืออะไร

กองทุน Retirement Mutual Fund หรือ RMF คือ กองทุนรวม
เพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการออมเงินเพื่อการเกษียณของคนไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากเน้นให้ลงทุนต่อเนื่องในระยะยาว คล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)


กองทุน SSF ลงทุนในสินทรัพย์แบบใด

การลงทุน SSF ลดหย่อนภาษี สามารถเลือกลงทุนในตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ สินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ หรือจะเลือกกองทุนผสม ที่มีนโยบาลการลงทุนในหลายประเภทสินทรัพย์ก็ได้

กองทุน RMF เงื่อนไขคือสามารถลงทุนได้ทุกประเภทสินทรัพย์ ตั้งแต่สินทรัพย์ความเสี่ยงไม่สูงอย่าง ตราสารหนี้ หรือเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนจากกองทุนผสม ที่เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น หรือจะลงทุนในหุ้นล้วนๆ ก็ได้ทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ หรือหากยอมรับความเสี่ยงได้มาก จะเลือกลงทุน RMF ในสินทรัพย์ทางเลือกอย่างอสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยง และแนวทางการจัดพอร์ตลงทุน เพราะในแต่ละปี สามารถเลือกลงทุนใน RMF ใหม่ๆ หรือกระจายหลายกองทุนได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องลงทุนในกองทุนเดียวตลอดระยะเวลาถือครอง


เงื่อนไขและสิทธิลดหย่อนภาษีของกองทุน RMF


เงื่อนไขและสิทธิลดหย่อนภาษีของกองทุน RMF


  • กองทุน RMF เงื่อนไขใหม่ ให้ใช้ RMF ลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ แต่จะสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณอื่นๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท (สิทธิลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณ เช่น กองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund), กองทุนรวมการออมระยะยาว (SSF), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันชีวิตแบบบำนาญ)
  • วิธีลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน RMF ต้องลงทุน RMF ต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) และสามารถขายคืนได้หลังจากอายุ 55 ปี (นับให้ครบวันเกิด)
  • หากไม่สามารถลงทุน RMF ต่อเนื่องทุกปี สามารถเว้นได้ไม่เกิน 1 ปี แต่ปีที่ไม่ได้ลงทุนก็จะไม่ถูกนับอายุ และหากเว้นไว้มากกว่าหนึ่งปีจะถือว่าทำผิดเงื่อนไข ซึ่งจะมีบทลงโทษทางภาษี
  • ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ผู้ซื้อต้องแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิ RMF ลดหย่อนภาษีให้บลจ. ทราบด้วย


บทลงโทษหากผิดเงื่อนไขกองทุน RMF

  1. กรณีลงทุน RMF ไม่ถึง 5 ปี ต้องคืนภาษีที่ได้รับการลดหย่อนย้อนหลังทุกปี และกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน เฉพาะส่วนที่ลงทุนเกิน จะถูกนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  2. กรณีลงทุนครบ 5 ปี แต่ขายก่อนอายุ 55 ปี ต้องคืนภาษีที่ได้รับการลดหย่อน 5 ปีย้อนหลัง แต่ไม่ต้องนำกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนไปรวมในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  3. กรณีซื้อ RMF เกินสิทธิลดหย่อน กำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน เฉพาะส่วนที่ลงทุนเกิน จะถูกนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ข้อควรระวัง: การยื่นคืนภาษีในกรณีผิดเงื่อนไข RMF คือ ต้องคืนภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ขายผิดเงื่อนไข หากคืนล่าช้า จะต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน โดยคิดตั้งแต่เดือนเมษายน


ความแตกต่างระหว่างกองทุน SSF และ RMF

สำหรับใครที่อยากจัดพอร์ตลงทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี เรามีข้อมูลสรุประหว่างกองทุน SSF และ RMF มาประกอบ ดังนี้

เงื่อนไข SSF RMF
นโยบายการลงทุน ลงทุนได้ทุกประเภทสินทรัพย์ ลงทุนได้ทุกประเภทสินทรัพย์
สิทธิลดหย่อนภาษี 30%ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับสิทธิเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท 30% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับสิทธิเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ขายได้เมื่อไร 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ นับแบบวันชนวัน อายุครบ 55 ปี ลงทุนครบ 5 ปี นับแบบวันชนวัน
จำนวนหน่วยลงทุนขั้นต่ำ ไม่มีขั้นต่ำ ไม่มีขั้นต่ำ
ความต่อเนื่องการลงทุน ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่อง ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี


เทคนิคเลือกกองทุน RMF

การลงทุน RMF ลดหย่อนภาษีสามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่หลากหลายได้ ดังนั้นเราจึงต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน โดยมีคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้


เทคนิคเลือกกองทุน RMF ลดหย่อนภาษี



พิจารณาความเสี่ยงในการลงทุน

แม้ว่าการลงทุนจะมาคู่กับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนได้ ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าเราสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน บางคนเพิ่งเริ่มลงทุน RMF และมีระยะเวลาถือครองแบบยาวๆ ก็สามารถเลือกกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้ บางคนเลือกลงทุนในช่วงใกล้เกษียณ ก็แนะนำให้เลือกความเสี่ยงแบบพอเหมาะ เพื่อลดโอกาสขาดทุนเมื่อถึงเวลาขายคืน


พิจารณาจากพอร์ตการลงทุนในปัจจุบัน

เมื่อลงทุน RMF ไประยะหนึ่ง แนะนำให้เช็คสุขภาพพอร์ตกองทุน ดูว่าช่วงที่ผ่านมาพอร์ตกองทุนของเราเน้นหนักที่นโยบายการลงทุนใดมากเกินไปหรือเปล่า เช่น ส่วนมากลงทุนในหุ้น หรือมีสัดส่วนสินทรัพย์ทางเลือกมากที่สุด ก็ควรกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ หรือกระจายการลงทุนในหลายประเทศก็ได้


พิจารณาค่าธรรมเนียมของกองทุน

กองทุน RMF มีค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากกองทุนทุกๆ ปี เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เรียกเก็บจากกองทุนแม้จะดูไม่มาก แต่เมื่อต้องจ่ายตลอดระยะเวลาลงทุนก็ถือเป็นเงินจำนวนมากพอสมควร ผู้ลงทุนจึงต้องพิจารณาเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของกองทุนก่อนตัดสินใจ


พิจารณาผลการดำเนินงานของกองทุน

ควรพิจารณาผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน RMF ว่ากองทุนที่เราเลือกมีผลการดำเนินงานอย่างไร แต่หากจะเปรียบเทียบกับหลายๆ กองทุน ไม่ควรเปรียบเทียบกองทุนที่ลงทุนคนละประเภทสินทรัพย์ เพราะสินทรัพย์แต่ละรูปแบบมีความเสี่ยงและปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน


เลือก RMF ลดหย่อนภาษี กองทุนไหนดี

สำหรับใครที่ยังไม่มีกองทุน RMF ในใจ หรือมองหากองทุน RMF ลดหย่อนภาษีที่ผลการดำเนินงานโดดเด่น เพื่อเติมโอกาสทำกำไรให้พอร์ตกองทุน เรามีกองทุน RMF จาก บลจ.กรุงไทย มาแนะนำ


กองทุนเปิดกรุงไทย หุ้นไฮดิวิเดนด์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (KT-HiDiv RMF)

จุดเด่น: เน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีศักยภาพในการทำกำไร และมีนโยบายจ่ายเงินปันผล
เหมาะสำหรับ: คนที่เชื่อมั่นในศักยภาพของหุ้นไทย และต้องการรับเงินปันผลระหว่างการลงทุน
ความเสี่ยง: 6 เสี่ยงสูง


กองทุนเปิดเคแทม โกลด์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (KT-GOLD RMF)

จุดเด่น: เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งลงทุนในทองคำ
เหมาะสำหรับ: คนที่พร้อมรับความเสี่ยงได้มาก โดยมูลค่าหน่วยลงทุนจะผันผวนตามราคาทองคำที่ซื้อขายในตลาดโลก
ความเสี่ยง: 8 เสี่ยงสูงมาก


กองทุนเปิดกรุงไทย SET50 เพื่อการเลี้ยงชีพ (KTSET50RMF)

จุดเด่น: เน้นลงทุนตามดัชนี SET 50 หรือหุ้นไทยขนาดใหญ่ 50 ตัวแรกในตลาด
เหมาะสำหรับ: ผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ของไทย เพื่อโอกาสเติบโตอย่างมั่นคง
ความเสี่ยง: 6 เสี่ยงสูง

ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน SSF และ RMF ที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน หากไม่ปฏิบัติตามจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามเงื่อนไขของกองทุน

รู้ทุกเรื่อง RMF คืออะไร RMF ลดหย่อนภาษีกองทุนไหนดี | ธนาคารกรุงไทย รวมทุกเรื่องต้องรู้ ก่อนเลือกกองทุน RMF ลดหย่อนภาษี ทั้งเงื่อนไข สิทธิประโยชน์ วิธีเลือกลงทุน พร้อมแนะนำ 3 กองทุน RMF โดดเด่นน่าจับตา