เส้นสายในเมือง
รางวัลที่ 2
ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2557
ปัจจุบันภาพพิมพ์แกะไม้ (woodcut) กลายเป็นเทคนิคที่กลับมานิยมอีกครั้งโดยศิลปินคลื่นลูกใหม่หลาย ๆ คน แต่ในอันที่จริงสำหรับในประเทศไทยภาพพิมพ์แกะไม้ถือว่าเป็นเทคนิคแรก ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในหลักสูตรการศึกษาศิลปะ และเป็นเทคนิคที่บรมครูหลาย ๆ ท่านได้ทดลอง เรียนรู้นำมาปรับประยุกต์ใช้ในผลงานของตัวเองมาแต่อดีต ความน่าสนใจที่ผ่านมาประการหนึ่งของภาพพิมพ์แกะไม้ นอกจากเสน่ห์ของร่องรอยจากกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไปแล้ว ศิลปินไทยยังสามารถนำวัสดุในท้องถิ่นมาปรับใช้ได้อย่างหลากหลาย และยิ่งส่งผลให้ชิ้นงานมีความพิเศษยิ่งขึ้นrn
สำหรับผลงาน "เส้นสายในเมือง" โดย จักรี คงแก้ว นี้สามารถแสดงบรรยากาศใหม่ๆ ภายใต้เทคนิคเดิมที่เรียบง่าย จากผลงานที่ผ่านมา จักรีสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ของเขาด้วยการพิมพ์สีดำเพียงสีเดียว ด้วยเทคนิคการแกะร่องลึกที่มีเส้นเล็ก ละเอียด ในเชิงเทคนิคสามารถเรียกได้อีกอย่างว่า wood engraving ศิลปินมีระบบในการสร้างน้ำหนักที่น่าสนใจ ซึ่งนอกจากเทคนิคการสร้างน้ำหนักที่หลากหลายแล้ว วิธีการแกะเส้นด้วยสิ่วขนาดเล็กของศิลปินยังออกแบบให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับพื้นผิวของวัสดุในภาพ ทำให้ผลงานของเขาโดดเด่นด้วยลักษณะของเส้นที่ไม่เหมือนกับภาพพิมพ์แกะไม้ที่เราเคยเห็นrn
ที่ผ่านมาจักรี นับว่าเป็นศิลปินภาพพิมพ์หนุ่มที่จบการศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากการเป็นลูกศิษย์และผู้ช่วยรุ่นสุดท้ายของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ทำให้จักรี ได้เรียนรู้เทคนิคจากบรมครูโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นวิธีสร้างองค์ประกอบ การใช้เครื่องมือ รวมถึงการฝึกฝนสมาธิ นอกจากนี้จักรียังศึกษาผลงานของศิลปินภาพพิมพ์อีกมากมาย รวมถึง Keisei Kobayashi ศิลปินภาพพิมพ์ชั้นครูจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาผลงานของตัวเองอย่างต่อเนื่องrn
ภาพพิมพ์แกะไม้ของเขามักจะมีต้นแบบจากธรรมชาติซึ่งแม้จะพิมพ์ด้วยสีดำเพียงสีเดียวแต่กลับยิ่งทำให้รูปทรงของความเป็นธรรมชาติแสดงตัวออกมาอย่างเด่นชัด วัสดุที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ศิลปินสามารถทำภาพพิมพ์ได้ชิ้นใหญ่ขึ้น ในผลงานบางชิ้นของจักรีขนาดก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับบรรยากาศของผลงาน รวมถึงร่องรอยของเทคนิคได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการใช้อุปกรณ์แกะไม้ขนาดเล็กที่เขาบรรจงแกะอย่างเป็นระบบระเบียบ นอกจากจะเห็นความอุตสาหะแล้ว เราจะสังเกตได้ถึงความเข้าใจในเรื่องแสงเงา การให้น้ำหนักที่เด็ดขาดในตัวภาพได้เป็นอย่างดีrn
อย่างในผลงานชิ้นนี้ที่ได้รับรางวัล ภาพต้นแบบมีองค์ประกอบที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยมีเสาไฟและสายไฟรกรุงรัง ในแบบที่เราพบเห็นได้ทั่วไปจนชาชินในเมืองหลวง ขัดแย้งกับตัวสถาปัตยกรรมโบราณในฉากด้านหลังภาพที่ให้ความรู้สึกสง่างาม นิ่งสงบ ที่ผ่านมาศิลปินบางคนก็เคยใช้องค์ประกอบที่คล้ายกันนี้ในการอธิบายสุนทรียะของความเป็นเมือง ในแง่มุมที่ความเจริญเริ่มเข้ามาบดบังความงาม ความสงบ ที่เคยเป็นมาในอดีต แต่หากมองในภาพรวมแล้ว ผลงานของจักรีกำลังบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ด้วยเส้นสายเล็กๆ ที่ให้ความสำคัญในทุกๆ รายละเอียด คล้ายกับการวาดเส้น เป็นนัยว่า ในทุกสิ่งนั้นมีความงามแฝงอยู่ เพียงแต่ความงามในบางครั้งเป็นการรับรู้ที่อยู่ต่างยุคต่างสมัย รวมถึงบริบทที่แตกต่างกันเท่านั้นเอ