เรียนรู้การเงิน

การลงทุนแบบ DCA คืออะไร ตอบโจทย์นักลงทุนมือใหม่อย่างไร

อัปเดตวันที่ 4 ต.ค. 2565

การลงทุนแบบ DCA คืออะไร ตอบโจทย์นักลงทุนมือใหม่อย่างไร

สำหรับคนทั่วไปที่อยากเริ่มต้นลงทุนหรือลงทุนได้ไม่นาน การจับจังหวะลงทุนทำได้ค่อนข้างยาก บางคนมีงานประจำอยู่แล้ว ไม่มีแม้แต่เวลาเช็กพอร์ต การลงทุนแบบ DCA อาจเป็นก้าวแรกที่ช่วยลดความเสี่ยง เติมความพร้อมในระหว่างที่เราสั่งสมความรู้ด้านการลงทุน แล้ว DCA คืออะไร ช่วยอะไรเราได้บ้าง มาหาคำตอบไปพร้อมกันเลย


DCA คืออะไร

DCA (Dollar-Cost Averaging) คือ รูปแบบการลงทุนที่เน้นการทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กัน ในสินทรัพย์ เช่น หุ้น กองทุน ฯลฯ โดยไม่สนใจราคาหรือสภาพตลาด

DCA เหมาะกับใคร

การลงทุนแบบ DCA เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ หรือผู้ที่ต้องการออมเงินให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงิน แต่ว่ายังขาดความชำนาญในการจับจังหวะลงทุน เนื่องจาก DCA จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนที่ไม่ถูกจังหวะ เพราะเป็นการถัวเฉลี่ยต้นทุนจากการค่อยๆ ลงทุนอย่างต่อเนื่อง


ข้อดีของการลงทุนแบบ DCA


ข้อดีของการลงทุนแบบ DCA


นอกจากการลงทุนแบบ DCA จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเข้าซื้อผิดจังหวะแล้ว ข้อดีอีกอย่างที่สำคัญมากก็คือการสร้างวินัยให้เรามุ่งมั่นลงทุนอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่เอาอารมณ์มาเป็นเครื่องชี้นำการลงทุน ทำให้เรามีทัศนคติที่ดีต่อการลงทุน มองว่าการปรับตัวลงของตลาดคือโอกาสในการช้อนซื้อสินทรัพย์ราคาถูก แทนที่จะมานั่งเสียใจว่าขาดทุนไปเท่าไรแล้ว


ข้อเสียของการลงทุนแบบ DCA

แม้ว่าการลงทุนแบบ DCA จะช่วยลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะลงทุน แต่อย่าลืมว่าการลงทุนยังมีความเสี่ยงอื่นๆ อีก และหลักการคำนวณ dca แบบถัวเฉลี่ยเช่นนี้ ในบางครั้งก็อาจถัวกำไรให้น้อยลงได้เช่นกัน ดังนั้นนี่เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการลงทุนเท่านั้น วิธีการลงทุนแบบคำนวณ DCA จึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักลงทุนมืออาชีพที่สามารถจับจังหวะการลงทุนได้แม่นยำ เพราะจะเสียโอกาสเข้าซื้อก้อนใหญ่ในจุดที่ราคาน่าลงทุน

นอกจากนี้สินทรัพย์บางอย่างก็ไม่เหมาะกับการทำ DCA เช่น การลงทุนในกองทุนที่ความผันผวนต่ำ ก็ไม่จำเป็นต้องเฉลี่ยการลงทุน หรือการลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาขึ้นลงไม่แน่นอน ราคาเป็นวัฏจักร แบบนี้ควรหาโอกาสลงทุนเป็นครั้งคราวเพื่อทำกำไรระยะสั้น



ตัวอย่างการลงทุนแบบ DCA

ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการทำ DCA และคำนวณ dcaในกองทุนรวม เพราะเป็นช่องทางที่สามารถเริ่มต้นลงทุนง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร และสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้หลากหลาย ครอบคลุมการลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

ตัวอย่างจำลองการลงทุนในกองทุน KTSET50RMF กองทุนเปิดกรุงไทย SET50 เพื่อการเลี้ยงชีพ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2564 โดยลงทุนทุกวันที่ 1 ของเดือน

เดือนที่ ราคาหน่วยลงทุน เงินลงทุนต่อเดือน หน่วยที่ได้
1 10.45 2,000 191.45
2 10.42 2,000 191.85
3 10.57 2,000 189.30
4 11.09 2,000 188.16
5 10.63 2,000 188.16
6 11.23 2,000 178.17
7 10.95 2,000 182.71
8 10.45 2,000 191.36
9 11.34 2,000 176.40
10 11.12 2,000 179.81
11 11.18 2,000 178.88
12 10.92 2,000 183.15
สรุป ราคาหน่วยลงทุนเฉลี่ย 10.86 เงินลงทุนรวม 24,000 จำนวนหน่วยที่ได้ทั้งหมด 2,211.55

คำนวณจาก DCA Simulator โดย wealthmagik.com
*ข้อมูลในตารางเป็นการยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจวิธีการลงทุนและการคำนวณ DCA ไม่ใช่การการันตีผลตอบแทนของกองทุน

จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง มูลค่าหน่วยลงทุนก็ปรับตัวลงตามกัน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวเราจะได้จำนวนหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นโดยใช้เงินลงทุนเท่าเดิม

ในขณะที่เมื่อมูลค่าหน่วยเพิ่มขึ้น แม้เราจะซื้อได้หน่วยน้อยลง แต่มูลค่าการพอร์ตของเราก็จะเติบโตอยู่ดี หลังจากทยอยลงทุนครบ 1 ปี มูลค่าหน่วยลงทุนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 10.86 แม้ว่าบางช่วงมูลค่าหน่วยจะสูงขึ้นถึง 11.34 บาทก็ตาม ทีนี้น่าจะเห็นภาพแล้วว่า ถ้าช่วงที่ตลาดผันผวนหนักๆ การลงทุนแบบ DCA จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนผิดจังหวะ และถัวเฉลี่ยต้นทุนให้เราได้อย่างไร



เริ่มต้นลงทุนแบบ DCA


เริ่มต้นการลงทุนแบบ DCA


เมื่อเข้าใจคอนเซ็ปต์การลงทุนแบบ DCA และการคำนวณ dca แล้ว ก็ถึงเวลาเริ่มต้นลงทุน โดยเริ่มตามขั้นตอนดังนี้

  1. สำรวจความสามารถในการลงทุน และกำหนดเงินลงทุนแต่ละเดือน
  2. เลือกช่วงเวลาที่จะ DCA เช่น ทุกวันที่ 1 ทุกวันศุกร์ ทุกสามเดือน เป็นต้น แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือน แนะนำให้เลือกช่วงสิ้นเดือนหลังเงินเดือนออก โดยตัดเงินลงทุนอัตโนมัติจากบัญชีเงินเดือนได้เลย
  3. เลือกหลักทรัพย์ที่ต้องการลงทุน บางคนเลือกลงทุนในหุ้น บางคนลงทุนในกองทุนรวม จะเลือกรูปแบบไหนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนว่าหลักทรัพย์นั้นๆ มีพื้นฐานดี หรือมีโอกาสเติบโตแค่ไหน หรือจะเลือกกระจายความเสี่ยง DCA ก้อนเล็กๆ ในหลายๆ สินทรัพย์ก็ได้

การลงทุนแบบ DCA ทำได้ง่ายมากๆ ยิ่งเดี๋ยวนี้สามารถทำได้ผ่านแอป อย่าง Krungthai NEXT ที่ให้เราเปิดบัญชีทำธุรกรรมซื้อขาย สับเปลี่ยน และติดตามข้อมูลการลงทุนได้ในไม่กี่นาที จะทำ DCA ก็ง่าย ทำรายการครั้งเดียวก็สามารถตัดเงินในบัญชีเข้าสู่พอร์ตการลงทุนแบบอัตโนมัติทุกเดือน และที่สำคัญยังมีกองทุนรวมคุณภาพจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทยให้เลือกลงทุนมากมายอีกด้วย

การลงทุนแบบ DCA คืออะไร เทคนิคการลงทุนที่ตอบโจทย์นักลงทุนมือใหม่ | ธนาคารกรุงไทย การลงทุนแบบ DCA คืออะไร การคำนวณ dca จะช่วยเหลือเหล่านักลงทุนมือใหม่ให้มั่นใจกับการลงทุนได้อย่างไร มาทำความรู้จักไปพร้อมกันเลย