เรียนรู้การเงิน

สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง? ยื่นได้ถึงวันไหน?

อัพเดทวันที่ 4 ต.ค. 2565

สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2565 มีอะไรบ้าง? ยื่นได้ถึงวันไหน?

มาวางแผนการเงิน เช็กรายการลดหย่อนภาษี 2566 กัน! เข้าสู่ช่วงท้ายปี อีกหนึ่ง to-do list ที่ผู้มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปีต้องเตรียมตัวก็คือ การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรุงไทยจึงขอสรุปรายการลดหย่อนภาษีปี 2566 และแนะนำวิธีลดหย่อนภาษี มาให้คุณได้เตรียมตัววางแผนบริหารภาษี เพราะหากบริหารดีๆ คุณจะเสียภาษีน้อยลง และได้รับเงินคืนอีกด้วย


วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  1. คำนวณด้วยเงินได้สุทธิ*
  2. คำนวณด้วยเงินได้พึงประเมิน (แบบเหมา)

สำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้จากเงินเดือน (รายได้ประเภทที่ 1) เป็นหลักมักจะคุ้นเคยและใช้วิธีคำนวณด้วยเงินได้สุทธิ แต่ถ้าคุณมีรายได้ประเภทที่ 2-8 รวมกันถึง 1 ล้านบาท ให้ใช้วิธีคำนวณด้วยเงินได้พึงประเมินด้วยเพื่อเปรียบเทียบกัน วิธีไหนเสียภาษีมากกว่า ให้เสียภาษีด้วยวิธีนั้น

หากใครไม่แน่ใจว่ารายได้ของตัวเองเป็นเงินได้ประเภทไหน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร
*ในบทความนี้จะเน้นวิธีคำนวณด้วยเงินได้สุทธิเป็นหลัก


วิธีคำนวณเงินได้สุทธิ

เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

เงินได้สุทธิเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่ารายได้จริงๆ ของคุณต้องจ่ายภาษีในอัตรากี่เปอร์เซ็นต์ โดยเงินได้สุทธิแต่ละระดับจะถูกคิดอัตราภาษีที่แตกต่างกันเป็นขั้นบันได ยิ่งมีเงินได้สุทธิมาก ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นตามไปด้วย

เงินได้สุทธิ (บาท) อัตราภาษี ภาษีสูงสุดแต่ละขั้น ภาษีสะสมสูงสุด
0 – 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี - -
150,001 – 300,000 บาท 5% 7,500 บาท 7,500 บาท
300,001 – 500,000 บาท 10% 20,000 บาท 27,500 บาท
500,001 – 750,000 บาท 15% 37,500 บาท 65,000 บาท
750,001 – 1,000,000 บาท 20% 50,000 บาท 115,000 บาท
1,000,001 – 2,000,000 บาท 25% 250,000 บาท 365,000 บาท
2,000,001 – 5,000,000 บาท 30% 600,000 บาท 965,000 บาท
5,000,001 บาทขึ้นไป 35% ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินได้สุทธิ 965,001 บาทขี้นไป


ระยะเวลาการยื่นภาษี 2566

สำหรับระยะเวลาการยื่นภาษี 2566 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึง 31 มีนาคม 2567 แต่ถ้ายื่นออนไลน์ จะได้ถึง 8 เม.ย. 2567


รายการสิทธิลดหย่อนภาษีปี 2566


รายการสิทธิลดหย่อนภาษีปี 2565


1. สิทธิลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว ลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท ทุกคนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไข
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส ลดหย่อนได้ 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ในปีภาษีนั้น
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท สามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้ เอกสารที่ใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีคือ ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล
  • ค่าลดหย่อนภาษีบุตร ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ซึ่งต้องเป็นบุตรตามกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 20 - 25 ปี แต่กำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
    • กรณีมีเฉพาะบุตรตามกฎหมาย: ลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง
    • กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม: ลดหย่อนภาษีบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คน
    • กรณีมีทั้งบุตรตามกฎหมายและบุตรบุญธรรม: ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
  • ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส
    • กรณีเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเอง: ลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 2 คน และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปีในปีภาษีนั้น และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้ หากจะใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูแม่เพียงคนเดียว ต้องตกลงกับพี่น้องว่าใครจะใช้สิทธินี้
    • กรณีเลี้ยงดูบิดามารดาของคู่สมรส: ลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 2 คน จะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรมของคู่สมรส และคู่สมรสไม่มีรายได้เลยตลอดปีภาษีนั้น
  • ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท ผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้น มีบัตรประจำตัวผู้พิการ และหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ (ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดามารดา – บุตร – คู่สมรสของตนเอง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองประเภท)


2. สิทธิลดหย่อนจากเงินบริจาค

  • เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม ประโยชน์สาธารณะและสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคพรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท


3. สิทธิลดหย่อนจากการออมและลงทุน

  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ** แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
    **สิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยได้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 5 ปี
  • กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) กองทุนลดหย่อนภาษีล่าสุด ที่เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยได้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2566-2575
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท


4. สิทธิลดหย่อนจากเบี้ยประกัน

  • เงินประกันสังคม ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท (แต่ปี พ.ศ. 2565 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม จึงจะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 7,200 บาท หรือตามจำนวนเงินสมทบจริง)
  • เบี้ยประกันชีวิต เงินฝากแบบมีประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ ลดหย่อนค่าเบี้ยประกันของคู่สมรสได้สูงสุด 10,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยเงื่อนไขเช่นเดียวกับประกันชีวิตทั่วไป
  • เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

    สิทธิลดหย่อนภาษี จากเบี้ยประกัน

  • เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)


แนะนำ 3 ประกันลดหย่อนภาษีของกรุงไทย


ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ สมาร์ทเซฟเวอร์ 14/5

ประกันสะสมทรัพย์ เพื่อลดหย่อนภาษีและสร้างหลักประกันให้อนาคต จ่ายสั้น คุ้มครองนาน

  • ค่าเบี้ยประกันสะสมทรัพย์ระยะสั้นจ่ายเบี้ยประกันภัย 5 ปี ความคุ้มครอง 14 ปี
  • ผลประโยชน์สูงสุดรวมตลอดสัญญา 608% ของทุนประกันภัย
  • รับเงินคืนเยอะ ครบกำหนดรับเงินก้อนโต 540% ของทุนประกันภัย
  • เบี้ยประกันภัยนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด


LifeProtect 18

ประกันภัยสำหรับสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว

  • เน้นความคุ้มครองสูง สร้างกองมรดก
  • จ่ายเบี้ยประกันภัยไม่สูญเปล่า มีเงินคืนเมื่อครบกำหนดอายุสัญญา
  • ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท/ปีตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร


Life Retire 5

ประกันชีวิตแบบบำนาญ อุ่นใจวัยเกษียณ

  • ระยะเวลาการชำระเบี้ยประกันภัยสั้น เพียง 5 ปี คุ้มครองถึงอายุ 85 ปี การันตีการจ่ายบำนาญ 15 ปี
  • คุ้มครองชีวิตในช่วงก่อนการรับบำนาญ สูงถึง 350% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
  • เบี้ยประกันภัยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 300,000 บาทต่อปี ตามเงื่อนไขกรมสรรพากร


วางแผนลดหย่อนภาษี 2566 ดีอย่างไร?

  • เตรียมพร้อมในการเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง ตรงเวลา ป้องกันปัญหาการชำระภาษีล่าช้าหรือไม่ครบถ้วน
  • ใช้สิทธิประโยชน์จากค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้อย่างเต็มที่
  • ได้รับเงินคืนจากการลดหย่อนภาษี 2566 กลับมาใช้ประโยชน์ด้านการลงทุนและวางแผนทางการเงิน
  • เลือกซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ หรือการลงทุน เพื่อผลตอบแทนในอนาคตได้

กรุงไทยหวังว่าข้อมูลวีธีลดหย่อนภาษีข้างต้นจะเป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมตัวลดหย่อนภาษี 2566 เพื่อให้คุณยื่นภาษีได้อย่างถูกต้องและราบรื่น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.taxbugnoms.co/online-pit-submit-2564/
https://www.komchadluek.net/hot-social/523474
https://www.finnomena.com/z-admin/tax-deduction-2022/
https://www.itax.in.th/pedia/ค่าลดหย่อน/

สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง? ยื่นได้ถึงวันไหน? | ธนาคารกรุงไทย สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2566 สำหรับยื่นลดหย่อนภาษี 2567 ที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนห้ามพลาด วางแผนกันให้ดีตั้งแต่ตอนนี้ จะได้ภาษีคืนกันแบบเต็มๆ