ราคาหุ้นที่ขึ้นลงทุกวันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลจาก “ปัจจัยทางเศรษฐกิจและตลาดต่าง ๆ” ที่มีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคา การลงทุนหุ้นจึงต้องอาศัยความเข้าใจเรื่อง “เศรษฐศาสตร์” ในเบื้องต้น
เศรษฐศาสตร์ฉบับลงทุนหุ้น
การทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นได้ดีขึ้น โดยเศรษฐศาสตร์แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
- Microeconomics คือ การศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจของบุคคล เช่น พฤติกรรมของราคา อุปสงค์ อุปทาน หรือกลไกราคา ที่เป็นตัวกำหนดว่าผู้ซื้อและผู้ขายจะซื้อขายในระดับราคาไหน
- Macroeconomics คือ การศึกษาภาพรวมของเศรษฐกิจ เช่น การบริโภคโดยรวม การจ้างงาน และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจในระดับประเทศหรือโลก
ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาหุ้น
ซึ่งจากแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว จึงทำให้สามารถสรุป “ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาหุ้น” ได้ดังนี้
1. ทางเลือกและค่าเสียโอกาส
การเลือกลงทุนในหุ้นตัวหนึ่งหมายความว่าเราได้ตัดสินใจไม่ลงทุนในทางเลือกอื่น ค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) คือ การประเมินว่าการไม่เลือกทางเลือกอื่นมีความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน เช่น หากเลือกลงทุนในหุ้นตัวหนึ่ง ต้องประเมินว่าคุ้มค่ากับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวังได้เทียบกับทางเลือกอื่นหรือไม่
2. Demand และ Supply
ราคาหุ้นยังขึ้นอยู่กับอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของตลาดด้วย อุปสงค์ คือ ความต้องการของผู้ซื้อ ยิ่งราคาหุ้นถูก คนก็อยากซื้อมากขึ้น ส่วนอุปทาน คือ ปริมาณที่ผู้ขายอยากขาย ยิ่งราคาสูง ผู้ขายก็ยิ่งอยากขาย ในตลาดหุ้นเมื่ออุปสงค์และอุปทานสมดุลกัน ราคาหุ้นจะอยู่ที่จุดดุลยภาพ (Equilibrium Point) แต่หากมีฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่าย เช่น มีคนต้องการซื้อมากกว่าขาย ราคาหุ้นก็จะขึ้น
3. การบริโภค
การบริโภคมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจ เพราะถ้าคนมีกำลังซื้อสูง เศรษฐกิจก็จะเติบโตดี การบริโภคยังถูกกำหนดโดยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระดับรายได้ หากประชาชนมีรายได้สูง ก็จะมีการบริโภคมากขึ้น แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี คนจะระมัดระวังในการใช้จ่าย ส่งผลให้การบริโภคลดลง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ยังเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าผู้บริโภคมั่นใจในเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน หาก CCI สูงแสดงว่าผู้บริโภคมั่นใจและกล้าจับจ่ายใช้สอย
4. บรรยากาศการลงทุน
การลงทุนในหุ้นยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น กำไรที่คาดว่าจะได้รับและอัตราดอกเบี้ย หากคาดการณ์ว่ากำไรจากการลงทุนจะสูง นักลงทุนก็จะสนใจลงทุนมากขึ้น ในขณะที่หากดอกเบี้ยสูง การลงทุนในหุ้นอาจลดลงเพราะต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น
นอกจากนี้ นโยบายรัฐบาลและเสถียรภาพทางการเมืองก็มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน หากรัฐบาลมีความเข้มแข็งและเสถียรภาพทางการเมืองดี นักลงทุนก็จะมั่นใจและกล้าลงทุนเพิ่มขึ้น แต่หากเศรษฐกิจไม่แน่นอน นักลงทุนอาจจะลังเลและระมัดระวังในการลงทุน
5. การค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว
อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจและราคาหุ้นคือการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว ประเทศที่มีการส่งออกและการท่องเที่ยวมากมักจะมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง สำหรับประเทศไทย การท่องเที่ยวมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของ GDP ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจและราคาหุ้น
6. การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท
การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินมีผลต่อการส่งออกและการนำเข้า หากค่าเงินบาทแข็ง หมายความว่าเงินบาทมีค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ซึ่งจะทำให้การส่งออกยากขึ้น แต่ถ้าค่าเงินบาทอ่อนลงจะส่งผลให้การส่งออกดีขึ้นเพราะสินค้าไทยถูกลงในตลาดโลก
7. ตัวเลขเศรษฐกิจ
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่นักลงทุนควรพิจารณาและติดตามอยู่เสมอ ได้แก่ GDP และ อัตราเงินเฟ้อ
7.1 Gross Domestic Product (GDP)
GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการวัดมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง หาก GDP ขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นตาม เพราะสะท้อนถึงการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม
7.2 อัตราเงินเฟ้อ
อัตราเงินเฟ้อเป็นอีกตัวชี้วัดที่มีผลต่อราคาหุ้น เงินเฟ้อที่สูงเกินไปอาจทำให้เศรษฐกิจเสี่ยงต่อวิกฤต ในขณะเดียวกัน เงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปก็ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้เช่นกัน การควบคุมอัตราเงินเฟ้อทำได้ผ่านการควบคุมดอกเบี้ย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย
สรุปแล้ว ราคาหุ้นขึ้นลงเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายด้าน ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค นักลงทุน และแนวโน้มของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ