"
กลับ
จังหวะของวิถีชีวิต 2

จังหวะของวิถีชีวิต 2

นิวัฒน์ ชูทวน

รางวัลที่ 3

ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2557

ผลงานจิตรกรรม "จังหวะของวิถีชีวิต หมายเลข 2" โดย นายนิวัฒน์ ชูทวน ชวนให้นึกถึงบรรยากาศที่น่าประทับใจในวงการศิลปะร่วมสมัย เมื่อครั้งที่นายนิวัฒน์ ชูทวน ดำรง วงศ์อุปราช ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2542 ยังคงมีชีวิตอยู่ ผลงานของท่านไม่ว่าจะเป็นภาพบ้านที่ถูกสร้างขึ้นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่น บรรยากาศอันเงียบสงบของชนบทไทยที่ไม่อาจบรรยายเป็นคำพูด เทคนิคการจัดวางองค์ประกอบ โทนสี ที่ไม่ต่างไปจากผลงานนามธรรมชั้นเลิศ ยังเป็นผลงานชั้นครูที่ตราตึงผู้ชมมาจนถึงทุกวันนี้rn

เป็นความจำเป็นที่จะต้องอ้างอิงผลงานของนิวัฒน์ กับผลงานของบรมครูท่านนี้ แม้จะต่างยุคต่างสมัย แต่เราก็ยังได้กลิ่นอาย และลักษณะการต่อยอดอย่างเด่นชัด ภาพบรรยากาศชนบทในสวนยางชิ้นนี้ ได้รับการจัดวางองค์ประกอบหลายๆประการให้คล้ายกับผลงานของดำรง วงศ์อุปราช แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลงานของนิวัฒน์มีความประณีต ด้วยการตัดเส้นอย่างละเอียดในผลงานของเขา แม้ศิลปินจะนำเสนอผลงานชิ้นนี้ในฐานะจิตรกรรม แต่ก็มีรายละเอียดมากมายที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นผลงานวาดเส้นก็คงไม่ผิดนัก ความใส่ใจนี้ สะท้อนเป็นอย่างดีถึงการศึกษาผลงานของบรมครู และให้เกียรติด้วยการต่อยอดความคิดและการแสดงออก ผลงานของเขาจึงสะท้อนชีวิตในท้องถิ่นด้วยอารมณ์ละเอียดอ่อนอย่างลึกซึ้งrn

ภาพที่เต็มไปด้วยทีพู่กันขนาดเล็กจำนวนนับไม่ถ้วน มีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้กระทั่งวิธีการจัดเก็บสิ่งของใต้ถุนบ้าน ดึงความสนใจของผู้ชมให้เข้าไปพินิจตัวภาพที่ละน้อยด้วยมุมมองจากที่สูงทำให้ผู้ชมกลายเป็นผู้สังเกตการณ์วิถีชีวิตชนบทที่งดงามนี้ เส้นสายที่คมชัดจนแทบจะทำให้เราสามารถสำรวจในทุกๆ ส่วนของสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะร่องรอยของการอยู่อาศัย หลักฐานของชีวิตที่ดูราวกับว่าเรากำลังชมจิตรกรรมในช่วงเวลาที่ผู้คนในภาพพากันออกไปทำงาน เหลือทิ้งไว้เพียงสิ่งของ วัสดุต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาดำรงชีวิตกันอย่างไรในยามปกติ ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านแสดงให้เห็นกิจกรรมที่พวกเขาทำในแต่ละวัน ถึงจะไม่มีภาพของคนในผลงาน แต่ก็ชวนให้ผู้ชมจินตนาการถึงชีวิตได้อย่างชัดเจนrn

แม้จะเป็นทิวทัศน์ของชนบท แต่รอบๆ บริเวณที่พักอาศัย ได้รับการทำความสะอาดอย่างดี สะท้อนการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และพอดี ไม่ฟุ้งเฟ้อ ในขณะที่ชาวบ้านก็สามารถจัดการชีวิตเรียบง่ายได้อย่างมีแบบแผน มีภูมิปัญญา มีระเบียบ บ้านหลายหลังสามารถอยู่ร่วมบนผืนที่ดินเดียวกัน กลมกลืนกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีรั้วกั้น ไม่จำเป็นต้องมีกำแพงหนาๆ เพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัว เพราะอุดมคติของการดำรงชีวิตก็คือการอยู่ร่วมกัน เกื้อกูลพึ่งพาอาศัยกัน ในเนื้อหานี้แม้จะพูดกันมาหลายสิบปี แต่ยังสามารถสะท้อนสังคมปัจจุบันได้อย่างร่วมสมัยrn

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าผลงานของนิวัฒน์มีหลายสิ่งที่จะต้องเทียบเคียงไปกับแนวคิดของ ดำรง วงศ์อุปราช โดยเฉพาะความเป็นนามธรรมที่หลบซ่อนอยู่ในภาพ เพราะผลงานของเขาได้สร้างพื้นที่ที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างความเป็นจริงและอุดมคติโดยเฉพาะภาพของบ้านที่ถูกสร้างอย่างเรียบง่าย ไม่มีใครอาศัยซึ่งเป็นช่องว่างในไวยากรณ์ของภาพที่ชวนให้ผู้ชมจินตนาการเพื่อแทนตัวเองเข้าไปในสถานพำนักอันสงบเงียบ ความเป็นนามธรรมในที่นี้ จึงไม่ได้หมายถึงภาพที่ไม่สามารถอธิบายในเชิงกายภาพได้ ในทางกลับกัน ผลงานของนิวัฒน์สามารถบ่งบอกได้ทันทีว่าเป็นภาพของอะไร เพียงแต่สิ่งที่แฝงไว้กลับเป็นความรู้สึกอบอุ่นที่ปะทะกับผู้ชม เสมือนเราได้ใกล้ชิดชีวิตแบบอุดมคติ ทั้งๆ ที่เราเองอาจไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมมาก่อนหรือเป็นเพียงความคำนึงคิดที่ไม่อาจจะเป็นไปได้ในชีวิตจริง

ขนาดตัวอักษร