เรียนรู้การเงิน

การกู้ร่วมซื้อบ้าน คืออะไร ก่อนกู้ร่วมต้องรู้อะไรบ้าง

อัปเดตวันที่ 16 ส.ค. 2565

การกู้ร่วมซื้อบ้าน คืออะไร ก่อนกู้ร่วมต้องรู้อะไรบ้าง

เมื่อถึงจุดหนึ่ง คนเรามักมองหาความมั่นคงด้วยการมีบ้านสักหลังเพื่อเป็นหลักประกันให้ชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าการจะมีบ้านในฝันที่ถูกใจนั้นอาจต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ นานา โดยเฉพาะการขอสินเชื่ออย่างการกู้ซื้อที่ดิน กู้ซื้อบ้านที่ต้องมีการพิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้ว่ามีหนี้สินคงค้าง หรือมีความสามารถในการผ่อนบ้านกับธนาคารหรือไม่ สำหรับใครที่มีปัญหาในการขอสินเชื่อบ้าน* เราอยากแนะนำให้พิจารณาวิธีการกู้ร่วมซื้อบ้านกับคนในครอบครัว เพราะอาจช่วยให้กู้ผ่านได้ง่ายขึ้น


การกู้ร่วมคืออะไร

การกู้ร่วม คือการทำสัญญากู้สินเชื่อก้อนเดียวกันร่วมกับบุคคลอื่น เป็นการเพิ่มความมั่นใจว่าจะช่วยกันรับผิดชอบชำระหนี้ได้ตามกำหนด รวมถึงเพิ่มโอกาสให้ธนาคารพิจารณาอนุมัติได้ง่ายขึ้น และวงเงินสูงขึ้น การกู้ร่วมต่างจากการค้ำประกันตรงที่การค้ำประกันนั้น บุคคลผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นผู้ชำระหนี้แทนหากผู้กู้ผิดสัญญา และความสัมพันธ์ของคนค้ำประกันกับผู้กู้ไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวพันกัน ต่างจากการกู้ร่วมที่ผู้กู้ร่วมทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบหนี้ และต้องเกี่ยวโยงเป็นครอบครัวเดียวกัน


ข้อดีของการกู้ร่วมซื้อบ้าน

การกู้ร่วมซื้อบ้าน มีข้อดีคือทำให้ขออนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ยิ่งถ้าผู้กู้ร่วมมีสถานะทางการเงินที่ดี ยิ่งเพิ่มโอกาสอนุมัติในวงเงินที่สูงขึ้น ที่สำคัญคือการกู้ร่วมจะช่วยกระจายความเสี่ยง ในกรณีที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งประสบปัญหาทางการเงิน ผู้กู้ร่วมก็มีหน้าที่โดยตรงที่ต้องเข้ามารับผิดชอบด้วย


ข้อควรระวังของการกู้ร่วมซื้อบ้าน

1. การผิดใจกันระหว่างสัญญา

หากเกิดการผิดใจกัน เช่น การเลิกราหย่าร้าง หรือปัญหาทางการเงินของผู้กู้ร่วม ซึ่งทำให้เปลี่ยนใจกลางคันจนไม่อยากรับผิดชอบหนี้ร่วมกันอีก จนอาจนำไปสู่การถอนการกู้ร่วม หากธนาคารพิจารณาว่าผู้กู้คนที่เหลือมีความสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ ต้องแก้ปัญหาด้วยการรีไฟแนนซ์บ้านจากกู้ร่วมไปเป็นกู้เดี่ยว หรือหากผู้กู้ร่วมที่เหลือไม่สามารถผ่อนชำระต่อไปได้ ก็ต้องขายบ้านที่อุตส่าห์กู้ร่วมกันมา

2. การกู้ร่วมทำให้การกู้ครั้งต่อไปยากขึ้น

ขอยกตัวอย่างการกู้ร่วมกันระหว่างพี่น้อง เมื่อทั้งสองคนเป็นหนี้ร่วมกันแล้ว หากผู้กู้ร่วมทั้งสองคนแยกย้ายไปมีครอบครัวและต้องการไปกู้ซื้อบ้านของตัวเอง การพิจารณาสถานะทางการเงินของบุคคลนั้นจะยากขึ้น เพราะถือว่าผู้กู้ร่วมมีหนี้ติดค้างอยู่ ดังนั้นก่อนกู้บ้านร่วมต้องคิดให้ถี่ถ้วน วางแผนอนาคตให้ดี

3. สิทธิลดหย่อนภาษี

ตามปกติแล้ว สิทธิลดหย่อนภาษีของการกู้ซื้อบ้าน จะลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท แต่กรณีกู้ร่วม สิทธินี้จะถูกหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ร่วม ไม่สามารถแบ่งสัดส่วนเองได้ตามใจชอบ แปลว่าถ้ากู้ร่วม 2 คน ก็จะลดหย่อนได้สูงสุดคนละ 50,000 บาทเท่านั้น สำหรับใครที่คิดว่าจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการกู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อคอนโด จะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขนี้ด้วย


กู้ซื้อบ้านร่วมกับใครได้บ้าง


สามารถกู้บ้านร่วมกับใครได้บ้าง


การกู้ร่วมซื้อบ้านจะทำได้เฉพาะคนที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ได้แก่

  1. ผู้ที่มีนามสกุลเดียวกัน เช่น คู่สมรส พ่อ แม่ พี่-น้อง ลูก
  2. พ่อ แม่ ลูก พี่น้อง แต่มีคนเปลี่ยนนามสกุลภายหลัง (ต้องแสดงทะเบียนบ้านหรือสูติบัตร เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน)
  3. คู่สมรส ไม่ได้จดทะเบียน (ต้องแสดงหลักฐานการสมรส เช่น รูปภาพงานแต่งงาน หนังสือรับรองบุตร ฯลฯ)

นอกจากต้องเป็นคนในครอบครัวเดียวกันแล้ว ผู้กู้ร่วมยังต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • อายุ 20 ปีขึ้นไป และถือสัญชาติไทย
  • มีรายได้เพียงพอสามารถชำระหนี้ได้
  • ไม่มีภาระหนี้สินมากเกินกำลัง และไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้


กู้ร่วมซื้อบ้าน ใช้เอกสารอะไรบ้าง


เอกสารส่วนตัว

  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า หรือใบมรณบัตร
  • เอกสารเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี)
  • หรือเอกสารอื่นๆ ที่ยืนยันสถานะทางครอบครัว


เอกสารทางการเงิน กรณีทำงานประจำ

  • ใบรับรองเงินเดือน และสลิปเงินเดือน
  • สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร และ Statement ย้อนหลัง 6 เดือน


เอกสารทางการเงิน กรณีประกอบอาชีพอิสระ

  • สำเนาทะเบียนการค้า หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
  • บัญชีเงินฝาก พร้อม statement บัญชีเงินฝากกระแสรายวันย้อนหลัง 6-12 เดือน
  • หลักฐานรายได้หรือทรัพย์สินอื่นๆ


เอกสารหลักหลักประกันที่ต้องการจะซื้อ

  • สัญญาจะซื้อจะขาย
  • สำเนาโฉนด หรือ สำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
  • *เอกสารที่ต้องใช้อาจมีการเปลี่ยนแปลง โปรดสอบถามรายละเอียดกับธนาคารทุกครั้งก่อนยื่นกู้ร่วม

เอกสารที่ใช้ในการกู้ร่วมซื้อบ้าน


ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจกู้ร่วม


1. การกู้ร่วมไม่ใช่การหารหนี้เท่าๆ กัน

การกู้ร่วมไม่ได้แปลว่าต้องจ่ายหนี้กันคนละครึ่ง แต่เป็นการรับผิดชอบหนี้ร่วมกันทุกคน หากผิดนัดชำระหนี้หรือถูกยึดทรัพย์ ธนาคารสามารถเรียกชำระหนี้จากผู้กู้ร่วมคนใดก็ได้


2. กรณีผู้กู้ร่วมเสียชีวิต

ต้องแจ้งธนาคาร เพื่อให้ธนาคารพิจารณาหาทายาทหรือผู้จัดการมรดกที่สามารถชำระหนี้ได้เข้ามารับชำระหนี้ร่วมกัน


3. ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

การกู้ร่วมซื้อบ้านสามารถเลือกใส่ชื่อบุคคลเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ แต่ผู้กู้ร่วมจะไม่มีสิทธิ์ในสินทรัพย์นั้น แต่หากให้ผู้กู้ร่วมทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ การขายหรือโอนจะต้องได้รับการยินยอมจากทุกคน

การกู้ร่วมเป็นทางเลือกในการขอสินเชื่อบ้าน* ให้อนุมัติได้ง่ายขึ้น แต่ก่อนตัดสินใจทำธุรกรรม ผู้กู้ร่วมทุกคนจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงข้อดี ข้อเสีย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่สำคัญบุคคลที่จะกู้ร่วมต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้ และมั่นใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน รวมทั้งต้องมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง สามารถมีส่วนรับผิดชอบในสินเชื่อที่กู้ร่วมกันได้

หากมองหาผู้กู้ร่วมที่มั่นใจได้แล้ว ต้องไม่ลืมมองหาสินเชื่อบ้าน* ที่มีข้อเสนอสุดคุ้มเอาไว้ด้วย ขอแนะนำ สินเชื่อบ้านธนาคารกรุงไทย* ที่ให้วงเงินกู้บ้านสูงสุด 100% ดอกเบี้ยต่ำ ให้คุณผ่อนสบายๆ นานสูงสุด 40 ปี
เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด


กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว

อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 1.67% ต่อปี ถึง MLR -0.75% ต่อปี | อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) อยู่ระหว่าง 5.29% - 5.47% ต่อปี โดยคำนวณจากวงเงินกู้ 1 ล้านบาท อายุสัญญา 20 ปี ผ่อนชำระ 7,700 บาท/เดือน | MLR = 7.05% ต่อปี (ณ วันที่ 20 พ.ย. 66) | อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ | เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

เช็กสุขภาพการเงิน
พร้อมคอร์สเรียนที่เหมาะกับคุณ


การกู้ร่วมซื้อบ้าน คืออะไร ก่อนกู้ร่วมต้องรู้อะไรบ้าง | ธนาคารกรุงไทย การกู้ร่วมซื้อบ้าน คืออะไร สามารถทำร่วมกับใครได้บ้าง ก่อนกู้ร่วมต้องรู้อะไร มีข้อควรระวังอย่างไรและใช้เอกสารอะไรบ้าง ไปดูกันเลย https://cms.krungthai/cmsretheme/Download/generalcontent/MediaFile_12993krungthaibusiness-listing.jpg