Green Finance
ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการอยู่ร่วมกับชุมชน



     จากแนวคิด การสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรกับสังคม หรือ CSV (Creating Shared Value) เป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทย โดยนำความถนัดและทรัพยากรของตนเองในการดำเนินธุรกิจ มาใช้เพื่อการสร้างคุณค่าร่วมกันกับสังคมและการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ในด้านการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม 



     ในการสนับสนุนธุรกิจที่ดูแลและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ธนาคารมีขั้นตอนในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อตามประเด็นความเสี่ยงด้าน ESG ที่คำนึงถึงผลกระทบในด้านต่าง ๆ เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า บริษัท ราชบุรี-อีอีพี รีนิวเอเบิ้ล เอนเนอร์จี้ จำกัด หรือ R-EEP ที่ให้ความสำคัญกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยบริหารจัดการขยะทั้งระบบ ทั้งคัดแยก ฝังกลบ และการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เป็นการร่วมขับเคลื่อนธุรกิจ ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด ที่นอกจากจะส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไทยให้ดังไกลไปทั่วโลก ยังก้าวเดินตามหลัก ESG ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเปลือกมะพร้าวเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ทำทรายแมว รวมถึงประยุกต์ใช้รองก้นหลุมชามอาหารสุกร ก่อนแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ นำกลับมาใช้ปลูกมะพร้าวต่อได้ เป็นการนำของเสียกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ยังส่งเสริมธุรกิจเกษตรอินทรีย์ บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (โอ้กะจู๋) ที่นำแนวคิด Zero Waste มาใช้ในการบริหารจัดการของเสีย โดยนำเศษอาหารเหลือทิ้งมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก และรวมถึงการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการให้ความรู้ รับซื้อผลผลิต เป็นการดำเนินธุรกิจตามหลักวัฏจักรอินทรีย์ (Organic Cycle) ที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

     ธนาคารกรุงไทยดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน ซึ่งได้แก่ เป้าหมายพลังงานสะอาดราคาถูก (Affordable and Clean Energy) จัดให้มีพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เสถียร และราคาไม่แพง เป้าหมายงานที่ดีและเศรษฐกิจที่เติบโต (Decent Work and Economic Growth) ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า และงานที่ดีสำหรับทุกคน เป้าหมายอุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น ส่งเสริมกระบวนการอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน และสนับสนุนนวัตกรรม เป้าหมายบริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production) พัฒนารูปแบบการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เป้าหมายการแก้ปัญหาโลกร้อน (Climate Action) ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ





Green Finance ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการอยู่ร่วมกับชุมชน | ธนาคารกรุงไทย จากแนวคิด การสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรกับสังคม หรือ CSV (Creating Shared Value) เป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทย